ประเพณีการทำขวัญข้าว นับเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานของชาวนา เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระแม่โพสพ อีกทั้งยังเป็นการขอพรให้พระแม่โพสพ ช่วยปกปักดูแลข้าวในนาให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ จึงถือเป็นประเพณีสืบปฏิบัติที่ชาวนานิยมจัดทำเพื่อการบูชาดังกล่าว และยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปลูกข้าวครั้งต่อไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งประวัติและความสำคัญของประเพณีการทำขวัญข้าว มีความเป็นมาอย่างไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย
ประวัติและความสำคัญของประเพณีการทำขวัญข้าว
การทำขวัญข้าวของชาวนาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก จะละเลยไม่ได้ เพราะอย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้ความมั่นใจได้ว่า การปลูกข้าวครั้งหน้าจะได้ผลดีตามที่ต้องการ ซึ่งความหมายและความสำคัญของการทำขวัญข้าว ก็มีรายละเอียดดังนี้
ประเพณีการทำขวัญข้าว คืออะไร
ประเพณีการทำขวัญข้าว คือสิ่งที่ชาวนาเชื่อว่าเป็นประเพณีดีงามที่ต้องปฏิบัติ เพราะจะมีเทพเจ้าผู้มีอำนาจ มาดลให้การเพาะปลูกข้าว ได้ผลผลิตดีตามต้องการ ซึ่งเทพเจ้านั้นก็คือ พระแม่โพสพ โดยการทำขวัญข้าวนี้ ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความเชื่อ และความศรัทธาต่อพระแม่โพสพ เพราะท่านเป็นธิดาแห่งข้าว ฉะนั้นประเพณีดังกล่าวจึงจัดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล และขอบคุณพระแม่โพสพที่ช่วยดูแลผืนนาให้มีความอุดมสมบูรณ์
ตามความเชื่อเมื่อได้ทำพิธีแล้ว พระแม่โพสพจะช่วยคุ้มครองข้าวที่ปลูกในนาให้มีผลผลิตที่ดี รวมทั้งยังช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวนา และสร้างความมั่นใจว่าการทำนาในครั้งต่อไป นาข้าวจะปราศจากโรคภัยต่างๆ ทั้งสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติและแมลงศัตรูพืช เช่น ช่วยให้เมล็ดข้าวไม่ล้ม หนอน รวมถึงสัตว์ต่างๆ ไม่มากล้ำกราย และยังช่วยให้ได้ผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
ความสำคัญของการทำขวัญข้าว
นอกจากจะเป็นการบูชาพระแม่โพสพ และช่วยให้ชาวนามีกำลังใจในการทำนาแล้ว การทำขวัญข้าวยังช่วยให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ด้วยการมาช่วยกันเกี่ยวข้าว อีกทั้งยังได้มาร่วมกันสนุกสนาน และช่วยกันทำงานกระทั่งการเก็บเกี่ยวสำเร็จ และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็จะนำข้าวไปถวายพระสงฆ์ด้วย ซึ่งหลังนวดข้าวเสร็จเรียบร้อย เมื่อถึงวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์ ก่อนจะนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง ให้ชาวบ้านนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้นั้นมาทำพิธีขวัญข้าว และร้องเพลงทำขวัญข้าวแม่โพสพ สร้างความสมัครสมานสามัคคีให้ชุมชนไปด้วยในตัว
ทำขวัญพระแม่โพสพ หลังมีเหตุเปลี่ยนแปลง
พระแม่โพสพเป็นเทพธิดาแห่งข้าว ถือเป็นผู้มีพระคุณต่อชาวนาทุกคน ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในผืนนาทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่คนทำให้เกิด เช่น การเกี่ยวข้าว โดยจะต้องมีการกล่าวขอขมาลาโทษและเรียกขวัญต่อพระแม่โพสพทุกครั้ง รวมทั้งยังเป็นการแสดงความขอบคุณพระแม่โพสพที่ดูแลผืนนามาตลอดระยะเวลาการปลูกข้าว และสร้างความเป็นสิริมงคล พร้อมช่วยดลบันดาลให้มั่งมีมากขึ้น ซึ่งการทำขวัญข้าว จะนิยมทำในวันศุกร์เพราะถือเป็นวันขวัญข้าวนั่นเอง
ตำนานพระแม่โพสพกับการทำขวัญข้าว
ตามความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพของชาวพัทลุง มีเรื่องเล่าว่า มีเทพธิดาแห่งข้าวองค์หนึ่ง อาศัยอยู่บนสวรรค์ ท่านมีความต้องการให้มนุษย์ทั้งหลายมีข้าวกิน จึงจำแลงแปลงกายลงมาบนโลกในร่างของหญิงชราและนำห่อผ้ามาด้วยห่อหนึ่ง ซึ่งในห่อผ้านั้นมีเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่ เมื่อเทพธิดาในร่างหญิงชราเดินเข้าไปในหมู่บ้านก็มีแต่คนรังเกียจ แต่เมื่อไปถึงกระท่อมเก่าๆ หลังหนึ่ง มีสองผัวเมียผู้ใจบุญ แต่ยากไร้ไม่มีเงินทอง ถึงอย่างนั้น ยังมีน้ำใจให้หญิงชราได้พักในกระท่อมของตน หญิงชราจึงซาบซึ้งน้ำใจสองผัวเมียคู่นี้อย่างมาก
เทพธิดาข้าวในร่างหญิงชรา จึงได้มอบห่อผ้าซึ่งมีเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่ข้างในให้ และบอกว่าให้นำเมล็ดนี้ไปโปรยลงพื้นดิน เมื่อเมล็ดข้าวได้รับน้ำและเกิดความชุ่มชื้น จะสามารถเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กระทั่งออกรวงและสุกเหลืองก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ หญิงชราบอกกับสองผัวเมียอย่างนั้น และได้ให้ทั้งสองผัวเมียนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านด้วย เพราะนี่คือสิ่งที่จะใช้เป็นอาหารในภายภาคหน้า เมื่อพูดจบหญิงชราคนนั้นก็หายไป ชาวบ้านจึงคิดว่านี่น่าจะเป็นพระแม่โพสพ หรือเทพธิดาแห่งข้าวจำแลงลงมา
ต่อจากนั้นมาเมื่อถึงเดือน 6 ฝนเริ่มตก ชาวนาจะทำการแรกไถนา และอัญเชิญพระแม่โพสพลงมาช่วยดูแลรักษาให้ต้นข้าว แข็งแรงปราศจากโรคและแมลงต่างๆ ตลอดจนมีการทำพิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อตอบแทนและบูชาพระคุณของพระแม่โพสพด้วย ที่ให้ข้าวกับมนุษย์ไว้ปลูกกินเป็นอาหารกระทั่งถึงปัจจุบัน
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำขวัญข้าว
การทำขวัญข้าวของบางจังหวัด อาจจะมีหนึ่งช่วงหรือบางจังหวัดทำ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว (ประมาณกลางเดือน 10 หรือประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี) ซึ่งแต่ละช่วงจะมีของเซ่นไหว้ไม่เหมือนกัน โดยการทำพิธีในช่วงข้าวตั้งท้อง มีความเชื่อว่าพระแม่โพสพเป็นเหมือนมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตเช่นกัน เมื่อตั้งท้องก็น่าจะอยากกินอะไร ที่เหมือนคนท้องกิน ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ของที่มีรสเปรี้ยว อ้อย และน้ำมะพร้าว เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังต้องเตรียมหมากพลู ธงกระดาษสีต่างๆ ผ้าแดง ผ้าขาว แป้ง น้ำมันใส่ผม น้ำอบไทย หวี กระจก ขนมหวานสักสองสามอย่าง ส้มเขียวหวาน ส้มโอแกะกลีบ ใส่ลงชะลอมเล็กๆ รวมทั้งมีเส้นด้ายสีแดงและสีขาวเพื่อผูกเครื่องเซ่นกับต้นข้าว ดอกไม้ ปักเสาไม้ไผ่แล้วเอาชะลอมแขวนไว้ในนา เพื่อให้พระแม่โพสพแต่งตัวและเสวยสิ่งของนั้น อีกทั้งมีความเชื่อว่าผู้ทำพิธีขวัญข้าวนั้น นิยมให้ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของที่นาทำมากกว่าผู้ชาย แต่หากการทำพิธีรับขวัญข้าวจะทำพิธีได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น
การกล่าวคำขอขมาต่อพระแม่โพสพ
หลังจากที่มัดโยงเครื่องเซ่นกับต้นข้าว ด้วยด้ายสีแดงและสีขาวเข้าด้วยกันแล้ว ผู้ทำพิธีจะมีการพรมน้ำหอมแป้งร่ำต้นข้าว ต่อจากนั้นให้จุดธูปปักลงบนที่นา พร้อมกล่าวคำขอขมาต่างๆ แล้วแต่ที่จะนึกได้ โดยส่วนมากจะเป็นการพูดบอกกล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะทำ และสิ่งที่ต้องการให้เกิดกับข้าว เช่น ขอให้ข้าวมีรวงสวยๆ ได้ข้าวเยอะๆ ผลผลิตสูงๆ เมื่อพูดทุกอย่างจบแล้ว ให้โห่ร้องเพื่อบอกกล่าวให้พระแม่โพสพรู้เจตนาของตน
ทำพิธีรับขวัญพระแม่โพสพหลังเก็บเกี่ยว
หลังจากพิธีขวัญข้าวในช่วงข้าวพร้อมเกี่ยวแล้ว ชาวนาจะลงเกี่ยวข้าว หลังจากนั้นจะมีการทำพิธีรับขวัญพระแม่โพสพ ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันนี้จะสามารถทำนาได้ปีละประมาณ 3 ครั้ง แต่ประเพณีการทำขวัญข้าว และรับขวัญพระแม่โพสพ ยังคงทำตามแค่ในฤดูกาลเพาะปลูก หรือตามประเพณีในอดีตเท่านั้น โดยจะไม่มีการทำหลายครั้ง ตามจำนวนการเพาะปลูกข้าวของปัจจุบัน
เครื่องสังเวยในการทำพิธีแต่ละช่วงเวลา
เครื่องสังเวยสำหรับการทำพิธีช่วงข้าวในนากำลังตั้งท้อง ประกอบด้วย กล้วย อ้อย ถั่ว งา ส้ม อย่างละ 1 คำ ใส่ตะกร้าสาน และหมาก พลูจีบ 1 คำ ส่วนของเซ่นไหว้เมื่อเกี่ยวข้าวและนำขึ้นยุ้งข้าว ประกอบด้วย หมาก พลูจีบ 1 คำ และบุหรี่ 1 มวน ทั้งมีข้าวที่เกี่ยวแล้ว 1 กำ ผ้าแดงผ้าขาวขนาด 1 คืบ อย่างละ 1 ผืน ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ก่อนทำพิธีต้องจัดเตรียมให้พร้อม โดยเป็นสิ่งที่หาไม่ยากเลย เมื่อเทียบกับความเชื่อที่ว่า พระแม่โพสพทำให้ได้ผลผลิตของข้าวมากตามที่ต้องการ ประเพณีการทำขวัญข้าวนี้ ถือเป็นประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่งของไทยที่แฝงไว้ด้วยคติสอนใจว่า คนเราจะต้องรู้จักสำนึกบุญคุณของผู้มีพระคุณ เรียกว่า กตัญญู และเมื่อรู้แล้วจะต้องตอบแทนบุญคุณท่านด้วย นั่นคือ การกตเวที เหมือนการทำขวัญข้าวนี้ที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพระแม่โพสพ ผู้บันดาลความอุมดมสมบูรณ์ให้กับข้าว จึงเป็นประเพณีหนึ่งที่ต้องหวงแหนให้อยู่คู่กับเมืองไทยไปตราบกาลนาน