ตะกรุด เป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลังที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของคนในสังคมไทยมาอย่างช้านานแล้ว เพื่อความเข้มขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มีไว้ป้องกันภยันตราย ภัยพิบัติทั้งหลาย รวมทั้งยังมีคุณด้านเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีโชคลาภ กลับดวง พลิกชะตาชีวิตให้ดีขึ้น เลื่อนยศตำแหน่ง เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี ฯลฯ ตะกรุดได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยอ้างถึงหลักใหญ่คือพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เพื่อง่ายต่อการพกพาติดตัวได้คล่องขึ้น
ตะกรุดทำมาจากวัสดุต่าง ๆ แล้วแต่ตำราของครูบาอาจารย์แต่ละสำนัก แต่ที่พบโดยมากจะเป็นการนำแผ่นโลหะบาง ๆ มาทำเป็นตะกรุด เป็นต้นว่า ทองคำ เงิน นาค ตะกั่ว ทองเหลือง ทองแดง ดีบุก สังกะสี ซึ่งอาจารย์ผู้สร้างตะกรุดจะนำแผ่นโลหะเหล่านี้มาลงอักขระเลขยันต์ตามตำราที่ได้เรียนมาด้วยเหล็กจารสื่อความหมายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความหมายของอักขระยันต์นี้เป็นตัวชี้ในด้านอิทธิคุณของตะกรุด จากนั้นจึงม้วนให้เป็นท่อกลมโดยให้มีช่องว่างตรงแกนกลางสำหรับร้อยเชือกติดตัว เพื่อคล้องคอหรือคาดเอว
บางอาจารย์อาจจะนำโลหะต่าง ๆ ที่ลงอักขระยันต์แล้วนั้นมาหลอมรวมกันแล้วทำเป็นตะกรุดหล่อแบบโบราณ
ตะกรุดบางสำนักทำจากวัสดุที่สามารถหาได้ในขณะนั้น เช่น ตะกรุดทำจารางน้ำฝน ตะกรุดทำจากกาน้ำ ตะกรุดทำจากใบลานซึ่งจะนำมาตัดเป็นแผ่นก่อนแล้วจึงแช่น้ำแล้วนำมาม้วนเป็นท่อกลม
ตะกรุดทำจากส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ก็มี เช่น ตะกรุดหนังเสือ ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ตะกรุดหนังงู ตะกรุดหนังเสือดาว ตะกรุดหนังลูกวัวอ่อนตายในท้องแม่ ตะกรุดกระดูกสัตว์ ตะกรุดกระดูกช้าง ตะกรุดเขาวัวเผือก
ตะกรุดทำจากไม้มงคลต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตะกรุดไม้ไผ่ตัน ตะกรุดไม้ไผ่รวก ตะกรุดไม้คูน ตะกรุดไม้ขนุน
สำหรับตะกรุดที่ทำจากโลหะอาจจะมีความเชื่อที่แตกออกไป เช่น ตะกรุดที่ทำจากแผ่นทองหรือแผ่นเงินเชื่อว่าส่งผลทางด้านเมตตา ตะกรุดที่ทำจากแผ่นทองแดงเชื่อว่าส่งผลทางคงกระพัน ตะกรุดที่ทำจากแผ่นตะกั่วเชื่อว่าส่งผลทางด้านแคล้วคลาด
การสร้างตะกรุดก็มีการพัฒนารูปแบบออกมาเรื่อย ๆ เมื่อก่อนใช้ในการออกศึกสงครามจึงต้องใช้ดอกใหญ่ม้วนหนาลงอักขระยันต์เต็มกำลัง ต่อมาได้ค่อย ๆ ลดขนาดลงมา จนมาถึงดอกเล็ก ๆ ที่เรียกว่าตะกรุดสาริกา นอกจากนั้นยังมาขนาดเล็กจิ๋วอีกเพื่อให้สามารถตอกฝังเข้าไปในร่างกายได้