คาถาหัวใจมหาเศรษฐี
อุ อา กะ สะ
สำหรับคาถาหัวใจมหาเศรษฐีนี้ผมได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่บอกผมมาแต่เด็ก อา อุ กะ สะ คาถาเศรษฐีนะลูก โตขึ้นมาคนที่บอกผมก็ยังนั่งจักสานขายของพื้นบ้านอยู่เหมือนเดิม คือยังไม่เป็นเศรษฐี หรือถ้าเศรษฐีเป็นแล้วมานั่งจักสานแบบนี้ก็เหมือนกับไม่ได้เป็นหรอกครับ เพราะไม่เสวยความสุขในสิ่งที่มหาเศรษฐีเขามีกัน
สำหรับคำว่า เศรษฐี และ มหา เศรษฐี ผมก็ไม่รู้ว่าเขาวัดกันอย่างไร ใครควรได้รับคำว่ามหาเศรษฐี แต่ที่เรารู้คือ มหาเศรษฐีจะรวยกว่าเศรษฐี แต่ไม่รู้ว่าต้องกว่าเท่าไหร่ เป็นอันว่าแค่ได้คำว่าเศรษฐีมันก็คือความฝันของเราแล้วครับ
ที่นี้ มาถอดใจความของคาถามหาเศรษฐีกัน ทำไมเรียกว่าหัวใจมหาเศรษฐี หัวใจคือจุดสำคัญ จุดศูนย์กลาง จุดรวมพลังงานหรือกระจายพลังงานเพื่อให้สิ่งอื่น ๆ ได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ สำหรับผู้ที่จะเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีก็เหมือนกัน ต้องมีสิ่งนี้ เขามีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกมากมายก็ตาม แต่ขาดหัวใจเศรษฐี 4 ประการนี้ไม่ได้
อุ ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา ซึ่งหมายถึง คุณต้องมีขยันหมั่นเพียร เพียรศึกษาหาความรู้ สู้งาน หนักเอาเบาสู้ มีความรับผิดชอบต่องาน มีวินัยในการบริหารงานของตนเองให้ได้
อา ได้แก่ อารักขสัมปทา หมายถึง รักษาเงินทองที่หามาได้ ใช้จ่ายอย่างมีสติ นอกจากรักษาทรัพย์แล้วคุณต้องรักษาที่มาของทรัพย์ด้วย รักษาการงาน รักษาเพื่อนให้เป็นเพื่อน รักษาเจ้านายของคุณด้วย
กะ ได้แก่ กัลยาณมิตตา หมายถึง เลือกคบคนดีเป็นศรีแก่ตัว เลือกคบคนที่คอยเกื้อหนุนส่งเสริมความเจริญในทางที่ดีให้แก่เรา คือเป็นคนดี เป็นคนที่คอยส่งเสริมชีวิตเรา ส่งเสริมการงานอาชีพของเราด้วย ไม่ใช่เพื่อนที่คอยแต่เอารัดเอาเปรียบเรา พอเรามีกินก็พากันแห่มา พอเราตกยากหายหน้าไปหมด ปรึกษาพึ่งพิงอะไรก็ม่ได้ แบบนี้ก็ไม่ไหว เพื่อนที่ดีอาจจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเราก็ได้ อนึ่ง คำว่า กัลยาณมิตร ไม่ได้หมายถึงเพื่อนอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกคนที่เราติดต่อคบหาด้วย ที่บ้านเรามีพ่อแม่บุตรภรรยาสามีเป็นกัลยาณมิตรในการให้กำลังใจเรา ที่วัดเรามีพระสงฆ์เป็นกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำเราในทางเจริญรุ่งเรืองให้แก่เรา แบบนี้ก็เรียกว่า กัลยาณมิตรได้เช่นกัน
สะ ได้แก่ สมชีวิตา หมายถึง การใช้ชีวิตให้เหมาะสมแก่ฐานะของตนเอง ต้องรู้การใช้ชีวิต รู้ว่าสิ่งไหนควรทำก่อน สิ่งไหนควรทำทีหลัง รู้ว่าสิ่งไหนต้องซ่อมแซมหรือซื้อใหม่ รู้ว่าเวลาไหนควรจ่ายไม่ควรจ่าย ใช้ให้พอเหมาะ คำว่า สมชีวิตา มันครอบคลุมได้กว้าง รวมถึงการบริหารงาน บริหารชีวิต บริหารทรัพย์สิน ครอบครัวให้เหมาะสมตามฐานะและโอกาสของตนด้วย
อุ อา กะ สะ 4 ประการนี้ เขาเรียกว่าหัวใจเศรษฐี คนที่เป็นเศรษฐีนั้น จะรู้หัวใจเศรษฐี 4 ประการนี้หรือไม่ก็ตาม เขาจะเคยสวดคาถาหัวใจเศรษฐี 4 ประการนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ในใจของเขาและสิ่งที่เขาประพฤติในชีวิตประจำวันเขามีหัวใจเศรษฐีทั้งสี่นี้แน่นอน