ประโยชน์ และ อานิสงส์แห่งการสวดมนต์นั้นมีมาก หลากหลายนักปราชญ์ได้พรรณนาไว้ เป็นต้นว่า
- ทำให้จิตเป็นสมาธิ ได้ถึงระดับอุปจารสมาธิ
- ทำให้ได้บุญเมื่อใจเกิดความปิติปราโมทย์ในคุณพระรัตนตรัย
- ป้องกันภัย อันตรายทั้งมวล ไม่ให้กล้ำกลายได้
- เทวดาย่อมอภิบาลรักษา
- ทำให้สมองปลอดโปร่ง ฝึกความจำดี
- ทำให้มีอุตสาหะในการทำความดี โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่าง
- เมื่อสวดเป็นประจำทุก ๆ วัน จะทำให้เป็นคนน่าเชื่อถือได้
- เมื่อสวดบ่อยๆ จะทำให้มีจิตใจเยือกเย็น ใจอยู่ในองค์สมาธิ
- จะทำกิจการสิ่งใด ๆ เพราะมีฐานความเห็น ความคิด ที่มีเป็นธรรม เป็นหลัก-เกณฑ์
- คำแปลบทสวด ชวนให้นำมาคิดพิจารณา จะเกิดปัญญา
โทษในการกล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาวไพเราะ 5 ประการ
- ตนเองก็ติดในเสียงนั้น
- ผู้อื่นก็ติดใจ ยินดีในเสียงนั้น
- คฤหบดีทั้งหลายจะยกโทษว่า ศิษย์ของตถาคตเหล่านี้ขับร้องเล่นเสียงเหมือนพวกตน.
- เมื่อติดใจการทอดออกเสียง กามฉันทะก็เพิ่ม สัมมาสมาธิก็ลดลง
- ประชุมชน หรือ ผู้ปฏิบัติธรรมภายหลัง จะคิดว่าไพเราะดีแล้วและถือเอาเป็นแบบฉบับ
โทษอื่น ๆ ในการสวดมนต์มากบท มีน้อย
ถ้าใจไม่ยึดมั่น ไม่ติดเสียงสวดมนต์ หรือต้องหยุดกลางคันในระหว่างพิจารณาธรรม หรือหยุดเดินจงกลม เพื่อจะต้องมาสวดมนต์กับหมู่เพื่อนในเวลาที่กำหนดไว้ทุก ๆ วัน. ถ้าธาตุสี่ ขันธ์ห้า เอื้ออำนวย ไม่มีทุกขเวทนาอื่นๆ หรือมีความสามารถพิเศษ สามารถดับเวทนาธาตุขันธ์ได้แล้ว ความจำยังไม่เสื่อมและฝึกปัญญามาพอตัวแล้ว การท่องบทสวดมนต์การสวดมนต์ ถือเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว หรือแสดงปฏิปทาเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นด้วย
การสวดมากทุก ๆ วัน และนานๆ จึงมีประโยชน์ช่วยในการฝึกสติสมาธิ. ความจำจะดี ไม่หลงลืมเมื่อวัยชรา แต่ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักใช้เวลาและความสามารถที่ตนยังเหลืออยู่ ให้เป็นประโยชน์แก่ใจตน เพื่อเร่งสอนตนให้เร็วที่สุด สะสมอะริยะทรัพย์ให้มากที่สุด เปรียบเสมือนการเลือกทำงานที่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินแพงกว่างานสะเปะสะปะทั่วๆ ไป ฉะนั้น