พระพุทธรูป คือสิ่งสร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบไหว้บูชา พระพุทธรูปอาจได้จากการหล่อด้วยวัสดุต่าง ๆ มีทองคำ ทองเหลือง เป็นต้น หรืออาจได้จากการแกะสลักจากวัสดุต่าง ๆ เป็นต้นว่า ศิลา งา ไม้ คำว่า
พระพุทธรูป โดยมากจะหมายถึง องค์พระขนาดใหญ่พอที่จะวางบูชาได้ หากเป็นองค์ขนาดเล็กนิยมเรียกว่า พระเครื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบนี้ก็สามารถเรียกว่า พระพุทธรูป ได้
สำหรับข้อถกเถียงที่ว่า พระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า พุทธเจ้าไม่ได้ตรัสสั่งให้หล่อองค์ท่านนั้น ต้องทำความเข้าใจอีกครั้งว่า ถูกต้องพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อถึงพระพุทธเจ้า เหมือนอย่างในสมัยนี้เราถ่ายรูปคนที่ตนเคารพนับถือไว้ รูปนั้นก็ไม่ใช่คนที่เราเคารพ เป็นแค่รูปเฉย ๆ แต่รูปนั้นสื่อถึงคนที่เราเคารพ หรือสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่าธงชาติ ธงไม่ใช่ชาติ แต่สื่อความหมายถึงชาติ ใครจะเหยียบย่ำไม่ได้ พระพุทธรูปก็เช่นกัน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่สื่อถึงพระพุทธเจ้า เมื่อสื่อถึงพระพุทธเจ้าเราจึงให้ปฏิบัติให้เหมาะสมตามที่สื่อถึง
คำถามต่อมา พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสให้สร้างรูปองค์ท่านขึ้นมา แล้วสร้างทำไม ผมถามหน่อยครับ สิ่งที่คุณทำทุกวันนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสั่งทั้งหมดหรือ พระพุทธเจ้าสั่งให้เรียกคำสอนของพระองค์ว่า พระไตรปิฎกหรือ มาเรียกกันทีหลังทั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้เขียนคำสอนของท่านบนใบลานหรือ สั่งให้พิมพ์เป็นหนังสือหรือ สั่งให้บันทึกในแผ่น CD หรือ สั่งให้อัพขึ้นบนเว็บไซต์หรือ สั่งให้แปลคำสอนของพระองค์เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษหรือ เปล่าเลย แต่ที่เราทำเพราะเห็นว่าง่ายต่อการจดจำแบบท่องสาธยาย เป็นประโยชน์ต่อมหาชนทำให้ผู้คนทุกชาติทุกภาษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
การสร้างพระพุทธรูปก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าไม่ได้สั่งไว้ให้สร้างก็จริง แต่เราเห็นว่าสร้างขึ้นแล้วเป็นการยังจิตของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะได้เลื่อมใสยิ่งขึ้นไป หรือกล่าวง่าย ๆ เป็นการดึงดูดความสนใจคนในเบื้องต้น ทำให้คนขึ้นสวรรค์ได้ เพราะเหตุแห่งความเลื่อมใส เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องทานในเบื้องต้น ก็เป็นเหตุให้คนเข้าสู่สุคติได้ จากนั้นพระองค์ทรงสอนตามลำดับจนถึงอริยสัจสี่
เราสามารถสร้างพระพุทธรูปได้อย่างไร
สำหรับท่านที่จะสร้างพระพุทธรูปนั้น หรือถวายพระพุทธรูปนั้น ท่านต้องมีเป้าหมายในการสร้าง หรือเป้าหมายในการถวาย คือสร้างให้สำเร็จประโยชน์จริง กราบไหว้ได้อย่างอิ่มใจจริง ถวายพระพุทธรูปที่กราบไหว้อย่างอิ่มเอิบเบิกบานใจจริง ตนเองก็สามารถกราบได้อย่างไม่ต้องลังเลสังสัยจริง เช่น หากจะถวายพระพุทธรูป ควรเป็นพระพุทธรูปที่หล่อเป็นกิจลักษณะ ไม่ใช่พระรูปพลาสติกใส่บาตร พระพุทธรูปแก้บน ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่นึกถึงความเป็นจริง จะให้พระท่านนำพระพุทธรูปพลาสติกแก้บนนั้นไปทำอะไร จะไปเก็บไว้ที่ไหน ทิ้งก็ไม่เหมาะสม เพราะเป็นพระพุทธรูปแล้ว ฉะนั้น อย่าถวายแต่เป็นพิธี ถ้าถวายเป็นพิธีก็ได้แต่พิธี ควรหาพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองเหลือง มีพุทธลักษณะที่สวยงาม ที่ดูแล้วเบิกบานใจ คนถวายดูแล้วไม่รู้สึกอิ่ม นึกถึงพระพักตร์ที่ไรมีใจผ่องใส ต้องเป็นแบบนั้น
อีกประการหนึ่ง ท่านอาจจะเป็นเจ้าภาพในการหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปด้วยตัวท่านเองทั้งองค์เลย ตามวัดที่ขาดแคลนพระพุทธรูป หรือที่ตรงไหนควรมีพระพุทธรูป เช่น ในโรงเรียน สถานที่ราชการ ส่วนในวัดก็มีให้พอเหมาะ เพราะยังไงคนเข้ามาวัดแม้มีพระพุทธรูปองค์เดียวคนเขาก็กราบไหว้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเป็นพันเอง
หรือไม่เช่นนั้น ก็ร่วมปัจจัยในการสร้างพระพุทธรูป หรือร่วมแรงในการช่วยงาน บริจาคสิ่งที่เป็นบริวารในการสร้างพระพุทธรูป เป็นเจ้าภาพถวายจุตปัจจัยไทยทานแก่พระสงฆ์ที่มาในงานหล่อพระพุทธรูป เลี้ยงน้ำเลี้ยงอาหารแก่แขกผู้มาในงาน ช่วยจัดสถานที่ ประดับตกแต่งสถานที่ในงานหล่อพระพุทธรูป ก็จะเกิดบุญอานิสงส์ไม่น้อยเช่นกัน
อานิสงส์ของการหล่อพระพุทธรูป
อย่างที่ผมกล่าวข้างตน พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสสั่งให้สร้างพระพุทธรูป แต่ไม่ได้หมายความว่าการสร้างพระพุทธรูปนั้นไม่ได้บุญ หรือไม่ได้อานิสงส์ โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่ามีอานิสงส์มากเสียด้วย เป็นต้นว่า
- มีศักดิ์มีศรีเป็นที่รักและเคารพของเหล่ามนุษย์และเทวดา
- เมื่อจุติบนสวรรค์จะมีรัศมีกายที่สว่างไสว
- เมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะมีรูปร่างอันงดงาม ผิวพรรณผ่องใส อวัยวะครบทั้ง ๓๒ ประการ
- แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลาย
- เมื่อดับชีพแล้ว หากมีใจผ่องใส ย่อมไปสุคติ
- เมื่อยังชีพอยู่ย่อมจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานทั้งปวง
- สามารถตั้งจิตอธิษฐานเข้าพุทธภูมิได้ตามปรารถนา
- เป็นผู้มีกายใจผ่องใส ในปัจจุบันชาติ
- เป็นผู้มีบริวาร
- เป็นผู้มีชื่อเสียงมาก
- เป็นผู้ได้รับความยำเกรง
- เป็นผู้เป็นที่รักของชนทั้งปวง
- ถือว่าได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกวิธีหนึ่ง