ประวัติการสร้าง รูปเหมือน หลวงพ่อเขียน วัดถ้ำขุนเณร
นายพิศาล ภัทรประสิทธิ์ ซึ่งเป็นอดีตกำนันตำบลหัวดง และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร เป็นศิษย์คนหนึ่งที่มีความเคารพศรัทธาในหลวงพ่อเป็นอย่างมาก ได้กราบเรียนต่อหลวงพ่อเขียนว่ามีความประสงค์จะสร้างกุฏิถวายไว้ที่วัดเขาพระ ตำบลหัวดง ซึ่งจะหารายในการสร้างจากการหล่อรูปเหมือนของหลวงพ่อ ครั้งนั้นหลวงพ่อเขียนได้ให้คำแนะนำว่าควรจะสร้างรูปเหมือนด้วยเนื้อเงินแท้ทั้งองค์
นายพิศาล ภัทรประสิทธิ์ จึงได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ ซึ่งเป็นน้องชายและเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเขียนเหมือนกันได้ดำเนินการแทน โดยทำการสั่งซื้อแผ่นเงินบริสุทธิ์จากกรุงเทพ จากนั้นนำไปให้หลวงพ่อกันวัดเขาแก้ว จังหวัดนครสวรรค์ ได้เมตตาปลุกเสก ลงเลขยันต์ให้ แล้วจึงนำกลับมาขอให้หลวงพ่อเขียนได้เมตตาปลุกเสกลงเลขยันต์ต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงพ่อเขียนได้ทำการลงเลขยันต์และปลุกเสกเสร็จแล้วจึงได้มอบแผ่นเงินให้กับคุณวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ ไปทำการหล่อกับช่างที่วัดทุ่งเรไรย์ ต.ชอนไพร อ.เมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
พิธีปลุกเสก รูปเหมือน หลวงพ่อเขียน วัดถ้ำขุนเณร
ปลุกเสกครั้งที่ 1
ทำพิธีปลุกเสกในวันเสาร์ 5 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 วันที่ 13 เมษายน 2503 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ทำการหล่อพระรูปเหมือนทั้งหมด 8,400 องค์ ซึ่งย่อมาจาก 84,000 พระธรรมขันธ์ การหล่อรูปเหมือนในครั้งนั้นทางตระกูล ภัทรประสิทธิ์ ได้ขออนุญาตหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเขียนเป็นเนื้อสามกษัตริย์ คือ ทอง-นาก-เงิน ทางหลวงพ่อเขียนก็ได้อนุญาตนั้น เมื่อได้ทำการหล่อรูปเหมือนออกมาแล้วได้เป็นทอง – นาก – เงิน เป็นชั้น ๆ นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง การเททองหล่อรูปเหมือนนั้นหลวงพ่อคอยควบคุมดูแลเองอย่างใกล้ชิด ในวันที่ทำพิธีพุทธาภิเษกนั้นได้มีฝนตกโปรยปรายลงมาเหมือนเป็นการประพรมน้ำพุทธมนต์ตลอดทั้งงาน ครั้งนั้นนายแพทย์พยุง กลันทกะพันธ์ (หมอแดง) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำอำเภอบางมูลนาก คุณบุญรักษ์ จันทร์ศรีวงศ์ และ ดร.ยะเสริฐ วงศ์ทองเหลือ ได้นำสิ่งของไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้นแล้วคุณปรีชา โฆสิตานนท์ ซึ่งเป็นคหบดีจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของหลวงพ่อเขียนก็ได้นำทองเหลืองไปหล่อเป็นรูปหลวงพ่อเขียนโดยช่างคนเดียวกัน หลังจากได้ทำพิธีพุทธาภิเษกเสร็จแล้ว ได้ขอให้หลวงพ่อเมตตาทำยันต์เพื่อตีตราประทับลงที่ก้นรูปหล่อหลวงพ่อเขียนชนิดเงินบริสุทธิ์ หากรูปหล่อองค์ใดที่มีตราประทับของหลวงพ่อเขียน เป็นการยืนยันว่ารูปหล่อนั้นได้ผ่านพิธีนี้มาแล้ว
ปลุกเสกครั้งที่ 2
ในงานพิธีพุทธาภิเษกที่วัดเขาพระ ตำบลหัวดง ซึ่งมีหลวงพ่อเขียนเป็นประธาน นอกจากนั้นยังได้นิมนต์พระเถระอื่น ๆ เป็นต้นว่า หลวงพ่อนอ วัดท่าเรือ จังหวัดอยุธยา หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว จังหวัดนครสวรรค์ และหลวงพ่อเตียง วัดเขารูปช้าง มาร่วมพิธีอธิษฐานจิตพุทธาภิเษกอีกด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็นำออกให้บูชาองค์ละ 60 บาท
ปลุกเสกครั้งที่ 3
เมื่อคุณพิศาล ภัทรประสิทธิ์ ได้สร้างพระยืนปางประทานพรประดิษฐานบนยอดเขาพระเสร็จเรียบร้อย จึงได้จัดให้มีพิธีพุทธาภิเษกและเบิกพระเนตร จึงได้นำรูปหล่อหลวงพ่อเขียนเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้นยังได้นิมนต์หลวงพ่อเตียงและเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ลอย พร้อมทั้งพระเกจิอาจารย์อีกมากมายมาในงานอีกด้วย
ปลุกเสกครั้งที่ 4
ในงานพิธีพุทธาภิเษก รูปหล่อระฆัง ที่วัดบางคลาน อำเภอโพทะเล ซึ่งในครั้งนั้น คุณวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ได้นำรูปหล่อหลวงพ่อเขียนเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วย
แม้จะมีการบันทึกไว้ว่ามีพิธีพุทธาภิเษกถึง 4 ครั้ง ก็ใช่ว่ารูปหล่อหลวงพ่อเขียนทุกองค์จะได้เข้าร่วมในพิธีถึง 4 ครั้ง เพราะมีการนำออกมาแจกและให้บูชาตั้งแต่พิธีพุทธาภิเษกครั้งแรกหรือครั้งที่สองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับการอธิษฐานจิตจากหลวงพ่อเขียนเพียงแค่ครั้งเดียวก็ถือว่าศักดิ์และเข้มขลังแล้ว
รูปเหมือน หลวงพ่อเขียน วัดถ้ำขุนเณร พิมพ์ต่าง ๆ
เว็บไซต์ web-pra.com ได้ให้ข้อมูลรูปเหมือน หลวงพ่อเขียน วัดถ้ำขุนเณร พิมพ์ต่าง ๆไว้ดังนี้
- พิมพ์หน้าโบราณ
- พิมพ์หน้ายาว
- พิมพ์หน้าสั้น
- พิมพ์แต่ง
พุทธคุณ รูปเหมือน หลวงพ่อเขียน วัดถ้ำขุนเณร
- แคล้วคลาดปลอดภัย
- คงกระพันชาตรี
- เมตตามหานิยม
- เลื่อนยศตำแหน่ง ส่งเสริมการงานอาชีพสุจริต