บางท่าน (รวมถึงตัวผมด้วย) อาจจะมีคำถามว่า การแผ่เมตตา กับ การอุทิศส่วนบุญ มีความต่างกันอย่างไร ? ในเรื่องนี้ ผมขออนุญาตนำคำตอบของคุณ ทำหมู ที่ได้ตอบไว้บนเว็บไซต์ pantip.com ดังนี้
เมตตา หมายถึงสภาพจิตที่ดีงาม ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มีความเป็นไมตรีความหวังดี ความปรารถนาดี ต่อบุคคลอื่น เมตตาจะมี หรือจะเกิดขึ้น จนมีกำลังยิ่ง ๆ ขึ้นในจิตของเราได้ ต้องอาศัยการศึกษาและอบรม เบื้องต้น ต้องเห็นโทษของความโกรธ และเห็นคุณของความไม่โกรธ (เมตตา) จึงจะอบรมเจริญเมตตาได้อนึ่ง การศึกษาพระธรรมคำสอน ที่เป็นปัจจัยแก่เมตตา ย่อมทำให้ละพยาบาท (ความโกรธ) และเมตตาเกิดได้
การแผ่เมตตาไม่ต้องมีการกระทำ (ทางกายและวาจา) อะไรเลย (ก็ได้) เป็นการตั้งจิตที่มีความปรารถนาดีไปให้ผู้อื่น ตามตำราท่านว่า คนธรรมดาทำไม่ได้เพราะจิตที่ไม่มั่นคงมากพอ จะต้องได้ปฐมฌานเป็นอย่างต่ำ การแผ่เมตตาจึงจะทำได้
การอุทิศส่วนกุศล คือการตั้งความปรารถนาให้ผู้ที่เราต้องการอุทิศกุศลให้ ได้รับผลของกุศลที่ได้ทำ เราจะต้องทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ชาวพุทธส่วนใหญ่เมื่อทำบุญตักบาตร หรือถวายสังฆทานจึงมีการทำพิธีกรวดน้ำ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้ผู้ทำกุศลได้ระลึกถึงการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้อื่น
สรุป คือ การแผ่เมตตา คือ การตั้งความปรารถนาดีให้แก่ผู้อื่น เป็นการกำจัดความโกรธ ความพยาบาท ได้เป็นอย่างดี การอุทิศส่วนกุศล ทำเมื่อเราทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นอนุโมทนาเพื่อให้เขามีส่วนแห่งการกระทำนั้น
ถามว่า ทำไม การแผ่เมตตา และ การอุทิศส่วนกุศล จึงต้องมีคำกล่าว
ตอบว่า เพราะผู้ศึกษาใหม่ ไม่รู้วิธีการแผ่เมตตาและการอุทิศส่วนกุศล ว่าจะต้องตั้งจิตอย่างไร แบบไหน จึงต้องมีคำกล่าว เหมือนคนไม่รู้ว่าศีลห้าจะต้องรักษาอย่างไร มีอะไรบ้าง จึงต้องมีคำสมาทานศีลห้า หากคนนั้นรู้อยู่แล้วศีลห้าเป็นอย่างไร รักษาศีลห้าโดยปกติอยู่แล้ว แม้ไม่สมาทาน แต่มีเจตนาในการรักษาศีลหรืองดเว้นจากข้อห้ามนั้น ๆ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลโดยอัตโนมัต
คาถาสั้น ๆ เป็นได้ทั้งคำแผ่เมตตาและคำอุทิศส่วนกุศล
สำหรับคำกล่าวแผ่เมตตา และ คำอุทิศส่วนกุศล ที่ผมใช้เป็นประจำทุกเช้าเย็น เป็นทั้งคำแผ่เมตตาและคำอุทิศบุญอยู่ในตัว ก็คือ บทว่า
สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะชีวิโน
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงอย่าได้มีเวรต่อกันและกัน จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด
กะตัง ปุญญัง ผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต
ขอให้สัตว์ทั้งสิ้นนั้น จงเป็นผู้มีส่วนได้เสวยผลบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนั้น เทอญ.