พระสมเด็จหล่อ พิมพ์ปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว
กล่าวถึงจังหวัดสุพรรณบุรีมีเกจิอาจารย์ขึ้นชื่อมากมาย ทั้งสายวิปัสสนาและสายมนต์คาถา (สายนี้ผมเรียกเอง) หนึ่งในนั้นก็คือ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว ตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงพ่อโบ้ย ท่านถือกำเนิดที่บ้านสามหมื่น อำเภอบางปลาม้า เมื่อปี พ.ศ.2435 โยมบิดาชื่อโฉมศรี พออายุครบ 21 ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทที่วัดมะนาว เบื้องต้นแห่งการอุปสมบทท่านได้จำพรรษาที่วัดที่บวชให้ 3 พรรษา จากนั้นจึงได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) นอกจากนั้นท่านยังได้เดินทางไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานที่วัดอัมรินทร์โฆสิตาราม ท่านศึกษาเล่าเรียนอยู่ได้ประมาณ 8-9 ปี จึงเดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมะนาวตามเดิม ต่อมาท่านได้ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นเวลาหนึ่งพรรษา แล้วจึงกลับมาอยู่ที่วัดมะนาวอีกครั้งในปี พ.ศ.2467
หลวงพ่อโบ้ยท่านเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม มักน้อย สันโดษ ในเวลาเช้าสวดมนต์ทุกวันตั้งแต่ตี 4 จนกระทั่งได้อรุณรุ่งเช้า ท่านจึงได้ครองผ้าออกบิณฑบาตภิกขาจาร เมื่อกลับมาถึงวัดท่านจะนิมนต์พระภิกษุสามเณรภายในวัดทุกรูปมายืนเข้าแถว จากนั้นท่านก็จะตักข้าวในบาตรของท่านใส่ในบาตรของพระภิกษุสามเณรทุกรูป ท่านทำเช่นนี้ทุกวัน แต่เนื่องจากท่านมักสันโดษท่านจึงไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาส หลวงพ่อโบ้ย ท่านมรณภาพวันที่ 18 มกราคม 2508
หลวงพ่อโบ้ย เริ่มสร้างวัตถุมงคลในปี พ.ศ. 2473 ในยุคแรกแรก เป็นพระเนื้อโลหะผสม โดยได้ต้นแบบ (ล้อพิมพ์) จากพระพิมพ์ต่าง ๆ จากพระกรุที่ชื่นชอบและพระเกจิอาจารย์ที่ท่านเคารพนับถือ พระกรุต่าง ๆ ที่ท่านนำมาล้อพิมพ์สร้าง เช่น พระพิมพ์ลีลา พระพิมพ์ขุนแผน (ด้านหลังมีกงจักรนารายณ์) พระพิมพ์มเหศวร พระพิมพ์ปรุหนัง พระพิมพ์ซุ้มระฆัง พระพิมพ์งบนํ้าอ้อย เป็นต้น พระพิมพ์ของพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ที่ท่านนำมาล้อพิมพ์ เช่น พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ พระพิมพ์ขี่ครุฑ (หลวงพ่อปาน) พระพิมพ์สร้อยสังวาลย์ พระพิมพ์นางกวัก พระพิมพ์กลีบบัว พระพิมพ์ปิดตา พระพิมพ์นาคปรก ในการสร้างพระในยุคนั้น ใช้โลหะมวลสารตามที่ได้มา เช่น ฝาบาตร (ทองเหลือง) ขันลงหิน ช้อน ทัพพี เชี่ยนหมาก เงิน และทองคำที่ชาวบ้านนำมาถวายเพื่อให้ท่านสร้างพระเครื่อง แต่โลหะ ๆ คือทองเหลือง (ทองผสม หรือโลหะผสม) เนื่องจากท่านใช้โลหะหลายประเภทนำมาผสมหล่อหลอมรวมกัน จึงเป็นเหตุทำให้เนื้อโลหะต่าง ๆ ผสมเกาะตัวกันไม่ค่อยดี จึงเกิดรอยย่น แต่ละองค์จึงมีความเข้มและสีที่ไม่ค่อยเหมือนกัน
หลวงพ่อโบ้ย ทำพิธีเทหล่อพระภายในวัด ช่วงที่ท่านเททองหล่อพระนั้นท่านจะเทหล่อให้เสร็จภายในคืนนั้น มีการใช้ตะไบแต่งริมขอบพระทุกองค์ ซึ่งรอยตะไบนี้ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระหล่อหลวงพ่อโบ้ย เมื่อฉันเพลเสร็จแล้วท่านก็จะนำพระทั้งหมดที่แต่งเสร็จแล้วเข้ากุฏิทำการอธิษฐานจิตปลุกเสก ตกบ่ายทั้งก็จึงนำออกมาแจกซึ่งมีชาวบ้านมารอคอยรับของแจกเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2479 หลวงพ่อโบ้ยท่านจึงเริ่มสร้างพระด้วยเนื้อดินเผา รูปสี่เหลี่ยม อุดผงพุทธคุณด้านบน เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาชุดพระเจ้าห้าพระองค์ มีพุทธลักษณะเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนสัตว์พาหนะต่าง ๆ คือ พิมพ์ทรงโค พิมพ์ทรงราชสีห์ พิมพ์ทรงเต่า พิมพ์ทรงนก และพิมพ์ทรงพญานาค เป็นเนื้อดินเผารูปสี่เหลี่ยม มีผงพุทธคุณอุดอยู่ด้านบน (พุทธศิลป์ใกล้เคียงกับพระเครื่องของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค แต่ก็มีเอกลักษณ์เป็นของท่านเอง)
ในปี พ.ศ.2500 หลวงพ่อโบ้ยท่านได้สร้างพระเนื้อชานหมากเป็นรูปเหมือนท่าน
เอกลักษณ์สมเด็จหล่อหลวงพ่อโบ้ย
(เป็นการสรุปจากเนื้อหาของบทความ อาจจะมีความแตกต่างจากที่เขียนไว้บ้าง)
- พระโลหะหล่อของท่านสร้างราวปี 2473-2478
- เป็นเนื้อโลหะผสม คือนำมาโลหะหลายอย่างมาผสมกัน จึงทำให้เนื้อโลหะเข้ากันไม่ได้ดีเท่าที่ส่วน จึงทำให้เกิดรอยย่น ความเข้มของโลหะต่างกัน มีสีต่างกันบ้าง
- เป็นพระหล่อเทช่อ (บางองค์เห็นรอยเทช่อ)
- มีการแต่งตะไบ
พุทธคุณพระหลวงพ่อโบ้ย
ในส่วนของพุทธคุณพระหลวงพ่อโบ้ย เท่าที่ทราบมีความโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด แคล้วคลาดปลอดภัย