หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
วัดป่านิโคธาราม บ้านหนองบัวบาน
ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เดิมชื่ออ่อน กาญวิบูลย์ เกิดวันอังคารขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล พ.ศ.2445 (ตามพ่อแม่ของท่านบอก) หรือเกิดวันอังคารขึ้น 5 ค่ำหรือ 12 ค่ำ (ตามปฏิทิน 100 ปี) ณ บ้านดอนเงิน ตำบลแซแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของนายภูมีใหญ่และนางบุญมา กาญวิบูลย์ ซึ่งมีลูกทั้งหมด 20 คน เลี้ยงจนเจริญเติบโตเพียง 10 คน ท่านเป็นคนที่ 8 ของผู้ที่ยังมีชีวิตรอด จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านเกิดในท่ามกลางสภาพของธรรมชาติป่าดงอันอุดมสมบูรณ์มีความอบอุ่น อยู่กับพ่อแม่ มีความเป็นอยู่พอมีความสุขตามสมควรจากอาชีพทำนา เลี้ยงโคฝูง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ค้าขายเบ็ดเตล็ดต่างๆ อาชีพทำนาอาศัยฟ้าฝน ถ้าปีไหนฟ้าฝนดี ถ้าไม่เกิดโรคก็จะได้ผลผลิตเกิน 1,000 ถังจากที่นา 8 ทุ่ง (แปลง) เป็นการผลิตเพื่อบริโภคกันทุกครัวเรือน มีวัวฝูงกว่า 200 ตัว กลางวันต้อนออกคอก ปล่อยไปหากินเอง ตอนเย็นกลับเข้าคอกเอง ถ้าวัวไม่เข้าคอกเกิน 4-5 วัน จึงออกตามไล่ต้อนเข้าคอกสักทีหนึ่ง ถ้าวัวหายไปตามหาก็ลำบากป่าดงมันรกเสือและงูร้ายก็ชุกชุม หลวงปู่ได้เล่าถึงประวัติตนเองเมื่อครั้งช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยความทุกข์ใหญ่ว่า ครั้งหนึ่งเดือนเมษายน วัวไม่กลับเข้าคอกจึงออกติดตาม ไม่ได้เตรียมน้ำดื่มไปด้วย กว่าจะเห็นฝูงวัวก็บ่าย 2 โมงเข้าไปแล้ว เดินเท้าเปล่าไม่มีรองเท้าตอไม้ทิ่ม หิวน้ำก็หิว ก่อนเข้าหมู่บ้านหัวเข่าอ่อนล้าฮวบลง ลุกขึ้นหาไม้เท้าใช้สองมือยืนไปจนถึงบ้านได้ ครั้นถึงบ้านด้วยความกระหายน้ำอย่างมากจึงรีบดื่มน้ำไป 12 กระบวยใหญ่ จุกน้ำเกือบตาย นี่คือทุกข์ใหญ่ สมัยที่หลวงปู่อ่อนอายุ 11 ปี พ่อแม่ของท่านได้นำไปฝากให้อยูวัดใกล้บ้าน ซึ่งสมภารมีความรู้ทางด้านภาษาลาว ภาษาขอม และภาษาไทย เป็นอย่างดี โดยหวัง ให้ลูกชายได้รับการศึกษามีอนาคตสามารถเลี้ยงพึ่งพาตนเองได้ พออายุได้ 16 ปี พ่อของท่านได้อบรมว่า การบวชนี้เป็นบุญมาก ในที่สุด ท่านก็ใคร่จะบวช จึงบอกเล่าและลาพ่อแม่ว่าต้องการบวช เมื่อได้บวชแล้วจะไม่สึก พ่อแม่จึงนำท่านไปฝากให้เป็นศิษย์วัดกับ ท่านพระครูพิทักษ์คณานุการ วัดจอมศรี บ้านเมืองเก่า อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อมา ท่านก็ได้บรรพชาให้เป็นสามเณรอ่อน ให้ศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์ไหว้พระ การบวชเป็นสามเณรนี้ก็เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน ให้มีความรู้มากขึ้น สามเณรอ่อนได้ศึกษาพระธรรมวินัยพอเป็นนิสัย เข้าใจถึง ชีวิตสมณเพศเท่านั้น
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เด็กชายอ่อนได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 17 ปี (พ.ศ.2462) สามเณรอ่อนได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย เมื่อเลิกจากเวลาเรียนแล้วก็ต้องเข้าไปรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ปัดกวาด ทำความสะอาด ล้างกระโถน รุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาต ท่านมีฝีมือด้านการช่าง ได้ร่วมกับพระอาจารย์นำดินมาสร้างพระพุทธรูป แกะ สลักไม้ ทำบานประตูหน้าต่างที่สวยงามมาก ท่านมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมศรีกับท่านพระครูพิทักษ์คณานุการ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ 3 ปี ท่านมีอายุ 19 ปี จึงเข้าอำลาอาจารย์ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ท่านอุปัชฌาย์หาว่า อวดดี จึงขับออกจากวัดจอมศรีไปพักอยู่ที่วัดดอนเงิน ไปลาโยมพ่อโยมแม่ แต่ไม่ได้รับ อนุญาต อ้างว่าคิดถึง เมื่อสามเณรอ่อนอายุครบ 20 ปี ใน พ.ศ. 2464 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกาย ที่วัดบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระครูจันทา (เจ้าอธิการจันทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดบ้านดอนเงิน 1 พรรษา ในปี พ.ศ. 2465 ได้ขอลาโยมพ่อโยมแม่ออกธุดงค์กรรมฐานไปอยู่กับ พระอาจารย์สุวรรณ วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนงอคาย ตามความตั้งใจของท่านมาแต่เดิม คือ 1. ยึดมั่นต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการบริกรรมว่า พุทโธ 2. ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร 3. บิณฑบาตเป็นวัตร 4. ไม่รับอหารที่ตามมาส่งภายหลัง รับเฉพาะที่ได้มาในบาตร 5. ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร 6. ฉันในบาตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร 7. อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในป่าธรรมดาบ้าง บนภูเขาบ้าง ในหุบเขาบ้าง ในถ้ำบ้าง ในเงื้อมผาบ้าง 8. ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า 3 ผืน ได้แก่ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าจีวร ผ้าสบง (รวมผ้าอาบน้ำฝนด้วย) ในปี พ.ศ. 2466 ได้ออกธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวก ปฏิบัติธรรมได้ไปฝึกหัด เรียนพระกรรมฐานอยู่กับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์อยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ขอให้สวดญัตติแปรจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุต พระอาจารย์ยังไม่ยินยอม ให้ฝึกภาวนาไปอีก 1 ปี แล้วได้ขอให้ญัตติเป็นธรรมยุตอีก ท่านยินยอมแต่ต้องให้ท่องหนังสือนวโกวาท และพระปาติโมกข์ ให้จบเสียก่อน หลวงปู่อ่อนจึงตั้งใจท่องนวโกวาท 4 วันจบ ท่องปาติโมกข์ 7 วันจบจึงได้รับทำการญัตติ เป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2467 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 อายุได้ 23 ปี โดยมีพระครูชิโนวาทธำรง (พระมหาจูม พนธุโล หรือ พระธรรมเจดีย์) รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระครูอดิสัยคุณาธาร (คำ อรโก) เจ้าคณะจังหวัดเลย วัดศรีสะอาด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วกลับไป จำพรรษาที่วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ในปี พ.ศ. 2468 หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ไปจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ในปีนี้ หลวงพ่อคำมี ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่อ่อนบวชสังกัดมหานิกาย มาขออยู่ปฏิบัติธรรม ฝึกหัดภาวนากับท่านด้วย แต่ได้เกิดไข้ป่าอย่างแรง มรณภาพเมื่อเดือน 8 แรม 8 ค่ำ ในปี พ.ศ.2469 ได้ธุดงค์ไปจำพรรษากับพระอาจาย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจาย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ที่เสนาสนะป่า ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานีปี พ.ศ. 2470 จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหัวงัว ตำบลไผ่ช้าง อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ปีถัดมา พ.ศ. 2471-2472 ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านสาวะถี ตำลบสวะถี อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น (สมัยนั้น) ถัดมาอีกปี พ.ศ. 2473 ธุดงค์ไปจำพรรษาที่ วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2474 หลวงปู่อ่อนได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม บ้านเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และในปี พ.ศ.2475 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงตำแหน่งพระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา มีบัญชาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2475 ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ในจังหวัดขอนแก่นไปร่วมอบรมประชาชน ร่วมกับทางราชการที่จังหวัดนครราชสีมา มีพระกรรมฐานไปชุมนุมกันจำนวนมาก เช่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ ปีนี้เอง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ยกที่ดิน 80 ไร่ถวายพระกรรมฐาน ที่มาชุมนุมเพื่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรมอบรมศีลธรรม ตั้งชื่อให้สถานที่แห่งนี้ว่า วัดป่าสาลวัน ในครั้งนี้คณะพระกรรมฐานได้แยกย้ายกันออกอบรมศีลธรรมและสร้างวัดอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว ชื่อวัดสว่างอารมณ์ พระอาจารย์อ่อน ณาณสิริได้อยู่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดป่าสาลวัน เป็นเวลา 12 ปีเท่ากับพระอาจาย์ฝั้น อาจาโร เมื่อปี พ.ศ. 2488 พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ออกจากวัดป่าสาลวันไป นมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดบ้านหนองผือ ได้สร้างวัดที่บ้าหนองโคก อำเภอพรรณานิคมให้เป็นคู่กับวัดป่าบ้านหนองผือ ทางที่จะไปนมัสการพระอาจารย์มั่น เพื่อให้ถูกกับอัธยาศัยของพระอาจารย์มั่น ด้วยว่าให้พระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสร้าง วัดขึ้นในรัศมีของวัดป่าบ้านหนองผือจะได้ฝึกหัดพระที่มาศึกษาภาวนา เป็นการแบ่งเบาภาระของท่าน เมื่อพระอาจารย์อ่อนได้สร้างวัดนี้แล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาหลายปีและได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น เป็นประจำเพราะท่านอายุมาก ในปี พ.ศ. 2492 พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาพาธหนัก ได้รับการนำไปรักษา ที่ วัดสุทธาวาส สกลนคร และมรณภาพที่นี่ ในปี พ.ศ. 2493 เมื่อพิธีถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ผ่านไปแล้ว พระอาจารย์อ่อน ได้เที่ยวธุดงค์ไปถึงเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อยู่จำพรรษา 1 พรรษา แล้วกลับมาช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม สร้างกุฏิและหล่องพระประธานที่ วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระญาณวิศิษฏ์วิริยาจารย์ มาอีกหลายปีท่านมาณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงได้ขอแต่งตั้งให้ อาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน แทนท่านเจ้าคุณอยู่ประมาณ 1 ปีจึงลากออก เพราะเห็นว่าขัดต่อการออกรุกขมูลวิเวก ในปี พ.ศ. 2496 ท่านได้มาสร้างวัดป่าบ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนวงวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ตามคำบัญชาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ สิ้นเงินหลายล้านบาท ครั้นปี พ.ศ. 2518 หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหาร ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้ง อาการพอทรงตัวอยู่ได้ ร่างกายทรุดโทรม แต่ท่านก็ยังปฏิบัติกิจด้วยความอุตสาหะ สงเคราะห์พุทธบริษัท ปฏิบัติธรรม ตลอดมิได้เว้น วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 อาการอาพาธทรุดหนัก จึงได้นำเข้า รักษาที่โรงพยายบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี (24 พ.ค.) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ (25 พ.ค.) โรงพยาบาลรามาธิบดี (26 พ.ค.) อาการไม่ดีขึ้น ครั้นวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 คืนวันพุธ เวลา 04.00 น. ท่านก็ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบท่ามกลางนายแพทย์และคณะศิษย์ที่ติดตาม สิริรวมอยุได้ 80 ปี เป็นสามเณร 3 พรรษา เป็นพระ 58 พรรษา
ธรรมโอวาท
จิตเป็นสิ่งสำคัญ สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ คือ ตัวปัญญามันเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นเท่านนั้นแหละ สัมมาทิฐิตัวเดียวชัดเจนขึ้นมา นั่นเป็นอาการของมัน ปัญญาสัมมาทิฐิเกิดขึ้นมา มันเป็นองค์มรรค 8 สมบูรณ์เลย เบื้องต้นเรายังฟุ้งซ่านอยู่ก็ต้องมาแก้ เราจะเข้าใจสงบระงับด้วยอุบายนี้ ความฟุ้งขณะปฏิบัติเพราะเราไปยึดมั่น เรายังยึดเท่าไรมันก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ดังนั้นท่านเรียกว่า สมุทัย ยุ่งไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง พอปัญหาสัมมาทิฐิเกิดขึ้น สมุทัยก็หาย นิโรธก็เกิดขึ้น การที่เรามาเห็นว่านี้เป็นสัมมาทิฐิ คือ ตัวมรรคทั้ง 8 มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียวกันนี้ เมื่อจิตรรวมกันในสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ว สัมมาทิฐิความเห็นชอบก็เกิดขึ้น ณ สัมมาทิฐินั่นเอง คือ เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย ส่วนจะละได้มากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่กำลัง ของปัญญาสัมมาทิฐิของตน เมื่อละได้แล้ว นิโรธ ความดับเย็นสนิทขนาดไหนก็จะปรากฎขึ้นเฉพาะตนในที่นั้น… ธรรมะเป็นทางแก้ทุกข์ เมื่อจะแก้ ก็ต้องสอบทุกข์ก่อน ให้เห็นทุกข์ก่อน เหมือนกับเราทำงานอะไร เราต้องเห็นงานก่อน จึงจะทำได้ ทุกข์อันหนึ่ง ที่เป็นงานของพวกเราควรทำ ถ้าไม่ทำเราก็ไม่พ้น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอน พวกเราให้รู้ทุกข์ เราได้ชื่อว่าผู้นับถือพระพุทธศาสนาประจำใจ ต้องให้เข้าใจหลักธรรมจริงๆ จึงจะถูกต้อง การเปิดจิตใจให้กว้างสว่างไสวนั้น เป็นนิสัยของชาวพุทธโดยตรง เราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ทาน ศีล ภาวนา หรือ การทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่วจริง ก็ควรที่จะรีบขวนขวายหาทางสร้างความดีเสีย จะได้มีกำลังใจของจิตใจต่อไป คนเราในโลกนี้เกิดมาแล้วย่อมมีความดีและความชั่วประปนกันไป ไฉนเราจึงจะพบกับความดีเดียงอย่างเดียว อะไรๆ ก็ไม่สู้การสร้างความดีนะ ความดีนั้น ผู้ใดสร้าง ผู้นั้นย่อมมีความสุขเย็นอกเย็นใจ การให้อภัยนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบัน โลกเราต้องการคนดี โลกต้องการให้อภัย เพราะนั่นเป็น ทางแห่งความสันติสุขนะ ต้องให้อภัยทำให้ใจกว้างขวาง จึงจะได้ชื่อว่า เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นของเย็น เป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมถ้าอยู่ในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ ธรรมชาติของธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติผู้บำเพ็ญเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรม ที่เรากระทำอยู่เรื่อยๆ เป็นนิจโดยไม่หยุดยั้ง ผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งไป และจะสืบเนื่อง กันไม่ขาดระยะ ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น เราเป็นฆราวาส ต้องพยายามทำคุณงามความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เจริญ แล้วปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง ท่านผู้รู้พูดเป็นปัญหาว่า กล้วย 4 หวี สำหรับอาหาร 4 สำหรับ สามเณรนั่งเฝ้า พระเจ้านั่งฉัน ปัญหานี้เป็นปัญหาธรรมะ เปรียบเทียบกับการปฏิบัติของบุคคล ส่วนมากคนจะไม่นำไปคิดกัน ข้อธรรมะที่ท่านให้ไว้แล้วให้นำไปตีความหมายให้ละเอียด กล้วย 4 หวี ได้แก่ ธาตุ 4 เณรน้อยนั่งเฝ้า ได้แก่ คงโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทันตามหลักของพระธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน เลี้ยงร่างกายให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่ได้ทำอะไรที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองเลย อันนี้แหละชื่อว่าโง่เขลาเบาปัญญา ได้แต่นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ สามเณรนั่งเฝ้าสำหรับที่มีอยู่แล้วโดยไม่ฉัน ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่รู้ธาตุ 4 ตามความเป็นจริงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอย่างไร ไม่ยอมกำหนด รู้แบบชนิดที่ให้เกิดปัญญา พระเจ้านั่งฉัน หมายความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้วก็ยกธาตุ 4 (เปรียบด้วยกล้วย 4 หวี) มาพิจารณาตามหลัก แห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จ คุณเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ก็เพราะพระอริยเจ้า ท่านเป็นผู้ฉลาดในอรรถ และพยัญชนะ จึงไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ ธาตุ 4 ก็อยู่ที่ตัวของเรา ขันธ์ 5 ก็อยู่ที่ตัวของเรา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แต่คนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เลยต้องนั่งเฝ้าเฉยๆ เหมือนลิง นั่งเฝ้าเม็ดทองคำ ไม่รู้ค่าของทองคำ คนที่โง่เขลาเบาปัญญาก็ได้แต่นั้งเฝ้ารูปธรรม นามธรรมที่มันอยู่ในตัวของเรานี่แหละ. ท่านหยิบยกเอาธาตุ 4 ขันธ์ 6 มาสับโขลกให้ละเอียด จนท่านรู้แจ้งเห็นจริง ให้อัตภาพร่างกายของท่านเอง และ อัตภาพร่างกายของคนอื่น ท่านนั่งฉัน คือ นั่งพิจารณาอัตภาพ คือ ธาตุ 4 ขันธ์ 5 เกิดมาแล้วมัน เป็นอย่างไร เกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ คือ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย พวกท่านทั้งหลายอย่าได้นั่งเฝ้าร่างกายอยู่เฉยๆ มันไม่เกิดปัญญา ปัญญามันเกิดจากการภาวนา คือ การอบรมจิต เพื่อจะทำลายกิเลสให้หลุดหาย ไปในที่สุด. หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี่แหละสำคัญมาก กายก็คือขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามธรรมดาของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้อยู่กับตัวเรา คือ จิต ตกลงว่าขันธ์ 5 กับจิตนี่อยู่ร่วมกัน แยกกันไม่ออก แต่ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหนเป็นรูป ส่วนไหนเป็นเวทนา และส่วนไหนเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ยุ่งเหยิงกันไปหมด นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจ ให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน เราต้องพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง 5 สู้กิเลสที่มันย่ำยีตัวเราอยู่นั้น ก็เท่ากับว่าพวกเราได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ถึงแม้พวกเราจะบวชเข้ามาอยู่ใกล้พระพุทธองค์ ก็จะไม่มีความหมาย นักบวช ที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นผู้ต่อสู้หรือปราบปรามกับกิเลส ถ้าเราไม่มีการต่อสู้กับมัน ปล่อยให้มันย่ำยีเราแต่ฝ่ายเดียวนั้น ตัวเราเองจะย่ำแย่ลงไปทุกที ผลสุดท้ายเราก็เป็นผู้แพ้ ยอมเป็นทาสรับใช้ของกิเลส ใช้การไม่ได้ สำหรับการสู้รบตบตีกับกิเลส จิตใจของเราจะรู้สึกว่า มีความทุกข์ยากลำบากเป็นกำลังอย่างมากทีเดียว แต่ก็ขอให้พวกเราทำต่อและยอมรับ ความทุกข์ยากลำบากลำบนอันนั้น ยิ้มรับกับความลำบากเพราะความเพียรพยายาม ของเรา เมื่อเรามีความท้อถอยอิดหนาระอาใจต่อความเพียรของตนนั้น ให้พึงระลึกถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นบรมครูของพวกเราว่า พุทโธ ธมฺโม สงฺโฆจาติ นานาโหนฺคมฺปิ วตฺถุโต คือ ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าของพวกเรา ก่อนที่พระองค์จะทำลายรังของกิเลสได้อย่างราบคาบ พระองค์ก็ใช้อาวุธ หลายอย่างหลายชนิดเข้าประหัตประหาร จนกิเลสยอมจำนนต่อหลักฐาน ยอมให้พระองค์โขกสับได้อยางสบาย ขันติ พระองค์ก็นำมาใช้ เช่น พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา คือ การกระทำที่บุคคล ทั้งหลายในโลกทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างใหญ่หลวง จนเอาชนะกิเลส ทั้งหลายทั้งปวงได้ พวกท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ป่าแล้ว ก็ได้ชื่อว่าทำตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่นิยมอยู่บ้าน คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะการคลุกคลีด้วยหมู่ จิตใจของเราก็จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย โอกาสที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้นยากเหลือเกิน พระพุทธองค์ เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พวกท่านปัญจวัคคีย์ 5 รูป ไปเฝ้าปฏิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วยตั้งใจว่า เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วจักบอก แก่เราก่อน เมื่อเรามาสันนิษฐานดูแล้วจะเห็นได้ว่าการคลุกคลีหรือการอยู่ร่วมกันหลายคน นั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสมาธิ พระองค์ก็เลยต้องทำวิธีใดวิธีหนึ่งให้พวก ปัญจวัคคีย์เกิดความเบื่อหน่าย แล้วจะได้หลีกหนีไปอยู่เสียที่อื่น พระองค์ต้องกลับมา เสวยพระกระยาหารอีก ทำให้ท่านเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในการกระทำความเพียร เลยต้องหลีกหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อท่านปัญจวัคคีย์หนีจากท่านไปแล้ว พระองค์ก้ได้ทำความเพียรทางใจ ให้อุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยกาลไม่นาน อันนี้จะเห็นได้ว่า พระองค์ทำเป็นตัวอย่างไว้ให้เราดูแล้ว เราผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ท่าน ก็ควรจะสำเหนียกและดำเนินตามการทำความเพียร เพื่อทำลายกิเลส มันจะต้องลำบากทุกสิ่งทุกอย่าง การกินก็ลำบาก อดมื้อฉันมื้อก็ต้องยอมอด อดมันทำไม อดเพื่อปราบกิเลส กิเลสมันก่อตัวมานานแสนนาน หลายกัปป์หลายกัลป์มาแล้ว จากเราสาวหาตัว ต้นตอ โคตรเหง้าของมันไม่พบ นี่แหละ ท่านจึงสอนให้อยู่ป่าหาที่สงัด แม้แต่ในครั้งพุทธกาล มีท่านพระเถระหลายท่านที่มุ่งหมายต่อแดน พ้นทุกข์ ได้ออกปฏิบัติตนทรมานตนอยู่ในป่าในเขา และก็ได้บรรลุมรรคเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน ท่านทำกันจริงจัง หวังผล คือ การหลุดพ้นจริงๆ ท่านสละเป็นสละตายมาแล้วทั้งนั้น ความทุกข์ยากลำบาก ทุกข์มากทุกข์น้อย ย่อมมีแก่ทุกคนในขณะปฏิบัติ เราต้องทำความเพียร ก็ไปทุกข์อยู่กับความเพียร ทำนา ทำไร่ ก็ไปทุกข์อยู่กับ ทำนาทำไร่ อันนี้เป็นของธรรมดา แต่จะทุกข์มากทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ฉลาด รู้วิธีการบ้างพอสมควร อย่างการทำความเพียรต้องเป็นผู้รักษาสัจจะ คือ ให้มีสัจธรรม ตั้งใจ อย่างไรอย่าทำลายสัจจะ สัจจะเมื่อตั้งให้ถูกต้องตามอรรถตามธรรมแล้วจะเกิดเป็นพลังของจิตอย่างดีเยี่ยม พวกเราทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาสู่สมรภูมิรบด้วยกันเช่นนี้แล้ว ต้องตั้งหน้า ตั้งตาถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อต้นด้วยกัน อย่าถือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าถือว่าเป็นเรื่องง่ายแล้วกิเลสมันจะหัวเราะเยาะดูถูกพวกเรา ทุกข์เพราะการทำความเพียร มิใช่ทุกข์ที่ไม่มีผล เป็นทุกข์ที่ทำลงไปแล้วคุ้มค่า เราอย่าไปท้อถอยจงอดทนต่อสู้อุปสรรคต่างๆ การปราบปรามกิเลส ก็คือ การแก้ความไม่ดีที่สถิตย์อยู่ภายในตัวของรา จึงต้องทำด้วยความเพียรของบุรุษ ทำด้วยความตั้งจิตตั้งใจจริงๆ ทำด้วยความพากเพียรจริงๆ หนักก็สู้เบาก็สู้ เช่นเดียวกับเราตกน้ำ เราต้องพยายามแหวกว่ายช่วยตัวเอง กำลังวังชามีเท่าไรเอามารวมกันหมด เพื่อจะเอาตัวรอด จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อไม่ไหวจริงๆ จึงจะยอมจมน้ำตาย หากมี กำลังเพียงพออยู่ตราบใด จะไม่ยอมจมน้ำตายเป็นอันขาด อันนี้ก็เช่นเดียวกัน การจะทำความเพียรเพื่อหลุดพ้นนั้น จะทำเหลาะแหละไม่ได้ ต้องทำจริงๆ จังๆ จึงจะเห็นความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ เรามาอยู่ร่วมกันมาก จงประพฤติตามธรรมตามวินัยอย่างเคร่งครัด อย่าเป็นคนมักง่าย วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป ผ่านไปอยู่เรื่อยๆ สังขารร่างกายนับเวลาที่จะผ่านไปๆ โดยลำดับ พวกเราอย่าปล่อยให้วันคืนล่วงไปเฉยๆ ต้องให้มันผ่านไปด้วยการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม ก็เพื่อจะกำจัดสิ่งปลอมแปลงนั้นออกให้เหลือแต่ของจริง คือ แก่นแท้ของธรรม เฉพาะอย่างยิ่งคือ การหัดภาวนา ควรจะทำให้เกิดให้มีความแท้จริง งานอย่างอื่นเราก็เคยต่อสู้มาแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ต่อสู้กับงานหนักงานเบามาแล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนบัดนี้ เราก็ทำได้มาเรื่อยๆ แต่เวลานี้เราจะฝึกหัดภาวนา คือ การทำจิตใจโดยเฉพาะ และการทำภาวนานี้ก็เป็นงานที่จำเป็นจะต้องทำเช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ หรือควรที่จะทำให้หนักยิ่งไปกว่างานอื่นๆ เสียอีก เพราะเป็นงานหนักและละเอียดกว่างานทั้งหลาย การทำภาวนาแรกๆ จิตของเราย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลาน เป็นของธรรมดา เพราะจิตยังไม่เคยกับการภาวนามาก่อน จึงถือได้ว่าการภาวนาเป็นงานใหม่ของจิต ถึงจะยากลำบากแค่ไหนเราต้องฝึก เพื่อที่จะฉุดกระชากลากจิตที่กำลังถูกกิเลสย่ำยีอยู่นั้นให้พ้นภัยอันตราย ให้เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสเรื่องเศร้าหมอง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรทำอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ในโอกาสต่อไปนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะพากันมาบำเพ็ญเพียร ทางด้านจิตใจ อันเป็นจุดหมายปลายทางให้เกิดความสุขความสมหวังขึ้นภายในใจของ ตัวเองด้วย จิตภาวนา เหนื่อยบ้าง ลำบากบ้างก็ทนเอา การปล่อยให้จิตคิดไปในแง่ต่างๆ ตามอารมณ์ของจิตนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา นอกจากไปเที่ยวเก็บรวบรวมเอาความทุกข์ความร้อนจาก อารมณ์ภายนอก มาเผาลนจิตใจของตนให้วุ่นวายเดือดร้อน ไม่ขาดระยะเท่านั้น ท่านกล่าวว่า สมาธิก็คือการทำใจให้สงบ สงบจากอะไร สงบจากอารมณ์ เครื่องก่อกวนทั้งหลาย เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน ถ้าเป็นน้ำก็จะใสสะอาดดุจน้ำฝน ที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ยังไม่มีอารมณ์ภายนอกมารบกวน ก็จะเป็นจิตที่ใสสะอาดหมดจด แต่ขณะนี้จิตของเราถูกกิเลสหรืออารมณ์ภายนอกเล่นงานแทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว แต่เราจะมาฝึกเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกเหล่านั้น การทำนั้นต้องค่อยทำค่อยไป จะกำหนดเอาวันนั้นเวลานั้นจะเกิดผลแน่นอนนั้นย่อมไม่ได้ เพราะการทำจิตให้ปราศจาก อารมณ์ภายนอกนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งถ้าเราไม่เคยฝึกมาก่อน จะเป็นการลำบากมากทีเดียว แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ ในขั้นแรกของการอบรมจิตนั้น ท่านสอนให้ยึดเอาข้ออรรถ ข้อธรรม บทใดบทหนึ่งมาเป็นอารมณ์ บทใดก็ได้สำหรับเป็นเครื่องกำกับความคุมใจ ไม่เช่นนั้นจิตจะส่ายกวัดแกว่งไปสู่อารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยชินกับอามรณ์นั้นๆ แล้วก่อความทุกข์ให้เป็นที่เดือดร้อนอยู่เสมอ ท่านจึงสอนให้นำบทธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่น เราภาวนาบริกรรมว่า พุทโธๆ ธัมโมๆ หรือสังโฆๆ หรือ จะกำหนดให้มีอานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจ เข้าออกควบคู่ไปด้วยก็ได้ เช่น จะบริกรรมว่า พุท เข้า โธ ออก ดังนี้ คำว่าเข้าออกก็คือหมายกำหนดกองลมนั่นเอง หายใจเข้าก็กำหนดว่า พุธ หายใจออกก็กำหนดว่าโธ ดังนี้ และในขณะที่บริกรรมเราต้องมีสติควบคู่ไปด้วย เมื่อเรามีสติตามระลึกอยู่โดยการเป็นไปติดต่อโดยลำดับ จิตก็ไม่มีโอกาสจะแวะไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอก จิตก็จะค่อยหยั่งเข้าสู่ความสงบโดยลำดับ จิตใจขณะนั้น จะมีความสงบมาก ในขณะที่จิตสงบไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย กาลเวลาและสถานที่จะไม่มีเลย ในขณะนั้นจิตจะสงบอย่างเดียว เพราะจิตที่สงบจะไม่สำคัญมั่นหมายติดอยู่กับสถานที่ กาลเวลาที่ไหนเลย มีแต่ ความรู้ ที่ทรงตัวอยู่เท่านั้น นี่เรียกว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากการภาวนา จะเรียกว่าเป็นผลจากการภาวนาก็ได้ เราอยู่ในโลกนี้ เราต้องอยู่ให้ฉลาด ประกอบด้วยปัญญา ตัวเรารู้ว่า เราปฏิบัติผิด ไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพยายามแก้ไขที่ตัวเรา ให้ถูกต้อง คือ เราต้องหาอุบายวิธีอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรตัวเองจึงจะอยู่ให้เป็นสุขไม่วุ่นวายใจ อันนี้สำคัญมากทีเดียว สิ่งทั้งปวงพระพุทธเจ้าสอนพวกเราว่า ถ้าใครละความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงเสียได้ ผู้นั้นจะพบเห็นพระนิพพาน พระนิพพานอยู่เหนือความโลภ โกรธหลง ท่านว่าอย่างนี้ ความโลภ โกรธ หลง เป็นรากเหง้าของโลก ชาติใด ภาษาใด ก็มีสิ่งทั้งสามนี้ ทุกคนหนีไม่พ้น มีปัญหาอยู่ ถ้าทุกคนมีกันแล้วอย่างนี้จะทำประการใดดี ไม่คิดจะละสิ่งเหล่านี้บ้างหรือ บางคนถ้าจะละมันออกไปก็ยังเสียดายมันอยู่ ถือว่ามัน เป็นมิตรที่ดีต่อเราอยู่ ไม่ยอมให้มันตีตัวจากเราเลย อันนี้ก็ได้ชื่อว่าเราโง่กว่ากิเลส ปล่อยให้กิเลสเป็นนายเรา
ปัจฉิมบท
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ดำเนินชีวิตทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ตั้งแต่วัยเด็กได้เข้าถือเพศบรรพชิตเมื่ออายุ 16 ปี ออกศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ได้ฝึกฝนอบรมศาสนิกชนให้ประพฤติปฏิบัติชอบ ตามท่านมากมาย ได้สร้างสถานปฏิบัติธรรมเพื่ออนุชนนับไม่ถ้วน ได้แต่งเติมพระพุทธศาสนาให้คงสีสัน นำหลักธรรมปฏิบัติให้เข้าสู่จิตใจของชาวพุทธ นับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธมิอาจลืมเลือน ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรเพื่อพระนิพพาน เป็นเนื้อนาบุญของโลกโดยแท้
ข้อมูลจาก www.manager.co.th