พระพุทธยืนปางห้ามญาติ กรุวัดห้วยเสือ จ.เพชรบุรี
วันนี้ได้รับกล่องพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากต่างถิ่น แต่ไม่ได้เขียนชื่อผู้รับเป็นชื่อผม กลับเป็นชื่อของเพื่อนที่เคยอยู่ด้วยกันเมื่อสองปีที่แล้ว ผมจึงได้สอบถามไปที่เพื่อนว่า ใช่ชื่อเขาไหม ข้างในเป็นอะไร เปิดดูได้ไหม เผื่อมีมิจฉาชีพส่งสิ่งผิดกฎหมายมา เมื่อได้รับคำอนุญาตแล้วผมและเพื่อนอีกคนจึงได้ทำการเปิดกล่องพัสดุพร้อมกับถ่ายวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อกล่องถูกเปิดออกมาเป็นพระลักษณะคล้ายพระกรุ เนื้อดิน พิมพ์พระพุทธ ประทับยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นด้านหน้า พุทธกิริยาเหมือนห้าม จึงขอเรียกว่าพระปางห้ามญาติหรือห้ามสมุทร ด้านหลังลักษณะอูม ไม่มีอะไรนอกจากลายนิ้วมือกดองค์พระ
ผมได้ถ่ายรูปสอบถามไปที่เพื่อนที่เป็นเจ้าของตามหน้ากล่องพัสดุว่าพระเนื้อดินองค์นี้เป็นพระอะไร ที่ไหน คำตอบที่ได้คือ “พระกรุวัดห้วยเสือ จังหวัดเพชรบุรี”
ผมมีเวลาสืบค้นข้อมูลน้อย แต่พอสรุปคร่าว ๆ เกี่ยวกับพระกรุวัดห้วยเสือ ดังนี้
- พระกรุวัดห้วยเสือ เพชรบุรี จัดสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2460-2462 โดยพระยานิติธรรมธาดา มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดห้วยเสือ เพชรบุรี (วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา) แล้วบูรณะแล้วเสร็จในปี 2464
- ก่อนที่จะนำพระที่สร้างเข้าบรรจุกรุไว้ในเจดีย์ห้ายอดวัดห้วยเสือ ได้นำพระไปขอให้หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ได้เมตตาอธิษฐานจิตเสียก่อน
- มีข้อมูลระบุว่านำพระทั้งหมดบรรจุไว้ในพระเจดีย์ห้ายอด แหล่งข้อมูลเดียวกันยังระบุว่า พระมหารัชมังคลาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ได้นำพระชุดนี้เข้าพิธีที่วัดสารนาทธรรมารามในปี 2499 อีกด้วย 18 วัน 18 คืน นอกจากนั้นยังมีข้อมูลบางแห่งระบุว่า พระกรุดวัดห้วยเสือแตกกรุในปี 2515 ผมอ่านแล้วไม่มีเวลาศึกษามาก ทำให้ไม่เข้าใจ ถ้านำพระทั้งหมดเข้ากรุใน พ.ศ.2464 จะมีพระเข้าพิธีที่วัดสารนาทธรรมารามในปี 2499 ได้อย่างไร นอกจากไม่ได้นำพระเข้าบรรจุกรุทั้งหมด หรือกรุแตกก่อนปี 2499 แต่บางข้อมูลบอกว่าพระกรุวัดห้วยเสือแตกกรุเมื่อปี 2515 ซึ่งหลังพิธีที่วัดสารนาทธรรมาราม 15 ปี หรือผมอ่านไม่เข้าใจเอง ฝากท่านผู้อ่านไว้พิจารณาด้วยครับ
– พระพิมพ์นี้ บางท่านเรียกว่าพระร่วง ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเรียกพระร่วง ดูเหมือนว่าไม่รู้จะเรียกว่าพระอะไรแล้วเรียกพระร่วง
– บางท่านบอกว่าพิมพ์พระพนัสบดี แต่พระพนัสบดี ถูกค้นพบเมื่อ ปี พ.ศ.2474 คือถูกค้นพบหรือรู้จักพระพนัสบดีหลังจากที่มีการสร้างพระกรุห้วยเสือ (แต่พระพิมพ์ที่คล้ายพระพนัสบดีก็น่าจะมีก่อนนั้น แต่ก็เรียกว่า พระพนัสบดี)
– บางท่านเรียกว่า พระร่วงยืนปางประทานพร
– บางท่านเรียกว่า พระร่วงยืนเหยียบหัวจ้าวพยัคฆา
ข้อมูล :
uamulet.com
zoonphra.com