คำกรวดน้ำภาษาไทยโบราณ
บุญทานที่ทำ | กลายเป็นข้าวน้ำ | เครื่องทิพย์นานา |
เป็นวิมานทอง | เรืองรองโสภา | กับทั้งนางฟ้า |
พันหนึ่งบริวาร | เครื่องทิพย์ครั้งนี้ | ส่งถึงชนนี |
บิดาอย่านาน | ถึงญาติทุกหมู่ | ครูบาอาจารย์ |
พ้นทุกข์อย่านาน | ได้วิมานทอง | ฝูงเปรตทั้งหลาย |
นรกอสุรกาย | หมู่สัตว์ทั้งผอง | เต่า ปลา ปู หอย |
กุ้งน้อยเนืองนอง | จงตั้งใจปอง | รับเอาส่วนบุญ |
สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ | ตัวเรานี้ไซร้ | ได้กระทำทารุณ |
ด้วยกายน้ำใจ | ฝากไว้เป็นทุน | รับเอาส่วนบุญ |
อย่าเป็นเวรกรรม | อินทราเทวา | อีกทั้งหรหมา |
ท้าวเวสสุวรรณ | พระภูมิเจ้าที่ | พระอาทิตย์พระจันทร์ |
พระอังคารพุทธัญ | พฤหัสบดี | พระศุกร์พระเสาร์ |
เทพเจ้าทั้งหลาย | สิบสองราศี | พระยมพระกาฬ |
จตุโลกบาลทั้งสี่ | ครุฑานาคี | กินรีกินนรา |
เทพเจ้าทั้งหลาย | ทั้งหญิงและชาย | จงอนุโมทนา |
รับเอากุศล | ผลบุญนี้หนา | ทั้งพสุธา |
คงคาวารี | ชื่อว่าเข็ญใจ | ขอจงอย่าได้ |
ไปบังเกิดมี | ความยากอย่าได้เห็น | ขอเป็นเป็นเศรษฐี |
คฤหบดี | มนตรีพระยา | คนพาลอย่าได้พบ |
ขอให้ประสพ | คนมีปัญญา | เดชะกุศล |
ได้พ้นอสุรา | ขอให้ตัวข้า | พบพระศรีอาริย์ |
ได้ฟังคำสอน | จิตใจโอนอ่อน | สำเร็จอย่านาน |
ลุถึงเมืองแก้ว | กล่าวแล้วนิพพาน | ดับชาติสังขาร จากโลกโลกีย์ |
คำอธิษฐานภาษาไทยโบราณ
ขอเดชะบุญ | ตั้งจิตเจตนา | ศรัทธาเปรมปรีด์ |
ชื่อว่าเข็ญใจ | อย่าได้เกิดมี | แก่ตัวข้านี้ |
จนถึงนิพพาน | ทุกข์โศกโรคภัย | อัปรีย์จัญไร |
อย่าได้แผ้วพาน | ขอให้ชมชื่น | ข้ายืนยาวนาน |
ได้บวชลูกหลาน | ได้การกุศล | อุปัจเฉทะกะกรรม |
อย่าได้ครอบงำ | เข้าจลาจล | เมื่อข้าดับจิต |
ชีวิตวายชนม์ | เดชะกุศล | ช่วยแนะนำ |
เมื่อข้าดับจิต | ขอให้เนรมิต | บังเกิดเร็วไว |
ให้ได้วิมาน | ยวดยานสุกใส | สุมทุมเปลวไฟ |
อย่าได้เกิดมี | แม้นถือกำเนิด | กลับชาติมาเกิด |
ให้สูงศักดิ์ศรี | ในวงศ์ประยูร | สกุลผู้ดี |
ขัตติยะเมธี | มั่งมีเงินทอง | แก้วแหวนแสนทรัพย์ |
เนืองนองสมบัติ | อย่าได้อาทร | สมใจทุกอย่าง |
พงศ์เผ่าพวกพ้อง | วงศ์ญาติพี่น้อง | พรั่งพร้อมบริบูรณ์ |
บิดามารดา | อยู่ในศีลห้า | ศีลแปดพร้อมมูล |
เมื่อยังไม่ได้ | ขอให้ใจบุญ | ผลธรรมอนุกูล |
มโนเปรมปรีดิ์ | เกิดชาติใดใด | ห่างทุกข์ห่างไข้ |
ขอใจยินดี | ศีลห้าประการ | ผลทานบารมี |
สมบัติมากมี | ยิ่ง ๆ ขึ้นไป | ดวงจิตอิจฉา |
โทโสโกรธา | โมโหหลงใหล | ขอจงห่างสิ้น |
มลทินอันใด | จงหลีกหนีไกล | จากกิเลสสันดาน |
อะเสวะนา | พระเจ้าเทศนา | พาลาอหังการ |
อย่าได้เกิดร่วม | เคหะสถาน | ขอพบเมธาจารย์ |
ผู้มีปัญญา | ให้เป็นประโยชน์ | รู้แจ้งในโสต |
คุณโทษโทษา | ข้าคิดสิ่งใด | จงเป็นวาจา |
เผยพจน์ออกมา | ถูกต้องบาลี | ปราศจากมุสา |
ให้เป็นสัมมา | กล่าวคำวาที | คำใดมีผล |
กุศลช่องชี้ | รู้แท้เมธี | ยกอรรถออกผล |
ข้าขออธิษฐาน | คุณศีลคุณทาน | กองการกุศล |
สมบัติพัสถาน | โอฬารจงดล | สำเร็จมรรคผล |
เหมือนอุบลวรรณา | เกิดดับกลับชาติ | ยังติดมิขาด |
ปราศจากราคา | จงมีคู่ครอง | ให้ต้องวิญญาณ์ |
มีบุตรธิดา | ให้ข้าช่วงใช้ | ว่านอนสอนง่าย |
รูปโฉมเฉิดฉาย | ล้ำเลิศเกรียงไกร | มะเร็งกลากเกลื้อน |
ขี้เรื้อนใดใด | กุฎฐังจัญไร | อย่าได้เกิดมี |
ขอให้รูปกาย | ข้างามเฉิดฉาย | ไร้สิ่งราคี |
เป็นที่รักใคร่ | ชอบใจยินดี | ดังแก้วมณี |
ไม่มีมลทิน | ขออย่าไกลจาก | วิบัติพลัดพราก |
จากบ้านฐานถิ่น | บิดามารดา | พร้อมหน้าอยู่กิน |
จนกว่าสูญสิ้น | ถึงดับชีวา | โซ่ตรวนจองจำ |
ชั่วช้าระยำ | อย่าต้องกายา | จงได้ไกลจาก |
เหมือนดินกับฟ้า | พระอาทิตย์จันทรา | อย่ามาราวี |
เดชะกุศล | ตั้งสัตย์อธิษฐาน | พานพบพระชินสี |
นับว่าเป็นบุญ | กุศลช่วยชี้ | พบองค์มุนี |
โปรดสัตว์สงสาร | ได้ฟังคำสอน | จิตใจโอนอ่อน |
พบพระศรีอาริย์ | ได้กราบได้ไหว้ | จิตใจเบิกบาน |
บรรลุนิพพาน | สมปรารถนา | ขอเป็นโอรส |
ท้าวแดนไตรทศ | ธิราชราชา | เป็นพระภิกษุณี |
ยินดีศรัทธา | ดับชาติสังขาร | เข้าสู่นิพพาน |
ที่มา : เว็บไซต์วัดป่ามหาชัย
ที่ผมนำมาประกอบบบทความนี้ เป็นหนึ่งในคำกรวดน้ำเพื่ออุทิศบุญ และเป็นหนึ่งในคำกรวดน้ำที่เป็นภาษาไทย อย่างที่ผมได้กล่าวในบทความ กำ(คำ)กรวดน้ำแบบพื้นเมืองเหนือ (บทอิทัง) คำอุทิศส่วนบุญ การกรวดน้ำเป็นหนึ่งในวิธีการอุทิศบุญไป สำคัญคือบุญและเจตนาในการอุทิศไปส่วนผู้รับต้องอนุโมทนาบุญนั้น ส่วนคำกรวดน้ำหรือคำอุทิศบุญนั้นจะเป็นแบบไหนก็ได้ที่แสดงเจตนาในการอุทิศบุญของเราไป แต่บางท่านอาจจะไม่รู้จักวิธีการใช้เจตนาอุทิศบุญไปจึงต้องมีคำกล่าวสำหรับอุทิศ
ข้อดีอย่างหนึ่งของการกล่าวตามคำอุทิศบุญที่เป็นภาษาไทย คือเราเข้าใจความหมาย เป็นการทำเจตนาของเราให้หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการอุทิศบุญได้อย่างทั่วถึงตามสัตว์ บุคคล ภพภูมิที่เราได้กล่าวไปตามคำอุทิศบุญนั้น ๆ
คำกรวดน้ำภาษาไทยโบราณ และ คำอธิษฐานภาษาไทยโบราณ เป็นทั้งคำแสดงเจตนาในการอุทิศบุญไปให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิต่าง ๆ ทั้งที่เคยเห็นและไม่เคยเห็น ทั้งที่เวรต่อกันและไม่มีเวรต่อกันหรือเป็นกลาง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นคำอธิษฐานบุญไปในตัวด้วย เป็นการตั้งเป้าหมายของผู้ทำบุญเอง จึงถือว่่าเป็นชาญฉลาดของคนโบราณ เป็นอีกหนึ่งบทอุทิศบุญ บทอธิษฐานบุญที่น่าใช้เป็นแบบอย่าง