บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาจากความสงสัยในปัจจุบันทันด่วน หมายความว่าผมไม่ได้ไปศึกษาหาข้อมูลอะไรมากมาย ผมตั้งความสงสัยขึ้นมาเอง และคิดคำตอบเอาเอง ส่วนท่านจะคิดตามหรือเปล่านั้น แล้วแต่วิจรณญาณของท่าน
หากท่านเคยนำรถไปให้พระเจิมที่วัด หรือเคยนิมนต์พระมาเจิมบ้าน บริษัทห้างร้านสำนักงาน จะสังเกตเห็นว่าโดยมากโดยเฉพาะพระในต่างจังหวัด ท่านจะเจิมด้วยตัวอักขระที่เราอ่านไม่ออก ซึ่งมีทั้งรูปแบบอักขระปกติ (แต่เราอ่านไม่ออกเพราะไม่ใช่อักษรไทย) และมาในรูปแบบอักขระประดิษฐ์อย่างสวยงามที่เรียกกันว่า “อักขระยันต์” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ยันต์” ทั้งหมดนี้เป็นอักษรขอม หรือหากใครนึกภาพไม่ออก ให้หยิบเหรียญที่ท่านห้อยคออยู่ขึ้นมาส่องดู หากเจออักขระที่อ่านไม่ออก นั่นแหล่ะคืออักษรขอม คำถามของผมคือ ทำไมจึงต้องใช้อักษรขอม ทำไมจึงเชื่อว่าอักษรมีความศักดิ์สิทธิ์ ใครเป็นผู้ให้อักษรขอมมีความศักดิ์สิทธิ์
ทำไมต้องใช้อักษรขอม
ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย ดินแดนแถบนี้อยู่ภายใต้อาณาจักรขอม ดังนั้น อักษรขอมจึงแพร่หลายไปพร้อมกับวัฒนธรรมเนื่องจากอักษรขอมคนสมัยก่อนมีการบันทึกคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น พระไตรปิฎกอักษรขอม ตำราไสยศาสตร์ มนต์คาถา เลขยันต์ ตำรายาสมุนไพร วรรณคดี ตำรามหาพิชัยสงคราม เป็นต้น ผู้ที่จะเรียนเนื้อความของตำราเหล่านี้ จึงต้องเรียนอักษรขอมจึงจะเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ที่มีการบันทึกไว้ โดยเฉพาะตำราลงเลขยันต์ต่าง ๆ ในตำราเขียนอธิบายวิธีทำเป็นอักษรขอม ผู้เรียนเลขยันต์จึงต้องลงเลขยันต์เป็นอักษรขอมตาม แต่หากยุคสมัยนั้นอักษรไทยมีอิทธิพลมากกว่า (อักษรไทยมีมาทีหลังอักษรขอม) มีการบันทึกพระไตรปิฎก ตำราไสยศาสตร์ มนต์คาถา เลขยันต์ ตำรายาสมุนไพร วรรณคดี ตำรามหาพิชัยสงคราม หรือตำราต่าง ๆ เป็นอักษรไทย ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนอักษรขอม การลงอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ก็ต้องเป็นอักษรไทยตามตำราที่บันทึกแต่เดิม
ทำไมอักษรขอมจึงขลัง ใครเป็นผู้มอบความศักดิ์สิทธิ์ให้อักษรขอม
ผมไม่กล่าวว่าอักษรขอมมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ผมต้องการอธิบายว่า ทำไมจึงเชื่อว่าอักษรขอมมีความศักดิ์สิทธิ์
1. เพราะอักษรขอมใช้เป็นอักษรที่บันทึกคัมภีร์สำคัญโดยเฉพาะพระไตรปิฎกอันเป็นพระธรรมคำสอนของศาสดาเอกในโลก ซึ่งเรามีความเชื่อว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ฉะนั้น อักษรใดที่คนในสมัยนั้นเคยเห็นอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก จึงเชื่อว่าอักษรนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก บางแห่งเรียกอักษรนั้นว่า อักษรธรรม แม้จะนำอักษรนั้นไปเขียนเป็นตำราไสยศาสตร์ มนต์คาถา เลขยันต์ ตำรายาสมุนไพร ตำรามหาพิชัยสงคราม ก็เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ด้วย
2. เพราะความเชื่อความศรัทธาที่ต่อตำราที่เรียน มีความเชื่อมั่นในมนต์คาถา และครูอาจารย์ที่ถ่ายทอดมาให้เป็นอักขระขอม จึงมีความเชื่อว่าอักขระหรืออักษรขอมมีความศักดิ์สิทธิ์ตามที่ตำราและครูอาจารย์ได้กล่าวไว้
3. เพราะความยึดมั่นถือมั่น หรีอที่เรียกว่า อุปาทาน คือหากลงยันต์หรือเจิมเป็นอักขระขอม หรืออักขระโบราณที่อ่านไม่ออก (คนดูอ่านอ่านไม่ออก) ก็จะเกิดความยึดมั่นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าเขียนเป็นอักษรไทย แล้วใคร ๆ ก็อ่านออก ความยึดมั่นถือมั่นก็จะลดลง ยิ่งแปลได้ความยึดมั่นถือว่ามั่นว่าขลังยิ่งลดลงหรือไม่มีเลย อาจารย์แต่โบราณจึงกล่าวว่า หากเรียนคาถาไม่ต้องแปลจะได้มีความศักดิ์สิทธิ์
ความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของอักษรขอมไม่ได้มีใครเป็นผู้ประทานให้ ไม่มีใครให้พลังอำนาจความศักดิ์สิทธิ์แก่อักษรขอม ความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ที่ตัวอักขระของชาติใด ในยุคนี้ขอมหรืออักขระขอมไม่ได้มีอิทธิพลใด ๆ ต่อความเป็นอยู่ของคนไทย เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของขอม จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้อักษรขอม (แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรเรียนรู้ไว้) แม้พระไตรปิฎกก็ใช้อักษรไทยแทนอักษรขอมนับร้อยกว่าปีแล้ว
หมายเหตุ
ภาษา หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้พูด หรือเขียนเพื่อสื่อความหมายของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือวงการใดวงการหนึ่ง และอาจหมายถึง เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความหมายได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษามือ ภาษาท่าทาง
อักขระ, อักขร หรือ อักษร หมายถึงตัวหนังสือ ทั้งพยัญชนะและสระ