เชื้อไวรัสอีโบลาเป็นเชื้อมรณะที่ติดแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าเชื้ออื่นๆ ในปัจจุบันและกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักทางแอฟริกาตะวันตก ทั้งยังลุกลามระบาดเชื้อไปยังอีกหลายประเทศในขณะนี้ เพราะฉะนั้น แก้วใสจึงไม่รอช้า… พาคนรักสุขภาพมาทำความรู้จักเชื้อไวรัสหรือโรคอีโบลา เพื่อจะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตระหว่างวันนั่นเอง เป็นอย่างไรบ้างนั้น เรามาดูกันเลยค่ะ
สายพันธุ์ไวรัสอีโบลาและการระบาดครั้งแรก
เชื้อไวรัสอีโบลาเกิดการระบาดครั้งแรกขึ้นเมื่อปี 2519 ที่ประเทศซูดานและซาร์อีหรือประเทศคองโกในปัจจุบัน โดยจำแนกได้ทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ได้แก่
- อีโบลา-ซาร์อี (Ebola-Zaire)
- อีโบลา-ซูดาน (Ebola-Sudan)
- อีโบลา-โกตดิวัวร์ (Ebola-Côte d’Ivoire)
- อีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston)
- อีโบลา-บันดิบูเกียว (Ebola-Bundibugyo)
แต่ละชื่อสายพันธุ์ล้วนถูกตั้งตามสถานที่ที่เกิดการระบาดขึ้นนั่นเอง ซึ่งเชื้อไวรัสอีโบลา-ซาร์อีเป็นสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักทางทวีปแอฟริกาตะวันตกในขณะนี้ และยังเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตได้สูงมากถึง 80-90% ขณะที่สายพันธุ์อีโบลา-เรสตันหากติดเชื้อแล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยในร่างกาย
การแพร่เชื้อไวรัสอีโบลา
เชื้อไวรัสมรณะดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน โดยผ่านการสัมผัสจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย เลือด เหงื่อ น้ำมูก ปัสสาวะและอสุจิ ตลอดจนถึงสิ่งของต่างๆ รอบตัวที่ผ่านการใช้มือสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ราวจับต่างๆ รวมถึงการสัมผัสกับสัตว์ที่ได้รับเชื้อ
อาการของโรคอีโบลา
หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาไปแล้วอาการของโรคจะเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถสังเกตได้จากอาการไข้ขึ้น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปวดข้อ นอกจากนี้ การติดเชื้อไวรัสยังส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกภายในและภายนอกร่างกาย บางรายมีอาการหนักถึงขั้นกระทบต่อระบบหายใจ กลืนอาหารลำบาก เจ็บคอ เจ็บแน่นหน้าอก มีอาการตาแดง สะอึก ไอและมีผื่นขึ้นตามตัว อีกทั้งยังมีอาการเลือดออกทางตา หู จมูกและปาก
เหล่านี้ล้วนเป็นอาการชี้ชัดของโรคอีโบลาทั้งสิ้น โดยในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 8-10 วัน แม้ว่าอันที่จริงแล้ว เชื้อไวรัสดังกล่าวจะมีระยะในการฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-21 วันก็ตาม ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการตามที่แจงไปข้างต้นก็ต้องหมั่นเฝ้าสังเกตอาการของตัวเองต่อเนื่องเป็นระยะ ไม่ควรชะล่าใจว่าตนเองอาจเป็นเพียงการเจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดาแต่เพียงเท่านั้น หากเราฉุกคิดและตระหนักถึงโอกาสในการติดเชื้อโรคอีโบลาสักนิด ก็ย่อมรับมือได้ทันการณ์ก่อนที่จะสายไปมากกว่านี้ได้แน่นอนค่ะ
การป้องกันและรักษาโรคอีโบลา
นับเป็นเรื่องที่น่าใจหายยิ่งนัก แม้ว่านับวันการแพร่ระบาดจะคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนและยังมีผู้ติดเชื้อโรคไปจำนวนหลายพันคนแล้วก็ตาม หากก็ยังไม่มีการค้นพบวิธีรักษาหรือมีวัคซีนป้องกันไวรัสอีโบลาได้อย่างโดยตรง กรณีที่มีผู้ป่วยติดเชื้อในตอนนี้ แพทย์ทำได้เพียงให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น โดยคอยควบคุมระดับของเหลวและอิเล็กโตรไลท์ภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในกระแสเลือดตลอดจนถึงให้การรักษาไปตามอาการติดเชื้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เพียงเท่านั้น
ปัจจุบันสำหรับเชื้อไวรัสอีโบลานั้นยังคงเป็นเชื้อโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และยังสร้างความกังวลให้หลายคนตรงที่มนุษย์ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ แต่สำหรับประเทศไทยก็ยังนับว่ามีโอกาสเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดของเชื้อ
ทว่าอย่างไรก็ดี เพื่อไม่เป็นการประมาท แก้วใสเห็นว่าเราทุกคนก็ควรหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพให้แข็งแรงกันไว้ก่อนจะดีกว่า โดยเริ่มทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนพักผ่อนเพียงพอ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรักษาสุขอนามัยของร่างกาย ตลอดจนไม่ข้องเกี่ยวหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคทุกชนิด เพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรงไว้ก่อนก็ย่อมเป็นการป้องกันการติดเชื้อจากโรคต่างๆ ได้ดีที่สุดแล้วค่ะ