เคล็ดไม่ลับ…ประมูลพระจากไลฟ์สดอย่างไร ให้ปังสุด อ่านดูหัวข้อแล้วเหมือนว่าผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญในการประมูลพระหรือซื้อพระเครื่องจากไลฟ์จนถึงกล้าใช้คำว่า …ให้สุดปัง แต่อันที่จริงแล้วเขียนมาจากประสบการณ์ (อันล้มเหลว) ของผมเองในการประมูลพระจากไลฟ์สด ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่เดือนช่วงพักอยู่บ้านอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19
จากการประมูลพระจากทางไลฟ์สดในเวลาไม่กี่เดือนนี้ทำให้ผมได้เรียบรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง จึงขออนุญาตนำมาเขียนเพื่อเตือนสติเตือนความจำและใช้เป็นแนวทางให้แก่ตนเอง บทความนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจว่าจะประมูลพระจากไลฟ์สดหรือไม่ ต้องทำอย่างไร วางแผนอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร จึงจะทำให้ได้พระมาแล้วปลื้มใจมากที่สุด บทความนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับท่านผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านหนาวร้อน ผ่านการเจ็บปวดมาบ้างแล้ว หากท่านหลงเข้ามาอ่านโปรดอย่าคิดว่าผมเอามะพร้าวมาขายสวนเลยครับ
ในบทความนี้ คนที่นำพระมาขายในไลฟ์ มาประมูลพระแบบไลฟ์สด ผมขอเรียกว่าคนไลฟ์พระเครื่อง หรือคนไลฟ์สด ส่วนคนซื้อ คนเคาะราคา ผมเรียกว่าคนประมูล
ประมูลพระจากไลฟ์สด…ให้ปัง
- ประมูลพระเพื่ออะไร คุณต้องรู้จักเป้าหมายของตนเองเสียก่อนว่า เข้ามาหาพระเครื่อง ประมูลพระเครื่องเพื่ออะไร เพื่อหาพระดี ๆ ที่ชอบใจราคาถูกไปบูชาเอง หรือเพื่อหาพระไปขายต่อ เมื่อคุณทราบจุดประสงค์ของตนเองแล้ว จึงค่อยกำหนดเป้าหมายรายการที่จะประมูลต่อไป
- เตรียมเงินให้พร้อม ผู้ที่จะประมูลพระจากไลฟ์พระเครื่อง ต้องสำรวจตรวจสอบความพร้อมในด้านการเงินของตนเองเสียก่อนว่าพร้อมจ่ายไหม เมื่อประมูลพระแล้วสามารถโอนได้ทันทีไหม หากซื้อพระออนไลน์ไปจะมีปัญหากับทางครอบครัวไหม แฟนจะว่าไหม ต้องพร้อมทั้งด้านการเงินและความเข้าใจที่ดีต่อกันของคนในครอบครัวเสียก่อน
- คนไลฟ์สดเต็มร้อยกับลูกค้าแค่ไหน ทุกวันนี้มีแม่ค้าพ่อค้าไลฟ์สดพระเครื่องมากมายในแต่ละวัน กล่าวได้ว่ามีไลฟ์สดพระเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ผมตื่นขึ้นมาตอนตีสี่ก็ยังเจอไลฟ์สดพระเครื่อง ฉะนั้น เราจึงมีโอกาสเลือกติดตามพ่อค้าแม่ค้าไลฟ์พระอย่างมากมาย ให้เราค่อย ๆ ติดตาม ค่อยสังเกตไปว่าคนไลฟ์พระเครื่องมีความจริงใจต่อลูกค้ามากแค่ไหน มีความเป็นกลางต่อลูกค้าทุกคนหรือไม่ มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้ามากแค่ไหน สำหรับคนไลฟ์สดพระเครื่องนั้นแยกเป็น 2 ประเภท ประเภทที่ 1 ไลฟ์สดพระเครื่องแบบรับประกันแท้ ประเภทที่ 2 คือไลฟ์สดพระเครื่องแบบวัดดวง หมายความว่าคนประมูลหรือคนซื้อต้องดูพระเอง ซึ่งคนไลฟ์พระเครื่องประเภทที่ 2 นี้ที่ผมจะกล่าวถึง คนไลฟ์สดพระวัดดวงต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าทุกคนให้ความสำคัญต่อลูกค้าทุกคน ได้พระอย่างไรก็ลงขายอย่างนั้น ไม่แยกพระออกขายก่อน คนไลฟ์บางคนผมสังเกตว่ามีการคัดพระออกก่อน คือให้แฟนคัดพระแท้ราคาแพงออกเพื่อแยกขายอีกตลาดหนึ่งซึ่งได้ราคาดีหลายเท่าตัว เกี่ยวกับมารยาทของคนไลฟ์พระเครื่องผมไว้ขอเขียนอีกบทความหนึ่งครับ
- ดูฐานะและอาชีพของเจ้าของพระเดิม ผมยอมรับว่าในการประมูลพระจากไลฟ์สดนั้น ฐานะและอาชีพของเจ้าของพระที่คนไลฟ์พระเครื่องไปเหมาพระมานั้นมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ถ้าเจ้าของพระมีฐานะดีก็เป็นไปได้มากที่เขาจะมีพระเครื่องดี ๆ เพราะเหตุว่าคนมีฐานะมักที่จะคบหาสมาคมกับคนที่มีฐานะด้วยกัน มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง มีการมอบสิ่งดี ๆ แลกเปลี่ยนสิ่งดี ๆ ต่อกัน และหนึ่งในนั้นที่คนในสังคมไทยนิยมมอบให้แก่กันก็คือพระเครื่อง อาชีพของเจ้าของพระก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยเช่นกัน หากเจ้าของพระมีอาชีพเป็นทหาร ก็เป็นไปได้สูงที่คนในอาชีพนี้จะสะสมพระเครื่องแท้ ๆ ที่สร้างขึ้นมาในยุคสงครามอย่างพระพุทธชินราชอินโดจีน หรือสะสมพระเครื่องแท้ ๆ ที่สร้างโดยทหาร อย่างพระเครื่องหลวงปู่ฝั้นเป็นต้น ฉะนั้น ฝากถึงผู้นำพระเครื่องมาไลฟ์ หากได้ภาพบ้านและข้อมูลอาชีพของเจ้าของพระที่เราไปเหมามาโพสต์บอกด้วยยิ่งดี รับรองไลฟ์นั้นไฟท่วมจอแน่
- ดูการจัดเก็บพระของเจ้าของเดิม ข้อสังเกตนี้ ผมได้จากนักสะสมพระเครื่องรุ่นพี่ของผม ท่านให้ข้อสังเกตว่า บ้านไหนจัดเก็บพระดี แยกเป็นหมวดหมู่ เช่น พระเลี่ยมทองแยกเก็บต่างหาก พระเลี่ยมเงินแยกเก็บต่างหาก เหรียญแยกเก็บเป็นสัดส่วนของเหรียญ พระเนื้อผง เนื้อชินแยกเก็บเป็นหมวด ๆ ไป บ่งบอกว่า เจ้าของเดิมเป็นคนรักพระเครื่อง มีความสนใจศึกษาพระเครื่องเป็นอย่างดี รู้คุณค่าของพระเครื่อง มีการคัดแยกพระเครื่องเก็บไว้โดยเฉพาะ มีการเสาะแสวงหาพระดี ๆ ใหม่ ๆ มาเก็บไว้ จึงเป็นไปได้สูงว่าพระเครื่องที่ถูกเก็บไว้อย่างดีนั้นเป็นพระแท้ ๆ ส่วนเจ้าของพระเครื่องบ้านไหน เก็บรวม ๆ ไว้ในตะกร้า ไม่รู้อะไรเป็นอะไรรวมกันหมด แสดงว่าเจ้าของพระไม่ได้ให้ความสนใจพระเครื่องเลย ไม่เห็นคุณค่าของพระเครื่องเลย ไม่มีการแสวงหาพระดี ๆ มาเก็บไว้ในบ้านหรือครอบครอง ที่มีส่วนมากก็เป็นพระกฐินผ้าป่าหรือพระแจกมาแล้ววางทิ้งไว้ในตะกร้า
- ประมูลพระไม่ต้องรีบร้อน ข้อนี้เขียนจากความผิดพลาดของผมเอง เมื่อทำการประมูลพระใหม่ ๆ อยากได้อะไร ๆ เคาะ ๆ เห็นแม่ค้าคนไหนไลฟ์พระถูกใจ เคาะ ๆ วันหนึ่ง ๆ หมดไปหลายหมื่น หมดทุกวันด้วย เคาะ ๆ ประมูลไว้โดยคิดว่าเก็บไว้ก่อน ค่อยส่องทีหลัง พอรู้ตัวอีกทีมีพระนับหมื่นส่องไม่ทันไม่รู้จะเก็บที่ไหนที่นี้ นี่คือปัญหาละ ฉะนั้น พระเครื่องมีมาเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ซื้อ เลือกที่เราสนใจอยากศึกษาจริง ๆ เช่น เราอยากศึกษาเหรียญหลวงปู่ทิม ก็เคาะเหรียญหลวงปู่ทิมมาศึกษา มาดูเป็นให้ขาดก่อนแล้วจึงค่อยขยับไปเคาะพระเครื่องรายการอื่น
- ต้องวางแผนทุกครั้งที่ต้องจ่าย เมื่อก่อนผมไม่ค่อยคิดเรื่องนี้ ทุกวันนี้คิดทุกครั้งที่มีการเคาะเพื่อจ่ายเงิน ผมต้องวางแผนว่า ผมเคาะประมูลพระมาได้กี่องค์ เป็นจำนวนเงินที่บาทที่ต้องจ่าย มีเปอร์เซ็นต์แท้กี่องค์ และพระแท้ที่ได้มาแม้องค์เดียวต้องท่วมทุนพระทั้งหมดที่จ่ายไปในรอบนั้น ยกตัวอย่าง เคาะพระมาได้ 5 องค์จ่ายไป 10,000 บาท หากพระที่ผมเคาะมาแท้ 1 องค์ องค์เดียวที่แท้นั้นผมต้องขายได้ในราคา 10,000 ขึ้นไป องค์อื่น ๆ ถ้าไม่แท้ก็ถือว่าเท่าทุน แต่หากแท้ก็ถือว่าเป็นกำไร (นี้เป็นทฤษฎีที่ตั้งไว้)
- เช่าพระต้องเผื่ออนาคตด้วย แต่ก่อนผมเช่าพระเอาความชอบเป็นหลัก คิดเสียว่าเช่ามาบูชาเอง ใช้เอง ไม่ได้คิดเผื่อคนอื่น จึงไม่สนใจพระเก๊แท้ ไม่สนใจค่านิยม คิดแต่ว่าจะเก็บไว้บูชาตลอดชีวิต นานเข้าพระเริ่มเยอะ องค์ที่คิดว่าจะเก็บไว้ตลอดชีวิตก็เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรดี จะเก็บไว้ที่ไหน จะขายก็ไม่ออกเพราะคนไม่นิยมกัน ขายไม่ได้ราคา ฉะนั้น เช่าพระต้องคิดเผื่ออนาคตด้วย อย่าเอาความชอบเป็นหลัก ชอบได้แต่อย่างทิ้งกลุ่ม หากวันหนึ่งเราจำเป็นต้องขายก็จะขายได้ทันทีในราคาที่งาม