ปีใหม่ของประเทศพม่า หากยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติในปฏิทินสากล วันปีใหม่ของพม่าจะตรงกับในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเหมือนกับความเชื่อและประเพณีปีใหม่ไทย ที่ยึดตามความเชื่อเดิมว่าปีใหม่ตรงกับวันสงกรานต์ หรือเดือนเมษายนของทุกปีนั่นเอง หากต้องการฉลองปีใหม่พร้อมกับการสาดน้ำ และร่วมในประเพณีอันยิ่งใหญ่ ประเทศพม่าก็เป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการไปเยือนและท่องเที่ยวไม่แพ้ที่อื่นใดเลยนั่นเอง
เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ของประเทศพม่า
พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะประเพณีปีใหม่และวันสงกรานต์ ซึ่งมีหลากหลายประเพณีที่น่าสนใจในวันขึ้นปีใหม่ตามแบบของพม่า โดยประเพณีเหล่านั้นมีดังนี้
ประเพณีตะจานหรือปีใหม่พม่า
ประเทศพม่ามีการจัดงานเทศกาลตะจาน หรืองานสงกรานต์ และปีใหม่ของชาวพม่า ก็เป็นประเพณีโบราณของชาวพม่ามากว่า 3,000 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ใครที่อยากไปเที่ยวเทศกาล ปีใหม่ตามประเพณีเก่าแก่ของพม่า จึงต้องไปช่วงระหว่างวันที่ 16 – 17 เมษายนของทุกปี เพื่อจะได้ร่วมงาน ปีใหม่และเล่นสาดน้ำ ถือเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวพม่าด้วย ซึ่งจากการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้วันปีใหม่ของพม่าเหมือนในประเทศไทย คือ มีการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในวันที่ 31 ธันวาคม – 1 มกราคมของทุกปีด้วย แต่หากยึดถือประเพณีเดิมวันปีใหม่ จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน พร้อมกับการจัดงานสงกรานต์ และมีวันหยุดราชการของพม่าถึงวันที่ 22 เมษายนของทุกปี
ความเชื่อในการชะล้างสิ่งไม่ดีในปีเก่า
ความเชื่อในการจัดงานตะจาน และปีใหม่ของชาวพม่ามาจากประเพณีโบราณ ซึ่งมีการสาดน้ำและเล่นสงกรานต์ในวันปีใหม่ นอกจากจะเป็นการคลายร้อนแล้ว ยังมีความเชื่อว่าน้ำจะช่วยชำระ หรือลบล้างสิ่งที่ไม่ดีในปีเก่าให้หมดไป เพื่อพร้อมในการรับสิ่งดี และความเป็นสิริมงคลที่จะเข้ามาในปีใหม่ หากไปเที่ยวพม่าในช่วงเดือนเมษายน จะได้เห็นชาวพม่าและนักท่องเที่ยว สาดน้ำเล่นกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งจะได้เห็นชาวพม่าและนักท่องเที่ยวออกมาตามถนน และมีรถบรรทุกน้ำมาสาดผู้คน ตามท้องถนนให้เปียกโชกทั่วกัน เป็นภาพที่สนุกสุดๆ และภาพความสนุกสนานนั้นก็เหมือนกับในประเทศไทย
ตัดเล็บและสระผมก่อนไปทำบุญที่วัด
ความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวพม่า นั่นคือ การตัดเล็บให้สะอาด และอาบน้ำสระผม ชำระล้างสิ่งสกปรกให้หมดก่อนที่จะไปทำบุญที่วัด เพราะเชื่อว่าเป็นการตัดสิ่งที่ไม่ดี ตลอดจนโชคร้ายต่างๆ ในปีเก่าให้หมดไป เพื่อเปิดรับความโชคดีที่จะมาในปีใหม่นี้ด้วย ซึ่งความเชื่อนี้ชาวพม่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะปฏิบัติต่อกันมาอย่างเคร่งครัด และสอนให้กับลูกหลานปฏิบัติต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ประเพณีตะจานในอดีตและปัจจุบัน
ในอดีตพม่าจัดเทศกาลตะจานหรือวันปีใหม่จะเล่นกันอย่างนุ่มนวลมาก มีการเล่นสาดน้ำอย่างเบาๆ โดยใช้ยอดหว้าอ่อนชุบน้ำซึ่งมีน้ำอบน้ำหอมผสม แล้วแตะเบาๆ บนไหล่หรือบนตัวของอีกคน สร้างความหอมและความประทับใจให้เกิดขึ้น ส่วนปัจจุบันการเล่นน้ำสงกรานต์ และวันปีใหม่ของพม่า มีความเปลี่ยนไปตามความเจริญของสังคม โดยการใช้รถบรรทุกน้ำและปืนฉีดน้ำ ออกไปตามถนนต่างๆ เพื่อสาดน้ำกับคนที่เดินเล่นน้ำตามท้องถนนให้เปียก ทำให้ภาพการเล่นน้ำเนื่องในประเพณีตะจาน และวันปีใหม่ในพม่า แตกต่างจากในอดีตมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเพณีนี้ยังคงอยู่คู่กับประเทศพม่า
ประเพณีของสายบุญพม่าเนื่องในวันปีใหม่
เนื่องในวันปีใหม่ของชาวพม่า มีประเพณีที่เหมือนกับประเทศไทยมาก อาจจะเนื่องมาจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน และมีวัฒนธรรมและความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณก็ได้ โดยประเพณีต่างๆ เหล่านั้นเน้นการสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งมีดังนี้
1.การสรงน้ำพระ
ประเพณีการสรงน้ำพระ เป็นประเพณีที่ชาวพม่าปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะเชื่อว่าสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง และก่อให้เกิดบุญหนุนนำสิ่งดีดีเข้ามาในชีวิต
2.การถือศีลปฏิบัติธรรม
ชาวพม่าโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันไปที่วัดเพื่อถือศีลและปฏิบัติธรรม ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความสบายใจ และมีจิตใจดีงามเริ่มตั้งแต่ปีใหม่นี้
3.ทำความสะอาดวัดหรือศาสนสถาน
อีกหนึ่งประเพณีที่ชาวพม่านิยมปฏิบัติเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ คือ การช่วยกันทำความสะอาดวัด และศาสนสถานต่างๆ ให้มีความสะอาดเรียบร้อย โดยเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะเกิดบุญกุศลต่อผู้ปฏิบัติเอง และหลังจากหมดลมหายใจไปแล้ว จะได้ไปเกิดในที่ดีตามอำนาจของผลบุญ
4.ทำบุญตักบาตรที่บ้าน
เพื่อเป็นการเปิดบ้านรับโชคลาภ และสิ่งที่เป็นสิริมงคล เริ่มต้นตั้งแต่ปีใหม่นี้ ชาวพม่านิยมเปิดบ้าน และจัดงานทำบุญถวายอาหาร ให้กับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทำให้บ้านหลังนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดทั้งปี
5.อาบน้ำให้คนชราที่ไร้ญาติ
ชาวพม่ายังเป็นสังคมที่ค่อนข้างมีความเอื้ออาทรต่อกัน นี่คือภาพที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นเมื่อไปเยือนในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ของพม่านี้ คือ การช่วยอาบน้ำให้กับคนชราที่ไร้ญาติ ถือเป็นการแสดงความรักเมตตาต่อเพื่อนร่วมชาติ อีกทั้งเป็นการสร้างบุญตามความเชื่อของชาวพม่าด้วย
6.การปล่อยสัตว์ในวันปีใหม่
การปล่อยสัตว์ต่างๆ ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวพม่า จะสามารถเห็นได้อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก เช่น นก ปลา รวมถึงสัตว์ใหญ่ ได้แก่ วัว ควาย เป็นประเพณีที่ชาวพม่าชอบทำ ซึ่งประเพณีเหล่านี้เหมือนกับประเพณี และความเชื่อของประเทศไทย รวมทั้งหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน พม่าหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย ทั้งประเพณีและความเชื่อต่างๆ จึงมีหลายอย่างที่เหมือนกัน ทำให้บางสิ่งบางอย่างอาจแยกไม่ได้ว่าเป็นประเพณีของใคร อย่างไรก็ตาม ประเพณีเหล่านั้นก็ถือว่าได้ช่วยจรรโลงสังคมและประเทศให้อยู่ได้จนถึงปัจจุบัน