ในสมัยเด็ก (คิดแล้วไม่น่าแก่เร็วเลย) ผมเดินทางไปหาของป่ากับพ่อผมเป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งได้เดินทางผ่านพุ่มไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นลำเป็นดิ้ว ๆ ไม่มีใบ (ในช่วงนั้นอาจจะเป็นช่วงที่ใบไม้ร่วงตายหมดแล้วหรืออย่างไรไม่แน่ใจ) พ่อก็ชี้บอกว่า “นี้เป็นไม้แหย่แย้” (พูดเป็นภาษาอีสานนะ) พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า “เค้าจะใช้ไม้ชนิดนี้แหย่ไปที่รูแย้ แย้ก็จะกอดไม้นี้ขึ้นมา หรือไม่เช่นนั้นแย้ก็จะวิ่งตามไม้นี้ขึ้นมา” ผมเองก็จำไม่ได้ว่าเป็นไม้ชนิดไหน เพราะช่วงนั้นก็ไมได้ให้ความสนใจอะไรมากนัก รู้แต่ว่าเป็นไม้สีดำ ๆ ขนาดเท่าตะเกียบไม้ไผ่ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป เปลือกคล้ายเป็นเกล็ดแข็ง
ไม้แหย่แย้ คือไม้ชนิดใดกันแน่
มาถึงวันนี้ ผมจึงมีความสงสัยว่า ไม้แหย่แย้ คือไม้ชนิดใดกันแน่ ผมไม่ได้ไปเดินสำรวจสอบถามที่ไหนหรอกครับ แต่ขอนำมาสรุปจากที่อ่าน ๆ มา และตามความเข้าใจของผม ดังนี้
- บางท่านบอกว่า ไม้แหย่แย้เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ AGAVACEAE ชนิดใบเขียว Dracaena surculosa Lindi ปกติขึ้นตามที่ดอน มีใบคล้ายใบมะค่าไก่ มักจะทิ้งใบล่างให้เห็นต้นเปล่า ๆ ผิวเปลือกลายคล้ายกับหางของแย้
- บางคนก็กล่าวว่า ไม้แหย่แย้เป็น พืชสมุนไพร “เปล้า ตองแตก” ลำต้นสูงประมาณเมตรกว่า ๆ ดอกเป็นช่อ ๆ ปรากฏอยู่ในตำรายาสมุนไพรไทยหลายสูตรว่ามีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิ และมีพลังที่ลึกลับ หากนำมาฟาดกับเสาหรือฝาบ้านทำให้จิ้งจกที่ได้กลิ่นวิ่งมาหา
- มีเรื่องเล่าว่า (ไม่รู้จริงไหม) หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้นำพันธุ์แหย่แย้มาจากประเทศลาวมาปลูกไว้ที่วัดสุทธาวาส ในจังหวัดสกลนคร ซึ่งก็ได้มีศิษย์นำไปปลูกขยายพันธ์ต่อ แต่ก็ไม่ทราบว่าได้รับความสำเร็จจากการขยายพันธุ์หรือไม่ เท่าที่ทราบกันมาจากปากต่อปากในเมืองไทย (พื้นที่ราบ) สามารถปลูกต้นเปล้าตองแตกนี้ขึ้นเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น คือสกลนคร และพิษณุโลก ส่วนอีกแห่งหนึ่งไม่ระบุว่าที่ใด (ผมคิดว่า ไม่มีใครทดลองนำไปปลูกทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้วมารายงานหรอก จังหวัดอื่น ๆ ก็น่าจะปลูกขึ้นเช่นกัน)
- ที่เรียกว่า ไม้แหย่แย้ ก็ตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อใครต้องการที่จะจับแย้ก็จะนำไม้ชนิดนี้แหย่ลงไปที่รูแย้ แย้ก็จะกอดไม้ชนิดนี้ขึ้นมา หรือวิ่งตามไม้ชนิดนี้ขึ้นไม้
- ในทางวิทยาศาสตร์ ไม้ชนิดนี้มีกลิ่นบางอย่างที่ทำทำให้สัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้นว่า แย้ จิ้งจก หรือแม้กระทั่งงูชอบใจ ซึ่งพวกมันอาจจะเข้าใจเป็นกลิ่นตัวผู้หรือกลิ่นตัวเมีย แล้ววิ่งตามขึ้นมา หรือวิ่งตามหากลิ่นนั้น หากเป็นจิ้งจกวิ่งออกมาตามฝาบ้าน เจอจิ้งจกเพศตรงข้ามกันก็มีการผสมพันธ์ุกันได้
- ด้วยเหตุที่ชนิดนี้ ทำให้สัตว์เลื้อยคลาน แย้กอดขึ้นมาตามไม้หรือวิ่งตามไม้ขึ้นมา ทำให้จิ้งจกออกจากที่ซ่อนวิ่งตามกลิ่นไม้นี้ เมื่อเจอตัวเมียก็ผสมพันธุ์กัน เมื่อได้เห็นดังนั้น จึงมีความเชื่อว่า ไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติด้านเมตตามหานิยม เรียกคนให้เข้ามาหาได้
- ไม้แหย่แย้นี้ บางแห่งก็เรียก ไม้แยงแย้ ไม้แย้กอด
ไม้แหย่แย้ ตามความคิดเห็นของผม
ไม้แหย่แย้ที่จะกล่าวนี้ เป็นความคิดเห็นของผมจริง ๆ แต่อาจจะไปตรงกับความคิดเห็นของท่านอื่นก็ไม่แปลก เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด และหากการใช้สำนวนในการอธิบายไปตรงกับใครเข้าก็ไม่แปลกเช่นกัน เพราะผมก็เคยได้อ่านความคิดเห็นของคนอื่นที่มึความคิดเห็นตรงกับผมมาเช่นกัน
ไม้แหย่แย้ตามความคิดเห็นของผมอาจจะเป็นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ ที่แหย่ลงไปในรูแย้แล้ว แย้วิ่งตามขึ้นมา หรือกอดไม้นั้นขึ้นมา เหมือนกับไม้ไก่กุกนั่นแหล่ะครับ อาจจะเป็นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ ที่ไก่คาบมาเพื่อหลอกล่อตัวเมีย เพื่อให้ตัวเมียวิ่งเข้าหาแล้วทำการผสมพันธุ์ด้วย คนโบราณอาศัยเคล็ดนี้ จึงถือว่าไม้ชนิดนั้นเป็นไม้อาถรรพ์ให้คุณด้านมหาเสน่ห์
ต้นเหตุแห่งการรู้ว่าไม้ไหน เป็นไม้แย้กอด ก็เพราะว่าคนสมัยก่อน เมื่อจะจับแย้จะไม่ขุดรู โดยเฉพาะเวลาไปแอบจับแย้ที่ลานวัด พวกเขาจะหากิ่งไม้เรียว ๆ ยาว ๆ รูดเอาใบออกหมดเสีย อาจจะปล่อยไว้ที่ตรงปลายนิดหนึ่งพอให้อ่อน ๆ แล้วค่อย ๆ แหย่ลงไปที่รูแย้แล้วค่อย ๆ ดึงขึ้นมา เมื่อแย้เห็นเข้าบางตัวก็เกิดความสงสัยว่าอะไร จึงวิ่งตามขึ้นมา เมื่อถึงปากรู เขาก็ใช้มือจับแย้เอาไปทันที และพวกเขาก็เชื่อว่า ไม้นั้นเป็นไม้นำโชค ไม้อาถรรพ์ช่วยในการทำมาหากิน ช่วยในการเรียกคน เรียกโชคลาภข้าวของมาหา ช่วยในการจีบสาว บางคนก็นำไปให้พระลงอักขระหรือสวดให้ใช้พกติดตัวเพื่อจีบสาวเป็นจริงเป็นจังไป