พระนาคปรก ไตรมาส ที่ระลึกอายุครบ 8 รอบ ปี 2518 หลวงปู่ทิม หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง เป็นอีกหนึ่งเหรียญที่ผมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยความสวยงามลงตัว ด้วยอักขระยันต์ครอบจักรวาล ด้วยบารมีหลวงปู่ทิมที่ทำการอธิษฐานจิตปลุกเสก
ความพิเศษของเหรียญ นาคปรก ไตรมาส หลวงปู่ทิม
- สร้างพร้อมเหรียญเจริญพรสอง ปลุกเสกตลอดไตรมาส หรือสามเดือน
- ด้านหน้าเป็นรูปพระนาคปรก พญานาคเจ็ดเศียร ตัวหนังสือ “ที่ระลึกอายุครบ ๘ รอบ”
- ด้านหลังเป็นยันต์สามและอักขระต่าง ๆ เต็มเหรียญ
- ตอกโค้ด “อิ”
- เป็นเหรียญที่หลวงปู่ทิมท่านถูกใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเหรียญที่สามารถบรรจุอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน
ถอดรหัส อักขระยันต์หลวงเหรียญนาคปรก หลวงปู่ทิม
- อักขระในรูปยันต์ใบพัดตรงกลางเหรียญ ได้แก่ นะ อิ สวา สุ อิ สวา สุ เป็นบทย่อ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หรือหัวใจแก้ว ๓ ประการ ซึ่งมีบทเต็มดังนี้ :-
อิ ย่อจาก อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.
สวา ย่อจาก สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.
สุ ย่อจาก สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ.
- อักขระล้อมชั้นในด้านบน ตรงกลางอ่านว่า นะชาลิติ สองข้างอ่านว่า อุทธัง อัทโธ
นะชาลิติ หรือ นะชาลีติ นี้เป็นหัวใจพระฉิมพลี ซึ่งถอดมาจากคาถาธรณีปริตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานให้แก่พระอานนท์ ซึ่งบทเต็มมีอยู่ว่า ชาโล มหาชาโล ชาลัง มหาชาลัง ชาลิเต มหาชาลิเต ชาลิตัง มหาชาลิตัง มุตเต มุตเต สัมปัตเต มุตตัง มุตตัง สัมปัตตัง สุตัง คะมิติ สุตังคะมิติ มัคคะยีติ ทิฎฐิลา ทัณฑะลา มัณฑะลา โรคิลากะระลา ทุพพะลา ริตติ ริตติ กิตติ กิตติ มิตติ มิตติ จิตติ จิตติ มุตติ มุตติ จุตติ จุตติ ธาระณี ธาระณีติ อิทังธาระณะ ปะริตตัง. ท่านย่อให้เหลือ 4 พยางค์ ได้แก่ นะชาลิติ แล้วเรียกว่าหัวใจ มีอานุภาพทางด้านโชคลาภ เป็นเมตตามหานิยม ทำมาหากินคล่อง ค้าขายก็ง่าย และยังป้องกันภัยจากภูตผีอีกด้วย - อักขระล้อมชั้นในด้านบน สองข้างว่า อุทธัง อัทโธ เป็นหัวใจมหาอุด นำมาจากบทกรณียะเมตตะสุตตัง ท่อนที่ว่า เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง อุทธังอะโธ จะติริยัญจะ ฯลฯ ท่านเอามาแค่ อุทธัง อะโธ เพื่อให้เกิดอานุภาพด้านมหาอุด จึง ท เข้ามา ตัวหนึ่ง เป็น อุทธัง อัทโธ ประมาณว่าให้เกิดความหนักแน่น มีความขลัง อัดปากกระปอกปืนได้
- อักขระด้านใต้ยันต์ใบพัด อ่านว่า สีหะนาทัง นี้เป็นหัวใจพญาราชสีห์ มีอานุภาพทางด้านตบะเดชะ เกิดเป็นมหาอำนาจ ไม่ว่าจะผจญกับศรัตรูเฉพาะหน้า หรือขึ้นโรงศาลก็ตาม
- อักขระที่ถัดออกไปอีกหนึ่งรอบ ซึ่งเป็นรอบที่สองนับจากด้านนอก อ่านว่า อิติปิโสวิเสเสอิ อิเสเสพุทธะนาเมอิ อิเมนาพุทธะตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ นี้เป็นพระคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า มีอานุภาพทางด้านเมตตาและป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ
- อักขระรอบนอกสุด มี 3 คาถาเรียงจากทางขวาดังนี้
อักขระอยู่รอบนอกจากบน วนขวา อ่านว่า มะอะอุ นี้เป็นหัวใจพระไตรปิฎก ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มะ อะ อุ 3 คำนี้ มีผู้ให้ความหมายอยู่หลายนัยเป็นต้นว่า
มะ อะ อุ ความหมายที่ 1
มะ มาจากคำว่า มนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ เป็นพุทธคุณ
อะ มาจากคำว่า อกาลิโก เอหิปัสสิโก เป็นพระธรรมคุณ
อุ มาจาก อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ เป็นพระสังฆคุณ
มะ อะ อุ ความหมายที่ 2
อะ มาจาก อะระหัง หมายถึง พระพุทธ
อุ มาจาก อุตมธรรม หรืออุตตรธรรม หมายถึง พระธรรม
มะ มาจาก มหาสังฆะ หมายถึง พระสงฆ์
มะ อะ อุ ความหมายที่ 3
เป็นนามอนุสรณ์ย่อของสามพระเถระทั้งสามซึ่งเป็นผู้นำในการทำปฐมสังคายนาพระไตรปิฎก ได้แก่
มะ หมายถึง พระมหากัสสปเถระ
อะ หมายถึง พระอานนทเถระ
อุ หมายถึง พระอุบาลีเถระ
ตามความหมายที่ 1 และ 2 มุ่ง พระพุทธคุณ พระธรรม คุณ พระสังฆคุณ ความหมายที่ 3 มุ่งเน้นนามพระเถระที่ทำให้มีเกิดมีพระไตรปิฎกหรือรักษาพระไตรปิฎกมาจนถึงทุกวันนี้ แต่รวมความแล้ว เป็นหัวใจพระไตรปิฎกทั้งนั้น มีอานุภาพครอบจักรวาล ดีทุกด้าน ใช้ได้ทุกทาง - อักขระถัดมา อ่านว่า นะ มะ พะ ทะ เป็นหัวใจในธาตุทั้งสี่ คือ น้ำ ดิน ลม ไฟ มีอานุภาพช่วยหนุนให้ทุกคาถาที่มีอยู่ในกลุ่มนี้เกิดพลังมากยิ่งขึ้นมีอิทธิปาฎิหารย์มากยิ่งขึ้น
- อักขระถัดมา อ่านว่า นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง นี้เป็นคาถาหัวใจพระเจ้า 16 พระองค์ มีอานุภาพทางด้านคงกระพันชาตรี เกิดเมตตามหานิยม
- อักขระสุดท้าย อ่านว่า พุทธะสังมิ มุมิมิ พุท คือพุทธัง ธะคือ ธัมมัง สังคือสังฆัง มิคือคำท้ายของ สะระณัง คัจฉามิ เอามารวมกัน ๔ กถาเป็นคาถาว่า พุทธะสังมิ ส่วนคำว่า มุมิมิ ไม่ทราบว่าย่อมาจากอะไร ใครทราบเมตตาบอกด้วยครับ
ดัดแปลงมากจาก นิตยสารร่มโพธิ์ ฉบับที่ ๙๔ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๔๑ คอลัมน์ อักขระมหัศจรรย์ ของคุณ กีรติ.
เหรียญพระนาคปรกไตรมาส มี 3 เนื้อ
- เหรียญพระนาคปรก ไตรมาส หลวงปู่ทิม เนื้อเงิน จำนวนสร้าง 97 เหรียญ ตอกโค้ด อิ ที่ด้านหลังเหรียญ
- เหรียญพระนาคปรก ไตรมาส หลวงปู่ทิม เนื้อนวโลหะ จำนวนสร้าง 400 เหรียญ ตอกโค้ด อิ ที่ด้านขวาขององค์พระ
- เหรียญพระนาคปรก ไตรมาส หลวงปู่ทิม เนื้อทองแดง จำนวนสร้าง 20,000 เหรียญ ตอกโค้ด อิ ที่ข้างซ้ายองค์พระ
สำหรับเหรียญพระนาคปรก ไตรมาส หลวงปู่ทิม เนื้อทองแดงนั้น แบ่งออกเป็น 2 บล็อก ได้แก่ :-
- บล็อกอุยาว
- บล็อกอุสั้น
โดยมีสังเกตุจาก สระอุ ของคำว่า “ที่ระลึกอายุ” มีความสั้น-ยาว ต่างกัน