
เมื่อก่อนผมก็สงสัยว่า ทำไมในบางปีต้องมีเดือนแปดสองหน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 8 สองหน คนผู้เฒ่าอธิบายสั้น ๆ ว่า เพราะเดือนทางโลกกับทางธรรม หรือจำนวนวันในเดือนทางสุริยคติกับทางจันทรคติไม่เท่ากันนั่นเอง จึงต้องมีการทดวันนานเข้าก็กลายเป็นเดือน แล้วเพิ่มเข้ามาเป็นแปดสองหน ผมอธิบายท่านก็งงใช่ไหม งั้นผมนำคำอธิบายสั้น ๆ จากหนังสือสวดมนต์ ทำวัตร เช้า-เย็น วัดป่าภูผาแดงมาให้ท่านอ่าน เรื่องนี้เป็นวิชาการ เป็นดาราศาสตร์ หรือเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งนะครับ ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะมันคำนวนได้ พิสูจน์จับต้องได้
อธิกมาส อธิกวาร และปักขคณนาวิธี
๑. ปฏิทินทางจันทรคติ กำหนดเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลกเป็น ๑ เดือน ใช้เวลา ๒๙.๕๓๐๕๙๓ วัน รวม ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี (๒๙.๕๓๐๕๙๓ x ๑๒ = ๓๕๔.ต๖๗๑๒๒ วัน)
๒. ปฏิทินทางสุริยคติ กำหนดเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็น ๑ ปี ใช้เวลา ๓๖๕.๒๕๘๖๘๐ วัน
๓. ถ้าใช้เฉพาะทางจันทรคติ ฤดูต่าง ๆ อาจจะเลื่อนไป เช่น ฤดูจำพรรษาซึ่งเป็นหน้าฝนอาจจะตกในหน้าหนาว หรือหน้าร้อน เพราะฤดูต่าง ๆ ขึ้นกับตำแหน่งของโลกรอบดวงอาทิตย์
๔. ถ้าใช้เฉพาะทางสุริยคติ จะทำให้การกำหนดวันในแต่ละเดือนทำได้ลำบาก เพราะไม่สามารถเห็นข้อแตกต่างของดวงอาทิตย์ในแต่ละวันได้ แต่สามารถเห็นข้อแตกต่างของ ดวงจันทร์ ในแต่ละวันได้โดยง่าย
๕.ปีสุริยคติยาวกว่าปีจันทรคติ ๓๖๕.๒๕๘๖๘๐ – ๓๕๔. ๓๖๗๑๒๒ = ๑๐.๘๙๑๕๕๘ วัน ๓ ปี จะคลาดกัน ๓๒ วันเศษจึง เกิดการทดอธิกมาส คือ เพิ่มเดือนทางจันทรคติขึ้นอีก ๑ เดือน ทำให้ปีนั้นเดือนทางจันทรคติมี ๑๓ เดือน ส่วนเศษอีก ๒ วันกว่า ก็นำไปผนวกในปีต่อ ๆ ไป
๖. ปฏิทินราชการไทยโดยปกติให้ปีทางจันทรคติมี ๑๒ เดือน เดือนคู่จะมี ๓๐ วัน (ข้างขึ้น ๑๕ วันกับข้างแรม ๑๕ วัน) เดือนคี่ มี ๒๙ วัน (ข้างขึ้น ๑๕ วันกับข้างแรม ๑๔ วัน) เรียกว่า ‘ปกติวาร’ เฉลี่ยแล้ว ๑ เดือนมี ๒๙.๕ วัน ดังนั้นใน ๑ เดือนกาลแห่งดวงจันทร์จะมากกว่าในปฏิทินอยู่ ๒๙.๕๓๐๕๙๓๕ – ๒๙.๕ = ๐.๐๓๐๕๙๓๕ วัน เวลานี้สะสมไปเรื่อย ๆ จนครบ ๑ วัน จึงเกิดทดอธิกวารคือในเดือน ๗ ซึ่งเป็นเดือนคี่จะมี ๓๐ วัน (มีแรม ๑๕ ค่ำ) แต่จะมีการทดอธิกวารในปีใดยังไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน เมื่อเห็นว่าจันทร์ดับ จันทร์เพ็ญบนท้องฟ้าต่างจากปฏิทินจึงค่อยคิดทดก็มี
๗. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดปักขคณนาวิธีขึ้นเพื่อให้การนับวันขึ้นแรมในปฏิทินปักขคณนาตรงกับกาลจันทร์ดับจันทร์เพ็ญบนท้องฟ้า โดยไม่ต้องมีการเพิ่มอธิกวารอีก และให้ตรงกับ
วันที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำวินัยกรรมอย่างแท้จริง
-. ครั้งพุทธกาลใช้จันทรคติอิงสุริยคติ เช่น การกำหนดวันเข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส ให้เลื่อนเป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ หลัง
๙. ปักข์ แปลว่า ปีกหรือฝักฝ่าย เดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน ปักข์ของเดือนก็คือปีกหนึ่งของเดือนเท่ากับ ๑๕ วัน
ปักข์ถ้วน คือ ปักข์นี้ห่างจากปักข์ที่แล้วถ้วน ๑๕ วันพอดี
ปักข์ขาด คือ ปักข์นี้ห่างจากปักข์แล้ว ๑๔ วัน ขาดปักข์อยู่หนึ่งวัน
๑๐. ปกติสุรทิน คือ ตามปฏิทินสุรทิน ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี ๒๘ วัน ตามปกติ อธิกสุรทิน คือ ตามปฏิทินสุริยคติ ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์มี ๒๙ วัน
ตารางวัฏจักรแห่งอธิกมาส

อธิบายแผนภาพ
๑. ตัวเลขฝรั่งวงในสุดบอก พ.ศ. ๒๕.. (๒๕๕๗-๒๕๗๕ เท่ากับครบ ๑ รอบทุก ๑๙ ปี)
๒. ตัวเลขไทยวงถัดออกมาบอกเดือนไทย เดือนทางจันทรคติ) ที่อธิกมาสจะมาในปีนั้น ๆ (มีเดือน ๑๐, ๓, ๓, ๑๒, ๘, ๕, ๒)
๓. คำว่า “ร้อน, ฝน, หนาว” ในวงถัดออกมาอีก คือ ฤดูที่อธิกมาสตกในปีนั้น ๆ
๔. วงนอกสุดบอกระยะเวลาที่จะลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ในฤดูนั้น ๆ ตั้งแต่อุโบสถแรกถึงอุโบสถสุดท้ายรวม ๑๐ อุโบสถ เช่น ๔ ดับ ๘/๘ เพ็ญ หมายถึง ลงอุโบสถแรกวันแรม ๑๕ ค่ำ (วันดับ) เดือน ๔ และลงอุโบสถสุดท้ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ) เดือน ๘ หลัง
วิธีใช้ตารางอธิมาส
๑. ถ้าต้องการตรวจดูอธิกมาสในอนาคต ก็ให้นับ พ.ศ. เพิ่มขึ้นตามทิศตามเข็มนาฬิกา ถ้าต้องการตรวจดูอธิกมาสในอดีต ก็ให้นับ พ.ศ. ลดลงตามทิศทวนเข็มนาฬิกา
๒. ถ้าปีใดอธิกมาสในฤดูหนาว ๒, ๓, หรือ ๑๒ จะไปมีเดือน ๘ สองหนในปีถัดไปเช่น ใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถ้าดูตามแผนภาพอธิกมาสจะมาในเดือน ๒ ดังนั้นจะไปมีเดือน ๘ สองหนในปีถัดไป คือ พ.ศ. ๒๕๖๔ คือจะเริ่มสวด “อธิกมาสวเสน …” ในอุโบสถแรกของฤดูหนาว (วันดับเดือน ๑๒ ปลายปี ๒๕๖๓) จนถึงอุโบสถ สุดท้ายของฤดูหนาว (วันเพ็ญเดือน ๕ ต้นปี ๒๕๖๔) รวมเป็น ๑๐ อุโบสถ
หมายเหตุ บางปีอาจไม่ตรงตามนี้ให้ถือตามที่ท่านประกาศในปีนั้น ๆ เป็นเกณฑ์
การแบ่งฤดูและการบอกฤดู
ในรอบ ๑ ปี พระพุทธศาสนาแบ่งเป็น ๓ ฤดู แต่ละฤดู โดยปกติจะนาน ๔ เดือน
ปีปกติ คือ ปีที่ไม่มีอธิกมาส
ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เข้าพรรษาแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หมดหน้ากฐิน (สวดข้อ ข.)
ฤดูหนาว จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (สวดข้อ ก.)
ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (สวด ก.)
ปีที่อธิกมาสมาในฤดูฝน คือ อธิกมาสตกเดือน ๘ หรือ เดือน ๑๐
ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ แรก ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (รวม ๕ เดือน) (สวดข้อ ง.)
ฤดูหนาว จะเริ่มตั้งแต่ ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (เหมือนปีปกติ) (สวดข้อ ก.)
ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ คำเดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (เหมือนปีปกติ) (สวดข้อ ก.)
ปีที่อธิกมาสมาในฤดูหนาว คือ อธิกมาสตกเดือน ๒ เดือน ๓ หรือ เดือน ๑๒
ฤดูหนาว จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (รวม ๕ เดือน) (สวดข้อ ค.)
ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๕ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง (สวดข้อ ก.)
ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ หลัง ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (สวดข้อ ข.)
ปีที่อธิกมาสมาในฤดูร้อน คือ อธิกมาสตกเดือน ๕ หรือ เดือน ๗
ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง (รวม ๕ เดือน) (สวดข้อ ค.)
ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ คำเดือน ๘ หลัง ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (สวดข้อ ข.)
ฤดูหนาว จะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (เหมือนปีปกติ) (สวดข้อ ก.)