มีผู้ส่งรูปภาพพระแบกกลด สะพายบาตร ถือกระติกน้ำพร้อมถุงย่าม (ไม่ใช่ภาพนี้) มาสอบถามว่า อย่างนี้เรียกว่าพระธุดงค์ไหม
แบบนี้ใช่พระธุดงค์ไหม ?
จากภาพที่ทางบ้านส่งมาสอบถามว่า “อย่างนี้ใช่พระธุดงค์ไหม ?” เมื่อพิจารณาจากภาพแล้ว ตอบยากว่าใช่หรือไม่ใช่นะครับ อาจจะใช่ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นสมาทานธุดงค์ข้อไหนในธุดงค์ทั้ง 13 ข้อ
ธุดงค์คืออะไร ?
ธุดงค์คือคุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, เป็นข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้น ไม่มีการบังคับว่าต้องปฏิบัติ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาและพระธรรมวินัยไม่ได้บังคับว่าต้องปฏิบัติหรือไม่ต้องปฏิบัติ เป็นข้อวัตรพิเศษที่ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติได้ แต่ไม่บังคับ
ธุงดงค์
ธุดงค์มี 13 ข้อ ได้แก่
- ปังสุกูลิกังคะ ผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
- เตจีวริกังคะ ผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
- ปิณฑปาติกังคะ ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
- สปทานจาริกังคะ ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร
- เอกาสนิกังคะ ผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
- ปัตตปิณฑิกังคะ ผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
- ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
- อารัญญิกังคะ ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย
- รุกขมูลิกังคะ ผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร
- อัพโภกาลิกังคะ ผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร
- โสสานิกังคะ ผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
- ยถาสันถติกังคะ ผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้
- เนสัชชิกังคะ ผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ
ในธุดงค์ทั้ง 13 นี้ จะถือข้อใดก็ต้องกล่าวคำสมทานข้อนั้น เช่น ปังสุกูลิกังคะ ผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็สมทานว่า “คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “เรางดคฤหบดีจีวร สมาทานองค์แห่งผู้ถือผ้าบังสุกุล” จะถือธุดงค์กี่ข้อก็กล่าวคำสมาทานธุดงค์ตามข้อนั้น ๆ
จะเห็นว่าธุดงค์ทั้ง 13 ข้อนี้ ไม่มีข้อไหนที่เกี่ยวกับการเดิน การแบกกลด การสะพายบาตรเดินไปในที่ต่าง ๆ (เรื่องการเดินนั้น คนสมัยพุทธกาลใช้การเดินเป็นหลักอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร)
พระที่อยู่ในกุฏิ ในห้องแอร์ เดินทางไปมาด้วยรถ เครื่องบิน อยู่ต่างประเทศ ท่านก็อาจจะสมาทานธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ นั่นหมายความว่าท่านเป็นพระผู้ทรงธุดงค์หรือพระธุดงค์นั่นเอง ในทางตรงกันข้าม พระที่แบกกลด สะพายบาตร เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ท่านอาจจะไม่ได้สมาทานธุดงค์ข้อใดเลยก็ได้ ถ้าท่านไม่ได้สมาทาน ท่านก็ไม่ใช่พระผู้ถือธุดงค์
บางท่านอาจจะแย้งว่า นั่นมันในตำรา ภาคปฏิบัติอีกแบบหนึ่งซึ่งผมก็ขอถามว่า ท่านนำคำว่าธุดงค์มาจากไหน ท่านรู้จักคำว่าธุดงค์มาจากไหน ถ้าตอบว่ามาจากครูอาจารย์ก็ต้องถามเข้าไปอีกว่าครูอาจารย์นำคำว่าธุดงค์มาจากไหน มาใช้อย่างไร ถ้านำมาจากพระพุทธเจ้า รู้คำว่าธุดงค์ผ่านตำราที่มีการบันทึกไว้ เราก็ต้องใช้ตามตำรา พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรเราก็ว่าอย่างนั้น ตำราว่าอย่างไรเราก็ต้องว่าอย่างนั้น ตำราใช้อย่างไรเราก็ต้องใช้อย่างนั้น ถ้าไม่ใช้ตามที่มาหรือความหมายเดิม ก็ไม่ต้องเรียกว่าธุดงค์ ไม่ต้องนำคำว่าธุดงค์มาใช้ บัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่เสีย
หมายเหตุ : ผมไม่ได้ต่อต้าน ไม่ได้คัดค้านพระที่แบกกลด สะพายบาตร เดินไปในที่ต่าง ๆ ทั้งในเมือง ในหมู่บ้าน ในป่าเขา ว่าท่านเหล่านั้นไม่ใช่พระธุดงค์ ไม่ดี หรือไม่เหมาะสมอย่างไรนะครับ ผมเห็นดีด้วย เพียงแต่ผมไม่ทราบว่าท่านสมาทานธุดงค์ข้อไหนเท่านั้น และไม่ได้บอกว่าท่านไม่ได้สมาทานธุดงค์ โดยแท้จริงท่านอาจจะสมาทานธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นได้