พระภูมิ หรือ พระภูมิเจ้าที่ (บาลี: ภุมฺมเทว) เป็นเทพารักษ์ประจำพื้นที่และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่รวมรุกขเทวดาอื่น ๆ หากสิงสถิตอยู่หรือเป็นเจ้าของหรือเป็นใหญ่ในที่ใด ก็จะเรียกเป็น เจ้าที่, เจ้าท่า, เจ้าป่า หรือเจ้าเขา เป็นต้น หน้าที่ของพระภูมิ คือเพื่อปกปักรักษา ปกป้องดูแล บ้านเรือน เคหสถาน อาคาร สถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งเรือกสวนไร่นา
คนไทยในทุกภาคของประเทศมีความเชื่อเกี่ยวกับพระภูมิเจ้าที่มาตั้งแต่สมัยโบราณและยึดถือปฏิบัติบูชาสืบต่อกันมาช้านานจวบจนปัจจุบัน โดยมีศาลพระภูมิ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อุทิศให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญและสักการะ หรือบุคคลสำคัญทางศาสนา ที่มา : พระภูมิเจ้าที่
พระภูมิ หรือ พระภูมิเจ้าที่, อาจเรียกสั้น ๆ ว่าเจ้าที่ตามความเข้าใจของผมอาจจะไม่ได้หมายถึงเทพองค์ใดองค์หนึ่ง แต่เป็นเทพที่ถูกอัญเชิญมาเพื่อสถิตในศาลพระภูมิตามพิธีการจัดตั้งศาลพระภูมิ หรือพระภูมิเจ้าที่อาจจะหมายถึงเทพองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งสถิตอยู่ในบริเวณสถานที่นั้น ๆ ซึ่งอยู่มานาน อาจจะสถิตบนต้นไม้ จอมปลวก แม้แต่บนอากาศ ก็เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ได้
ทำไมต้องบูชาพระภูมิ
การบูชาพระภูมิ เป็นการแสดงความนอบน้อม แสดงความเป็นมิตร แสดงความนับถือ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ อยู่มาก่อน เหมือนเราแสดงความนับถือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่มาก่อน แสดงความนับถือเจ้าถิ่นหรือผู้ดูแลท้องที่มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นต้น
การแสดงบูชา การแสดงความนับถือ การแสดงความเป็นมิตรนั้น ไม่เฉพาะแต่การจุดธูปเทียน หรือถวายเครื่องบูชาเท่านั้น การบอกกล่าวเมื่อทำกิจการใด ๆ ก็เป็นการให้ความเคารพนับถืออย่างหนึ่ง เมื่อเราทำบุญตักบาตรก็ทำการอุทิศบุญหรือบอกกล่าวให้พระภูมิเจ้าที่ได้อนุโมทนาบุญด้วย นี่ก็เป็นการแสดงความนับถืออย่างหนึ่งเช่นกัน
คาถาหรือคำบูชาพระภูมิเจ้าที่
เหตุที่มีคาถาบูชาพระภูมิเจ้าที่หรือคำกล่าวบูชาพระภูมิเจ้าที่ก็เพราะเราไม่รู้ว่าจะกล่าวแสดงความนับถืออย่างไร จะกล่าวแสดงความผูกมิตรอย่างไร โบราณาจารย์จึงได้ประพันธ์คำขึ้นมาให้เราบอกกล่าวแสดงความนับถือพระภูมิเจ้าที่ (คำว่านับถือ ไม่ได้หมายความว่านับถือเป็นที่พึ่งสูงสุดเหมือนพระรัตนตรัย แต่นับถือในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นบุคคลที่เราควรให้ความเคารพนับถือ เหมือนเรานับถือบุคคลผู้เกิดก่อนหรือผู้ใหญ่บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่านับถือคนเรานั้นมากกว่าพ่อแม่ของเรา)
เริ่มจากให้จุดธูป 9 ดอก แล้วตั้งนะโม 3 จบ (ที่ต้องตั้ง นะโม ก่อนเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรานับถือพระพุทธเจ้าสูงสุด) แล้วต่อด้วยพระคาถาไหว้ศาลพระภูมิ ดังนี้
ภูมมัสมิง ทิสาภาเค สันติภูมมา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ (3 จบ)
สิโรเม ขอเดชะพระภูมิเทวารักษาที่ รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลี ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุขแด่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้า (คำอธิษฐาน) มั่งมีเงินทองและทรัพย์พัสดุข้าวของเนืองนอง โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม
การไหว้ศาลพระภูมิ ไม่จำเป็นต้นทำทุกวัน อาจจะทำสัปดาห์ละครั้ง โดยเลือกเฉพาะวันพระ หรือวันอังคาร วันเสาร์ หรือวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันเกิดของตัวเองและวันนักขัตฤกษ์ หรือวันทำบุญบ้าน วันเปิดกิจการใหม่ เป็นต้น
ของถวายพระภูมิ
ของถวายพระภูมิ อาจจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ของบูชาพระภูมิเจ้าที่ เช่น ดอกไม้ พวงมาลัย ของหอม น้ำหอม เทียนหอม ธูปหอม ผ้าที่มีสันสันสวยงาม
อาหารถวายพระภูมิเจ้าที่ เช่น อาหารคาวหวาน ผลไม้ น้ำ ถวายทุกอย่างทุกชนิด ของที่เรากินได้ ถวายพระภูมิเจ้าที่ได้หมด แต่ควรเลือกอาหารที่ไม่มีกลิ่นคาวมากเกินไป ไม่ควรเลือกอาหารที่ล่อแมลงวันเข้ามาในพื้นที่ ควรจะเลือกเป็นผลไม้ เช่น ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ผลไม้ไทย ผลไม้นอกได้หมด ถวายพิซซาก็ยังได้ไม่ผิดหรอก
คำถวายเครื่องสังเวยบูชาพระภูมิเจ้าที่
เครื่องสังเวยบูชาพระภูมิเจ้าที่ก็คือเครื่องบูชาและอาหารที่ผมกล่าวมาข้างต้น หรือจะเรียกว่า คำถวายอาหารพระภูมิ คำถวายเครื่องบูชาพระภูมิก็ได้
นะโม เม พระภูมิเทวานัง ธูปะทีปะปุปผัง สักการะวันทานัง สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง โภชะนานัง สาลีนัง สะปะริวารัง อุทะกังวะรัง อาคัจฉันตุ ปะริภุญชันตุ สัพพะทา หิตายะ สุขายะ สันติเทวา มะหิทธิกา เตปิ อัมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ
คาถาบูชาพระภูมิ ใช้ได้ที่ทุก ไม่มีของถวายก็บูชาได้
อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง
คาถานี้รู้จักกันในนาม คาถาหลวงพ่อโอภาสี ใช้สวดบูชาพระภูมิได้ทุกระดับชั้น ทุกที่ สวดได้ตลอดเวลา ขึ้นรถลงเรือ ไปเหนือ ล่องได้ เข้าพักโรงแรม รีสอร์ท สวดคาถานี้ปลอดภัย ไม่ฝันร้าย ไม่ได้รับอันตราย ปลอดภัย