หนึ่งในพระกรุยอดนิยม หนึ่งในตำนานพระเครื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺรํสี)
พระสมเด็จบางขุนพรหม กรุเจดีย์เล็ก พิมพ์สามเหลี่ยม
พระสมเด็จบางขุนพรหม กรุเจดีย์เล็ก วัดใหม่อมตรส ตั้งอยู่ในแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หรือเดิมชื่อว่าวัดบางขุนพรหม
เมื่อปี พ.ศ. 2413 หรือย้อนหลังไปร้อยกว่าปี เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ประกอบพิธีสำคัญคือการอธิษฐานวัตถุมงคลคือพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงก่อนที่จะนำเข้าบรรจุในพระเจดีย์องค์ใหญ่ในวัดบางขุนพรหม โดยมีท่านเสมียนตราด้วงเป็นผู้ถวายการอุปถัมภ์ นั่นคือข้อมูลที่เราทราบมา
นอกจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว วัดบางขุนพรหมยังปรากฏมีพระเจดีย์องค์เล็กอีกหลายองค์ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด โดยใคร อาจจะสร้างเป็นบริวารเจดีย์องค์ใหญ่ในยุคเดียวกัน หรือสร้างในยุคหลังจากนั้นไม่นานก็เป็นได้
ต่อมาในปี พ.ศ.2508 พระเจดีย์เล็กได้ถูกเปิดพบพระเนื้อผงพิมพ์ต่าง ๆ และเมื่อนำพระเหล่านั้นมาพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อหา มวลสาร ความเก่า คราบกรุ จึงมีความเห็นกันว่าอายุการสร้างพระในกรุเจดีย์เล็กก็อยู่ในปีเดียวกันกับการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุเจดีย์ใหญ่นั่นเอง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นพระที่ถูกบรรจุในคราวเดียวกัน ต่างแต่พิมพ์ทรงเพื่อแยกบรรจุเจดีย์เท่านั้น นั่นหมายความว่าน่าจะเป็นพระที่ถูกบรรจุในยุคเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
สมเด็จบางขุนพรหมกรุเจดีย์เล็ก แบ่งออกเป็น 6 พิมพ์ ได้แก่
1. พิมพ์ฐานคู่
2. พิมพ์พระเจดีย์
3. พิมพ์สามเหลี่ยมหน้าหมอน (ที่เรียกว่าหน้าหมอน น่าจะหมายถึงดูคล้ายด้านข้างของเหมือนสามเหลี่ยม)
4. พิมพ์ยืนประทานพร
5. พิมพ์ไสยาสน์
6. พิมพ์เจดีย์แหวกม่าน
พุทธคุณพระสมเด็จบางขุนพรหม
พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม เป็นพระสมเด็จที่เชื่อและยอมรับกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) จึงเชื่อว่ามีพุทธคุณเทียบเท่าหรือบูชาแทนพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม (แต่ราคาไม่เท่ากัน นั่นเรื่องของการซื้อขาย) จึงเป็นวัตถุมงคลที่มีพุทธคุณครอบจักรวาล แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม แต่ที่สำคัญต้องตั้งตนอยู่ในคุณธรรม มีทาน เมตตา ให้การช่วยเหลือคนอื่น มีศีลห้า ตั้งมั่นในสมาธิภาวนา เป็นต้น
คาถาบูชาพระสมเด็จบางขุนพรหม ประจำบทนี้
โตเสนโต วะระธัมเมนะ | โตสัฏฐาเน สิเว วะเร |
โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง | โตละจิตตัง นะมามิหัง |
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงโปรดสัตว์ให้แช่มชื่นด้วยพระธรรม ทรงก่อความยินดีในพระนิพพานอันเป็นฐานที่ควรยินดีให้เกิดมีแก่สัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระจิตเที่ยงตรง
- คาถานี้สำหรับบูชาพระสมเด็จ หมายถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามคำแปลข้างบน
- คาถานี้ไม่ใช่คาถาสำหรับบูชาท่านผู้สร้างพระสมเด็จคือเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) อย่างที่หลายท่านเข้าใจกัน
เป็นข้อมูลที่รวบรวมจากอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์ต่าง ๆ เยอะมากจำไม่ได้แล้วครับ