ในวงการพระเครื่องเมืองไทย ถือว่าพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ที่สร้างโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในพระเบญจภาคี และที่สำคัญถือว่าเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่องเมืองไทย
เมื่อพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ มีความสำคัญทั้งในด้านค่านิยมราคาและพุทธคุณ พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่จึงเป็นพระเครื่องในฝัน พระเครื่องในดวงใจ พระเครื่องที่คนไทยหลายคนใฝ่ฝันถึง แต่จะมีสักกี่คนที่ถึงฝันนั้น มีพบเจอก็ใช่ว่าจะมีบุญบารมีอาราธนาไว้ครอบครองบูชา แม้มีไว้ครอบครองแล้วก็ยังอาจจะแคลงใจอยู่ว่าใช่หรือไม่ หลายคนที่มีความศรัทธาในพระที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) จึงได้พยายามสืบเสาะหาว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ท่านได้สร้างพระไว้ที่วัดไหนบ้าง
เซียนพระให้ความสำคัญกับ 3 วัดหลัก ได้ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดบางขุนพรหม และไชโยวรวิหาร ว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระเครื่องที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)ได้สร้างไว้อย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีหลายวัดที่เชื่อว่าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ท่านได้สร้างพระบรรจุไว้ หรืออย่างน้อยก็มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)
วัดที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)ได้สร้างพระไว้
หนังสือ เปิดกรุมหาสมบัติ หลวงวิจารณ์ เจียรนัย ได้กล่าวถึงวัดที่สมเด็จโตได้สร้างพระไว้หลายวัด ได้แก่
- วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี
- วัดบางขุนพรมใน หรือวัดใหม่ อมตรสพระนคร
- วัดบางขุนพรหมนอก หรือ วัดอินทรวิหาร พระนคร
- วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง
- วัดละครทำ ธนบุรี
- วัดชีปะขาว ธนบุรี
- วัดอัมพวา ธนบุรี
- วัดปากบาง อยุธยา
- วัดพิตเพียน อยุธยา
- วัดตะไกร อยุธยา
- วัดสะตือ อยุธยา
- วัดกลาง ราชบุรี
- วัดโพธิ์ บางปะอิน
ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)จึงสร้างพระ
- สร้างพระเครื่องแจกจ่ายพุทธศาสนิกชนเพื่อใช้เป็นพุทธานุสสติ คือระลึกถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่าเมื่อเห็นพระแล้วก็ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า
- สร้างพระพิมพ์ต่าง ๆ บรรจุกรุเพื่อเป็นพุทธบูชา
- สร้างพระเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่ามีพระพุทธศาสนาสืบทอดมา
- สร้างพระเพื่อยังบุญกุศลให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและมหาชน
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) สร้างพระเมื่อไหร่
มีข้อถกเถียงกันว่า “เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) สร้างพระตั้งแต่เมื่อไหร่ ? บางกลุ่มบอกว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)สร้างพระสมเด็จหลังจากที่เดินทางกลับจากไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2392 บางกลุ่มก็บอกว่า ท่านสร้างพระสมเด็จหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ท่านเป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” องค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2407 จึงได้เรียกพระที่ท่านสร้างตามสมณศักดิ์ของท่านเจ้าประคุณฯ ว่า “พระสมเด็จ” แต่มีข้อมูลหลายแห่งอ้างถึงคำบอกเล่าของหลวงปู่คำ (พระครูปริยัติธรรมคุณาธาร เจ้าอาวาสวัดอมรินทราราม รูปที่ 9 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ) ซึ่งเป็นพระเถระที่ใกล้ชิดรูปหนึ่งของท่านเจ้าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ว่า “ท่านโตชอบสร้างพระตั้งแต่ยังบวชใหม่ ๆ ในขณะที่ยังเป็นพระลูกวัดแล้ว”
ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผม (พระคุ้มครอง) เชื่อตามหลวงปู่คำ หรือไม่มีคำกล่าวของหลวงปู่คำ ผมก็เชื่อว่าท่านสร้างพระเครื่องตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ คือท่านชอบศึกษาในเรื่องนี้ มีการลองผิดลองถูกในการผสมมวลสารต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวหรือในระยะเวลาสั้น ๆ แน่ สร้างไปแจกไป มวลสารก็น่าจะมีมีความแตกต่างกันไปบ้างตามที่มี มวลสารบางชนิดมีจำนวนจำกัดสร้างหมดแล้ว เมื่อสร้างอีกทีก็ได้มวลสารใหม่ ผสมใหม่
เมื่อท่านทราบว่าที่ใด วัดใดมีการสร้างพระเจดีย์ พระใหญ่ท่านก็ฝากไปบรรจุ วัดใดมีงานหรือไม่มีงานแต่ท่านรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าอาวาสท่านก็ฝากไปแจกจ่ายญาติโยม ส่วนที่บางท่านบอกว่าท่านสร้างพระเครื่องหลังจากที่ได้เป็น“สมเด็จพระพุฒาจารย์” จึงเรียกว่าพระสมเด็จ ข้อนี้ไม่แน่เสมอไป แม้จะสร้างพระก่อนนั้นและสร้างเรื่อยมาจนถึงเป็นสมเด็จก็เรียกว่าพระสมเด็จได้เช่นกัน อนึ่ง พระเครื่องของท่านอาจจะเป็นที่รู้จักสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมากหลังจากที่ท่านเป็นสมเด็จแล้ว (หรืออาจจะหลังท่านมรณภาพแล้วก็ได้) ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า พระสมเด็จ
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ เปิดกรุมหาสมบัติ หลวงวิจารณ์ เจียรนัย
หนังสือ สืบสานตำนานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺรํสี) ร้อยโท ประเสริฐ มณีโรน์