ถวายกับประเคนต่างกันอย่างไร
คงไม่มีความสงสัยคำว่า ประเคน และ ถวาย ทั้ง ๒ คำนี้มาจากไหน เราคงจะได้เคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้ปฏิบัติ เมื่อเข้าไปในวัด เช่น ถวายสังฆทาน ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ๒ คำนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร หรือมีความหมายที่กว้างแคบต่างกันอย่างไร
การถวาย
คือ มอบให้หรือให้ เป็นกริยา เช่น ถวายของ (ใช้แก่พระสงฆ์หรือเจ้านาย) ซึ่งการถวายนี้ เท่าที่รู้แบบพื้น ๆ ไม่ต้องอ้างคัมภีร์ใดมา ถ้าว่าโดยวิธีทำ ที่เห็น ๆ ปฏิบัติกันมี ๒ วิธี คือวิธีที่หนึ่งถวายด้วยกายหรือด้วยการกระทำทางกาย เช่น ยกของขึ้นส่งมอบให้ วิธีที่สองถวายด้วยวาจา ก็คือกล่าวคำถวาย ซึ่งการกล่าวคำถวายอาจจะไม่ต้องยกของขึ้นมอบให้ด้วยตนเอง เช่น มีคนใดคนหนึ่งถวายที่ดิน ถวายกุฏิวิหาร ถวายรถยนต์ แบบนี้ไม่ต้องยกถวาย แต่ก็เรียกว่าถวายได้เหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่งถวายต่อหน้า และถวายลับหลัง ถ้าผู้รับถวายอยู่ต่อหน้า ก็เรียกว่าถวายต่อหน้า แต่ถ้าผู้รับไม่ได้อยู่ต่อหน้า ผู้ถวายอาจจะเขียนหนังสือแจ้งให้ผู้รับได้รับทราบ อย่างเช่นทุกวันนี้ก็มีผู้ใจบุญส่งเงินไปถวายวัดต่าง ๆ เพื่อซ่อมบูรณะกุฏิวิหารหลังจากถูกน้ำท่วม โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีวัด บางทีทางวัดอาจจะไม่ทราบว่าใครถวายมา แต่ทางวัดก็แจ้งไว้ว่า ถ้าใครต้องการถวายให้โอนเข้าบัญชีนี้ อย่างนี้ก็ถือว่าถวายลับหลังเหมือนกัน
อีกอย่างกล่าวบอกแก่พระภิกษุหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าได้ถวายสิ่งนี้ ๆ แล้ว แก่วัด แก่สงฆ์ หรือแก่พระรูปนั้น ๆ หรือฝากไปแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งให้นำไปถวายแทน วิธีนี้ก็เป็นการถวายแบบลับหลัง ชาวบ้านนิยมเรียกวิธีนี้ว่า ฝากถวาย หรือฝากไปถวาย
การประเคน
เป็นการถวายเหมือนกัน แต่มีความเจาะจงเข้าไปอีก คือการส่งของให้ถึงมือผู้รับด้วยมือตนเอง ซึ่งผู้รับก็ต้องอยู่ที่นั้นเช่นกัน และรับด้วยมือตนเอง ถึงแม้จะใช้ทัพพีตักข้าวถวาย หรือผู้รับใช้บาตรรับ ก็ถือว่าทำด้วยมือตนเองทั้งนั้น
ประเคน ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; การประเคนต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ ๕ ประการ คือ
๑. ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้
๒. ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง
๓. เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้
๔. น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้
๕. ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
เมื่อครบองค์ประกอบ ๕ ประการนี้ จึงเรียกว่าประเคน
สรุปคือ ถวายก็คือให้ มอบให้ด้วยความเต็มใจ ประเคนคือการส่งให้ด้วยมือ เช่น การประเคนภัตตาหาร ยกตัวอย่างอีกที ชาวบ้านกล่าวคำถวายภัตตาหารเสร็จ นั่นถือว่าถวายแล้ว พระรับทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้ประเคน เมื่อยกภัตตาหารนั้นส่งให้พระด้วยมือ นั่นแหล่ะ เรียกว่าประเคน…
คำว่าประเคน อาจจะใช้คำว่าถวายแทนได้ แต่คำว่าถวายอาจจะไม่ได้หมายถึงการประเคน