เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดชนิดสุดขั้วนั้นมีอยู่มาก หากแต่จะกล่าวเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา อย่างน้อยมีอยู่ ๓ เรื่อง ได้แก่ ๑ เรื่องสังฆทาน ๒ เรื่องธุดงค์ ๓ เรื่องปฏิบัติธรรม
(บทความนี้นำมาจากเพจของท่านอาจารย์พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ซึ่งจะแสดงที่มาท้ายบทความ)
๑ เรื่องสังฆทาน
คนไทยเป็นจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า “สังฆทาน” คือสิ่งของชนิดหนึ่งที่นำไปถวายพระ
จึงนำสิ่งของชนิดนั้นเข้าไปถวายพระ-พระรูปไหนก็ได้-และเข้าใจว่านั่นคือ “ถวายสังฆทาน” หรือ “ทำบุญสังฆทาน”
ความจริง: “สังฆทาน” คือการที่เราตั้งใจถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์-เป็นของชนิดใดก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภคใช้สอย และต้องถวายให้เป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่พระรูปไหนก็ได้อย่างที่เข้าใจกันผิดกันมา
อธิบายคำว่า “ถวายแก่พระรูปไหนก็ได้” ที่มีความเข้าใจกันผิดกันมา คือ นำสิ่งของที่เรียกกันผิด ๆ ว่า “สังฆทาน” นั้นไปถวายหลวงพ่อเจ้าอาวาสหรือพระที่ตนรู้จัก เป็นที่เคารพศรัทธาของตน แบบนี้ก็เข้าใจกันว่า “ถวายสังฆทาน” นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
แต่ถ้า “พระรูปไหนก็ได้” ที่มาปฏิบัติหน้าที่รับของถวายในฐานะเป็น “ผู้แทนสงฆ์” คือรับของนั้นแล้วไปเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่อทำการแบ่งแจกกันตามพระบรมพุทธานุญาต อย่างนี้ถูกต้อง ใช้ได้ เป็นสังฆทาน
แต่ไม่ได้เป็น “สังฆทาน” ที่สิ่งของที่ถวาย อย่างที่เข้าใจกันผิดกันในทุกวันนี้ ที่นำเอาสิ่งของที่เรียกว่า “สังฆทาน” ไปถวายพระองค์ไหนก็ได้ให้เป็นของส่วนตัวของท่าน แบบนั้นไม่ใช่สังฆทาน ไม่เป็นสังฆทาน (เป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือเป็นการถวายเจาะจงบุคคล ถวายเป็นของส่วนตัว)
๒ เรื่องธุดงค์
คนไทยเกือบทั้งหมดเข้าใจว่า พระเดินแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม ไปตามที่ต่าง ๆ นั่นคือ “ธุดงค์”
เมื่อเห็นพระปักกลดพักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง คนไทยก็จะเรียก หรือจะบอกต่อ ๆ กันว่านั่นคือ “พระธุดงค์”
ความจริง: ธุดงค์ คือข้อปฏิบัติพิเศษที่กำหนดขึ้นสำหรับขจัดขัดเกลาความมักมากอยากเสพสุขเกินพอดีตามวิถีชีวิตสงฆ์ ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติ แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องทำทุกองค์
ข้อปฏิบัติที่เรียกว่า “ธุดงค์” มี ๑๓ ข้อ ดังนี้ –
๑. ปังสุกูลิกังคะ นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เก็บผ้ามาตัดเย็บย้อมทำขึ้นใช้เอง ไม่ใช้จีวรสำเร็จรูป (refuse-rag-wearer’s practice)
๒. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเฉพาะ ๓ ผืนที่เรียกไตรจีวร ไม่มีผ้าอื่นเกินไปจากนี้ (triple-robe-wearer’s practice)
๓. ปิณฑปาติกังคะ ฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา ไม่รับนิมนต์ไปฉันที่ใดๆ (alms-food-eater’s practice)
๔. สปทานจาริกังคะ รับบิณฑบาตตามลำดับที่มีผู้ใส่บาตร ไม่เลือกรับเฉพาะราย (house-to-house-seeker’s practice)
๕. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว คือเมื่อลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกตลอดวันนั้น (one-sessioner’s practice)
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นอีก (bowl-food-eater’s practice)
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ฉันอาหารตามปริมาณที่กำหนด คือตั้งใจฉันเท่าไรก็เท่านั้น ไม่รับอาหารเพิ่มอีก (later-food-refuser’s practice)
๘. อารัญญิกังคะ พักอาศัยเฉพาะในป่า ห่างบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น (forest-dweller’s practice)
๙. รุกขมูลิกังคะ พักอาศัยเฉพาะที่โคนไม้ ไม่พักที่อื่น (tree-rootdweller’s practice)
๑๐. อัพโภกาสิกังคะ พักอาศัยอยู่กลางแจ้ง ไม่เข้าที่มุงบัง (open-air-dweller’s practice)
๑๑. โสสานิกังคะ พักอาศัยอยู่ในป่าช้า (charnel-ground-dweller’s practice)
๑๒. ยถาสันถติกังคะ ไปพักที่ไหน เขาจัดที่พักให้อย่างไรก็อยู่ตามนั้น ไม่ต่อรองเลือกที่ (any-bed-user’s practice)
๑๓. เนสัชชิกังคะ อยู่ด้วย ๓ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน (sitter’s practice)
(ภาษาอังกฤษในวงเล็บจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)
จะเห็นว่าทั้ง ๑๓ ข้อ ไม่มีข้อไหนเลยที่กำหนดว่า แบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามที่ต่าง ๆ เป็นธุดงค์ ไม่ข้อเดินเป็นวัตร แบกกลดเป็นวัตร แต่อย่างไรก็ตามการเดินแบกกลด สะพายบาตร เป็นเรื่องที่น่าอนุโทนา แต่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
(บางท่านอาจจะแย้งว่า นั่นธุดงค์ในตำราในหนังสือที่เรียนกัน แต่ภาคปฏิบัติมันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมขอย้อนถามว่า แล้วท่านปฏิบัติธุดงค์ตามใคร เรียกว่า ธุดงค์ตามใคร ถ้าปฏิบัติธุดงค์ตามพระพุทธเจ้า เรียกว่าธุดงค์ตามพระพุทธเจ้า ฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องมาเรียกว่าธุดงค์)
๓ เรื่องปฏิบัติธรรม
คนไทยเข้าใจว่า “ปฏิบัติธรรม” คือการที่ต้องไปที่วัดหรือสำนักใดสำนักหนึ่งซึ่งที่มีกิจกรรมปฏิบัติธรรม ด้วยการแต่งชุดขาว กินนอนตามเวลาที่กำหนด ปฏิบัติกิจต่าง ๆ ตามวิธีและตามรูปแบบที่วัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นกำหนดขึ้น ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง หรือตามแต่วัดหรือสำนักนั้นจะกำหนดไว้ เมื่อครบกำหนดแล้วก็กลับบ้านได้ แล้วก็เข้าใจว่า “ปฏิบัติธรรม” ต้องทำอย่างนี้ การปฏิบัติธรรมที่คนไทยเข้าใจมาตลอด คือแบ่งเวลาออกจากชีวิตประจำวัน
ความจริง: การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือการปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงชีวิตประจำวัน กล่าวโดยรวบยอดคือ ทำพูดคิดทุกอย่างโดยมีสติกำกับจิตตลอดเวลา รู้เท่าทันสภาวะต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จะแต่งชุดขาวหรือไม่ขาวก็ปฏิบัติก็ปฏิบัติได้ จะนั่ง นอน ยืน เดิน ก็ปฏิบัติธรรมได้ เมื่อฝึกจนรู้วิธีปฏิบัติแล้ว
ส่วนการปฏิบัติธรรมตามวัดหรือตามสำนักตามเวลาที่กำหนด ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน นั่นคือแบบฝึกเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ
แบบฝึกเป็นสิ่งจำเป็น ต้องเรียกต้องฝึกทำให้ถูก แต่เมื่อทำถูกทำเป็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำแบบฝึกอีก หากแต่ทำจริง ๆ ในชีวิตจริงกันเลย และไม่ต้องแยกออกจากชีวิตประจำวัน ปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ในชีวิตประจำวัน
แบบฝึก เหมือนห่วงยาง จำเป็นสำหรับคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น
ว่ายน้ำเป็นแล้ว ไม่ต้องใช้ห่วงยาง
คนไทยปฏิบัติธรรมเหมือนคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็นตลอดกาล
หัดว่ายน้ำเพื่อจะได้ว่ายน้ำเป็น ไม่ใช่หัดว่ายน้ำตลอดชีวิต
กิจกรรมปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ยังจำเป็นต้องมี เพราะคนที่ไม่รู้วิธีปฏิบัติธรรมยังมีอยู่
อุปมาเหมือนวิธีหัดว่ายน้ำ-ไม่ว่าจะหัดหรือสอนด้วยวิธีใดๆ-ยังจำเป็นต้องมี เพื่อฝึกสอนคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นให้ว่ายน้ำเป็น แต่ต้องมีเป้าหมายที่-สอนให้ว่ายน้ำเป็นแล้วไม่ต้องมาหัดว่ายน้ำอีก ไปว่ายจริง ๆ เลย
กิจกรรมปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ยังจำเป็นต้องมี เพื่อฝึกสอนคนที่ยังปฏิบัติไม่เป็นให้ปฏิบัติเป็น แต่ต้องมีเป้าหมายที่-สอนให้ปฏิบัติเป็นแล้วไม่ต้องมาฝึกปฏิบัติอีก ไปปฏิบัติจริง ๆ ได้เลย
บทความนี้ผมนำมาจาก นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย Fanpage
เขียนโดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๙:๕๕
บทความอาจจะมีการเพิ่มข้อความหรือตัดบางส่วนออก ท่านผู้สนใจจริง โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ท่านอาจารย์ได้โพสต์ไว้
การที่ผมนำบทความนี้มาโพสต์ไว้ ก็เพื่อไว้ศึกษาและเผยแพร่สิ่งที่คนไทยเข้าใจผิดมาตลอดจะได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ในเรื่องสังฆทาน การธุดงค์ และการปฏิบัติธรรม
ขอกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติ คนไทยแยกการปฏิบัติธรรมออกจากชีวิตประจำวันอย่างน่าเศร้าใจ อย่างเช่น หากคนไหนไม่ดื่มเหล่า ไม่เจ้าชู้ พูดเรื่องธรรมะ ฝึกสติสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ ก็จะถูกพูดแหย่กระแนะกระแหนว่าให้ไปบวชบ้าง ให้ไปอยู่วัดบ้าง ซึ่งความจริงแล้วการงดเว้นจากการดื่มสุรา การพูดแต่ความสัตย์ การไม่เจ้าชู้ การบริหารจิตเป็นต้น ควรมีอยู่ในชีวิตประจำวันจริง ๆ
บางคนก็พูดว่าการปฏิบัติธรรมต้องสละทุกอย่าง แต่งตัวปอน ๆ ไม่มีของหรู ไม่มีรถ ไม่มีโทรศัพท์ใช้ ไม่ต้องหาเงิน ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งเข้าใจผิด อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นโสดาบัน ก็ยังต้องทำธุรกิจร้อยล้านพันล้าน มีทรัพย์มากมาย และก็เชื่อท่านอยู่บ้านที่สะดวกสบาย มันสำคัญที่ว่าเรามีอะไร ใช้อะไรแล้ว เรามีคุณธรรมไหม ของใช้ เสื้อผ้า รถ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไม่ได้ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมเลย