ทานอาหารที่เหลือจากพระได้ไหม
มีบางท่านสอบถามมาว่า อาหารที่ถวายพระนั้นสามารถรับประทานได้ไหม สามารถนำกลับบ้านได้ไหม เพราะติดใจว่านั่นของสงฆ์
ของสงฆนั้นท่านแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ลหุภัณฑ์ และครุภัณฑ์
ลหุภัณฑ์ คือของเบา มีบิณฑบาต เภสัช กับบริขารที่จะใช้สำหรับตัว คือบาตร จีวร ประคดเอว เข็ม มีดพับ มีดโกน เป็นของที่แจกกันได้ นำไปใช้ติดตัวได้
ครุภัณฑ์ คือของหนัก ไม่ใช่ของสำหรับใช้สิ้นไป เป็นของควรรักษาไว้ได้นาน เป็นเครื่องใช้ในเสนาสนะ หรือเป็นตัวเสนาสนะเอง ตลอดถึงกุฎีและที่ดิน เป็นของที่แจกกันไม่ได้
กล่าวถึงครุภัณฑ์ อย่างที่ดินที่ตั้งวัด กุฏิ ศาลา ของเหล่านี้แจกจ่ายไม่ได้ พระเองก็นำติดตัวไปไม่ได้ เวลาถวายที่ดิน กุฏิวิหารเขาจึงใช้คำถวายว่าเพื่อสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง 4 ทั้งที่มาแล้วและยังไม่ได้มา ซึ่งต่างจากการถวายอาหาร
ลหุภัณฑ์ คือของเบา มีบิณฑบาต เภสัช กับบริขารที่จะใช้สำหรับตัว บิณฑบาตนั้นก็คืออาหารคงจะรวมภัตตาหารประเภทต่างๆ อยู่ในนี้ด้วย เป็นของที่สามารถแจกจ่ายได้ การแจกอาหารนั้นถ้าเป็นทางการหน่อยก็กล่าวแจกโดยวาจา ที่เรียกว่าอปโลกนวาจา แต่คำอปโลกน์นี้ เท่าที่ทราบไม่มีแบบมาแต่เดิม อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นของเล็กน้อยที่สามารถทำแจกกันได้ง่ายๆ ไม่จำกัดสถานที่ทำ ไม่จำกัดข้อความภาษา เพียงแต่รับรู้กันว่าเป็นอันแจก ถึงทุกวันนี้บางวัดอาจจะใช้คำอปโลกน์ขึ้นต้นด้วยประมาณว่า “ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ……อะยัง….” แต่ก็เป็นคำที่แต่งขึ้นมาทีหลัง (คำอปโลกน์ต่างๆ โดยมากแต่งทีหลัง อย่างคำอปโลกน์กฐินก็เหมือนกัน ไม่มีแบบมาแต่เดิม บางวัดอย่างวัดธรรมยุตใช่ภาษาบาลีที่แต่งทีหลัง มหานิกายโดยมากใช้ภาษาไทย แต่งทีหลังเช่นกัน หรือใครทราบที่มา เช่นพระไตรปิฏก อรรถกถา ช่วยแจ้งให้ทราบด้วย) การแจกจ่ายอาหารด้วยวาจานี้ จึงอาจจะใช้ภาษาบาลีที่แต่งขึ้นมาทีหลังก็ได้ หรือใช้ภาษาของตนก็ได้ เช่นแจกด้วยภาษาไทย ภาษาลาว ที่ประเทศนั้นๆ ใช้กัน รับทราบกันได้ในสงฆ์และมหาชนที่อยู่ในที่นั้นๆ แม้จะเป็นการพูดสั้นๆ ง่ายๆ ด้วยภาษาของตน เช่น พระพูดกับพระว่าท่านนำสิ่งนี้ไปฉันเถอะ ท่านเก็บน้ำตาลนี้ไปฉันในขณะเดินทางนะ หรือพระบอกว่าโยมนำอาหารนี้ไปทานเถอะ นำสิ่งนี้ไป เสร็จแล้วนะ นี่ก็ถือว่าพระแจกหรือสละแล้ว
บางแห่ง โยมอาจจกล่าวคำขออาหารด้วยภาษาบาลีประมาณว่า “เสสัง มังคะลัง ยาจามะ” พระก็พูดประมาณว่า “ยะถาสุขัง ปริภุญชันตุ” ซึ่งแปลว่า ใครๆ สามารถปริโภคใช้สอยตามสบาย หรืออาจจะกล่าว สาธุ หรือนิ่งอยู่ หรืออาจจะกล่าวคำอื่นๆ ที่เป็นภาษาของตน นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งของการแจกอาหาร ให้พระทำการแจกอาหาร แบ่งปันอาหารนั้นๆ หรืออาจจะกล่าวขอด้วยภาษาของตนก็ได้ เพราะภาษาบาลีที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นคำที่ผูกแต่งขึ้นทีหลัง เช่นกัน
ความเข้าใจของผู้เขียนถ้าไม่กล่าวาจาอุปโลกน์ (ไม่แน่ใจว่าท่านบังคับวิธีการแจกไหม อันนี้จำไม่ได้ ใครเจอบาลีว่าต้องกล่าวด้วยวาจาเท่านั้น ช่วยส่งมาให้ดูด้วย) แต่การกระทำเป็นการรับรู้และเข้าใจว่านั่นคือการแบ่ง การแจกจ่าย ก็ถือว่าแบ่งแจกจ่ายแล้ว เป็นการสละแล้ว เช่นพระสงฆ์ผู้เป็นประธานรับภัตตาหารมา ตนเองตักใส่บาตรแล้ว จากนั้นส่งต่อให้พระผู้นั่งรองลงมาจนทั่วถึงทุกรูป ท่านไม่ได้บอก ไม่ได้พูดคำใดๆ แต่การกระทำชัดเจนแล้วว่านั่นคือการแจกการแบ่งภัตตาหาร การสละภัตตาหารนั้นให้รูปอื่นไป กับบุคคลทั่วไปก็เหมือนกัน พระท่านส่งให้ ชี้ให้ยกไป เป็นอันทราบว่าท่านได้สละหรือแจกจ่ายออกไปแล้ว
นำอาหารกลับบ้านได้ไหม บางท่านบอกว่าทานในวัดได้ แต่ห้ามนำกลับบ้าน ผู้เขียนบอกตรงๆ ว่างง ไม่เข้าใจ ทำไมทานที่วัดได้ แต่นำกลับไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้เห็นทีต้องรอให้ถ่ายออกในวัดก่อนหรอกหรือถึงกลับบ้านได้ ถามพระอาจารย์สายกรรมฐานหลายรูป ท่านก็ว่าพระสละแล้ว นำกลับได้ ดีกว่าปล่อยให้เน่าเสีย
โดยส่วนตัวแล้ว
-สิ่งนั้นเป็นลหุภัณฑ์ ที่สามารถแจกจ่ายได้ นำติดตัวได้
-พระสงฆ์ก็ทำการแจกจ่าย หรือสละแล้ว
-ตอนท่านสละแจกจ่าย ท่านก็ไม่ได้บังคับ หรือประกาศว่าต้องทานที่นี่เท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องทานที่วัดเท่านั้น
—-แต่ถ้าวัดไหน สงฆ์คณะไหนประกาศว่าให้ทานที่นี่เท่านั่น ห้ามนำออกจากวัด แบบนี้ท่านไม่ต้องนำออกไปหรอก ปล่อยให้เน่าอยู่วัดนั่นแหล่ะ เป็นขยะแล่วก็ไม่ต้องออกไปทิ้งข้างนอกวัดหรอก ปล่อยให้เน่าอยู่วัดนั้นไปเลย