หนึ่งในสุดยอดพระเครื่องเมืองลำพูน อายุ 1300 กว่าปี พระคง วัดพระคงฤๅษี
สถานที่พบพระคง
พระคงถูกค้นพบในบริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งในเมืองลำพูน สมัยที่พบแรก ๆ ชาวบ้านเรียกว่า พระโข่ง หรือ พระโค่ง ที่เรียกเช่นนั้นเพราะองค์พระมีขนาดใหญ่กว่าพระหลอดซึ่งมีขนาดเล็ก ต่อมาไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด หรืออาจจะต้องการเรียกให้ดูดีมีคุณค่าขึ้น หรือเป็นเพราะพระกรุดังกล่าวเป็นที่รู้จักในส่วนกลางมากยิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น จึงเรียกพระโข่งหรือพระโค่งว่าพระคง เรียกพระหลอดว่าพระรอด เรียกวัดร้างที่พบพระคงว่าวัดพระคงฤๅษีเพื่อให้สอดคล้องกับตำนานการสร้างวัดของพระนางจามเทวี
ตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีผู้เป็นธิดาเจ้ากรุงละโว้ได้เสด็จขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญชัยตามคำทูลเชิญของฤๅษี ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 เมื่อนางได้มาปกครองเมืองหริภุญชัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่นางทำคือการทำนุบำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการสร้างจตุรพุทธปราการ ซึ่งตีความหมายว่าเป็นวัดหรือพระเจดีย์ทั้งสี่ทิศรอบเมือง ในตำนานไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นวัดอะไรบ้าง จึงมีความเชื่อที่แตกต่างกันไปว่ามีวัดไหนบ้าง จึงพยายามหาว่าน่าจะเป็นไหน โดยเริ่มจากวัดที่พบพระคง ที่เรียกว่า วัดพระคงฤๅษี
วัดประจำทิศทั้ง 4 แห่งเมืองหริภุญชัยนั้น ได้แก่
1.วัดพระคงฤๅษี อยู่ทางด้านเหนือ
2.วัดประตูลี้ (วัดสังฆาราม) อยู่ด้านทิศใต้
3.วัดดอนแก้ว (วัดอรัญมิการาม) อยู่ด้านทิศตะวันออก
4.วัดมหาวัน อยู่ด้านทิศตะวันตก อันเป็นที่มาของการพบพระรอดมหาวันอันลือชื่อ
บางความคิดเห็นก็ว่า วัดทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ วัดพระคงฤๅษี วัดกู่เหล็ก วัดดอนแก้ว วัดมหาวัน
เมื่อพระนางสร้างวัดเสร็จแล้ว จึงได้สร้างพระเครื่องเพื่อบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ นัยว่า เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่อเผยแผ่พระศาสนา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวเมือง เพื่อให้ชาวเมืองมีความเชื่อมั่นในพระองค์ หรือเพื่อเป็นเครื่องป้องกันเมืองหริภุญชัย เพื่อให้ชาวเมืองมีความสุขสงบร่มเย็น จึงเรียกสิ่งที่สร้างขึ้นมาทั้ง 4 ทิศนั้นว่า จตุรพุทธปราการ ซึ่งถ้าตามตัวอักษรก็ประมาณว่า กำแพงพระพุทธ 4 ทิศ (เครื่องป้องกันโดยอาศัยพุทธานุภาพประจำทิศทั้ง 4)
บางท่านอาจจะแย้งว่า ฤๅษีเป็นผู้สร้างพระคง กล่าวอย่างเช่นนั้นก็ไม่ผิด เพราะฤๅษีเหล่านั้นที่สร้างพระเนื้อดินเผาบรรจุพระเจดีย์ต่าง ๆ ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากนาง สร้างในยุคสมัยของนาง ก็เหมือนพระนางเป็นผู้สร้าง หรือให้สร้าง
พระคงนั้น ไม่ได้พบแค่กรุหรือบริเวณวัดพระคงฤๅษีเท่านั้น ยังพบพระคงที่กรุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่ามีพระคงปนมาด้วยเกือบทุกกรุ พบกระทั่งในกรุต่างที่ กรุบ้าน-ก้อทุ่ง ลำพูน กรุต่างเมืองก็พบเช่นที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นต้น
พระคงนั้น เป็นที่รู้จักกันมานาน มีการค้นพบเรื่อย ๆ พระคงที่ถูกค้นพบก่อนถูกอาราธนาสัมผัสแตะต้องในการบูชามาก่อนจนพระสึกหรือมีเนื้อจัดจ้านมากก็เรียกว่าพระคงกรุเก่า ที่ถูกค้นพบใหม่ในยุคที่เลี่ยมพาสติกแล้วพระก็มีสภาพดีสวยงาม เรียกว่าพระคงกรุใหม่ พระคงกรุเก่ากรุใหม่ไม่ได้เป็นเครื่องกำหนดอายุการสร้างและราคา หมายความว่าพระคงกรุเก่าหรือพระคงกรุใหม่ก็ถือว่ามีอายุการสร้างเท่ากัน ส่วนราคาขึ้นอยู่กับความพอใจโดยมากเน้นความสวยงามสมบูรณ์เป็นหลัก
อันที่จริง เราไม่อาจจะรู้ได้อย่างชัดเจนว่าพระคง พระรอด พระตระกูลลำพูนแต่ละองค์แต่ละพิมพ์มีอายุเท่าไหร่กันแน่ แต่เก่าก่อนสมัยอยุธยาแน่นอน ที่กล่าวกันว่า พระคง พระรอดมีอายุ 1300 ปี เพราะอ้างถึงตำนานพระนางจามเทวีที่มาครองเมืองหริภุญชัยในพุทธศตวรรษที่ 12-13 และเชื่อว่าสร้างในสมัยนั้น ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เหมือนกับตำนานพระธาตุพนมที่กล่าวว่าสร้างโดยพระมหากัสสปะและเจ้าเมืองทั้งห้าเมื่อราวปี พ.ศ. 8 นั่นคือตำนานกล่าวไว้อย่างนั้น แต่จะจริงหรือไม่ เราก็ยึดตามตำนานไว้ก่อน เพราะตอนนี้ไม่เหลืออะไรให้พิสูจน์แล้ว แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า ถ้าพระธาตุพนมสร้างในปี พ.ศ. 8 จริง พระพุทธศาสนาก็ต้องเข้ามาสู่สถานที่แห่งนั้นตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว หรือก่อนนั้นอีกเพราะตำนานยังกล่าวอีกว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาในบริเวณนั้น แต่ตามประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิซึ่งกินพื้นที่กว้างขวางรวมประเทศไทยอยู่ด้วย เมื่อราวปี พ.ศ. 236 ยุคสมัยเดียวกันกับพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา 9 สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช
พุทธลักษณะพระคง
พระคง เป็นพระพิมพ์ดินเผา มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธประทับนั่งปางมารวิชัยแบบขัดสมาธิเพชร เหนืออาสนะฐานบัลลังก์ หรือที่เรียกว่าฐานบัวเม็ดสองชั้น แสดงพระวรกายอ้วนล่ำ พระเศียรที่ดูเหมือนโล้น แต่ถ้าพิจารณาจะพระรัศมีรอบพระเศียรก็ดูเหมือนจะมีจุกพระเมาลีหน่อยหนึ่ง พระกรรณยาวประบ่า รอบองค์พระเป็นร่มโพธิพฤกษ์ที่ดูเหมือนธรรมชาติเป็นอย่างมาก
พุทธคุณพระคง ลำพูน
พุทธคุณพระคงนั้น อันดับแรกคนไทยเชื่อในพุทธคุณตามชื่อที่เป็นมงคล ไม่งั้นจะใช้ว่านหรือไม้ที่มีชื่อมงคลมาสร้างพระหรือ ฉะนั้น พุทธคุณพระคง จึงมีความเชื่อว่า คงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันอันตราย นำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ ถ้าพิจารณาถึงยุคหรือเหตุการณ์สมัยที่สร้างพระคงเพื่อบรรจุไว้ประจำทิศทั้งสี่ พุทธคุณก็น่าจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คือ แคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันอันตราย นำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ สมกับที่ได้สร้างเป็นจตุรพุทธปราการ
คาถาบูชาพระคง ประจำบทนี้
ภะชิตา เยนะ สัทธัมมา | ภัคคะปาเปนะ ตาทินา |
ภะยะสัตเต ปะหาเสนโต | ภะยะสันตัง นะมามิหัง |
พระสัทธรรมทั้งหลาย อันพระพุทธเจ้าพระองค์ใดผู้มีบาปอันหักทำลายแล้ว มีพระหฤทัยคงที่ ทรงแจกแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงยังสัตว์ผู้กลัวภัยให้หายกลัว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีภัยอันระงับแล้วพระองค์นั้น
เป็นการรวบรวมข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต จากที่ต่าง ๆ จนจำไม่ได้ ผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ โอกาสนี้