กัมมัสสะโก เราผู้มีกรรมเป็นของของตน
กัมมะทายาโท เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนิ เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระโณ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราเคยจะได้ยินคำนี้บ่อย ๆ จากพระ หรือในหนังสือบทสวดมนต์ คำเทศนาต่าง ๆ
จึงทำให้บางท่านคิดว่าที่เราได้รับกรรมทุกวันนี้ เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะเป็นผลกรรมของผู้อื่น ผู้เป็นพ่อ ผู้เป็นแม่ หรือบรรพบุรุษที่เคยทำกรรมมาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พ่อไปทำปาณาติบาตล่วงละเมิดศีลข้อที่หนึ่งคือฆ่าลิง แล้วลูกเกิดออกมาหน้าตาจึงเหมือนลิง คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า นั่นเป็นผลกรรมที่พ่อทำ แล้วตกทอดถึงลูก ลูกจึงเป็นผู้รับผลของกรรมที่พ่อทำไว้นั้น
แต่แท้จริงแล้ว นั่นเป็นผลกรรมของผู้เป็นลูกเอง ลูกต้องเคยทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องส่งผลให้มาเกิดเป็นแบบนี้ ในลักษณะแบบนี้ และอันเนื่องด้วยกรรมที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน อาจจะส่งผลหรือดึงดูดกรรมที่มีลักษณะอย่างเดียวกันให้มาปรากฏ อย่างผู้เป้นพ่อทำร้ายลิงจนถึงทำให้เสียชีวิต เขาได้สร้างกรรมชนิดนี้ขึ้นมา ซึ่งการกระทำได้ถูกฝังหรือถูกบันทึกในจิตใจของเขาเอง และการกระทำนี้และดึงดูดคนที่ทำกรรมในลักษณะอย่างเดียวกันมาหาเขา แม้บุคคลนั้นจะอยู่ต่างภพต่างชาติก็ตามที ดึงดูดให้มาเกิดร่วมกัน และเขาเองก็ยังต้องรับผลของกรรมสืบใด ตราบใดที่ยังไม่มีกรรมอื่นที่หนักกว่ามาตัดรอนไป
ฉะนั้น คำว่า กัมมัสสะโก เราผู้มีกรรมเป็นของของตน กัมมะทายาโท เป็นผู้รับผลของกรรม กัมมะโยนิ เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด กัมมะพันธุ เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะปะฏิสะระโณ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราอย่าลืมพิจารณาคำสรุปต่อท้ายว่า ยัง กัมมัง กะริสสามิ เรากระทำกรรมอันใดไว้ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ดีหรือชั่ว ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น นั่นชัดเจนอยู่แล้วว่าเราจักเป็นผู้รับผลของกรรม หาใช่ผู้อื่นเป็นผู้รับไม่