ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่
เรื่องกรรมมีจริงหรือไม่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง หรือไม่ ขอทราบเหตุผลว่าพระพุทธศาสนา แสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร?
เรื่องกรรม การให้ผลของกรรมตามสมควรแก่เหตุที่บุคคลได้กระทำลงไปนั้น เป็นเรื่องจริง ๆ อย่างที่ได้กล่าวกันมาแล้วแน่นอน
สำหรับในที่นี้จะพูดในส่วนที่เป็นการให้ผลของกรรมว่า เราจะสังเกตุได้อย่างไร ? แต่อย่าลืมว่ากรรมมีความสลับซับซ้อนอยู่มาก พระพุทธเจ้าทรงจำแนกในแง่การให้ผลของกรรมเพื่อเป็นหลักในการกำหนดพิจารณา เชื่อมโยงให้เห็นว่าอะไรเป็นผลของอะไรเรียกว่า ที่ทรงจำแนกกรรมขนาดใหญ่แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
๑.พฤติกรรมของคนที่เป็นไปตามครรลองแห่งกุศลธรรม แต่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในชาตินี้ และบังเกิดในทุคติหลังจากตายไปแล้วก็มี
๒.พฤติกรรมของบุคคล ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่าเป็นคนทำทุจริต แต่ได้รับความสุขความเจริญในชาติปัจจุบันและบังเกิดในสุคติหลังจากตายไปแล้วก็มี
๓.พฤติกรรมของคนบางคนปรากฎให้เห็นในปัจจุบันว่าประกอบด้วยสุจริตธรรมด้วยได้รับความสุขในชีวิตปัจจุบันและตายไปเกิดในสุคติด้วยก็มี
๔.พฤติกรรมของคนบางคนปรากฎให้เห็นในปัจจุบันว่าเป็นผู้ทำทุจริตด้วย ได้รับความทุกข์ในชาติปัจจุบันและตายไปบังเกิดในทุคติด้วยก็มี
จากหัวข้อใหญ่ ๆ ๔ หัวข้อนี้จะพบว่า ๑-๒ ฟังดูออกจะสับสนเพราะดูเหมือนจะขัดแย้งกันจนถึงกับมีคนกล่าวว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เข้าใจนัยแห่งมหากัมมวิภังคสูตรการที่มองตามตัวอักษรเห็นว่าสับสนนั้น อันที่จริงหาสับสนไม่ การที่คนสองประเภทแรกได้รับผลตรงกันข้ามกับกรรมในปัจจุบันของตน เป็นเพราะอกุศลกรรมและกุศลกรรมในอดีตมามีอิทธิพลเหนือชีวิตของเขา กรรมที่ปรากฎในปัจจุบันจึงไม่อาจให้ผลได้ต้องยกยอดไปให้ผลในโอกาสต่อไป ส่วนสองประเภทหลังให้ผลแบบตรงตัวแต่ทั้งสี่ประเภทนั้นยังคงอยู่ในหลักการที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อยู่นั่นเองข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ความว่า
- เป็นไปไม่ได้ที่คนผู้กระทำความชั่วแล้วจะได้รับผลเป็นความสุขความเจริญเพราะการกระทำความชั่วนั้นเป็นเหตุให้เกิดขึ้น
- เป็นไปไม่ได้ที่คนซึ่งกระทำความดีแล้วจะได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะการกระทำความดีของตนเป็นเหตุ
หากใครประสบกับผลที่มีลักษณะขัดแย้งกับเหตุที่ตนกระทำในปัจจุบัน พึงรู้เถิดว่าผลนั้นจะต้องเกิดมาจากเหตุในอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่ผลที่ปรากฎ
อันที่จริงการให้ผลแห่งกรรมนั้นเป็นการให้ผลตามลำดับที่บุคคลอาจกำหนดสังเกตุได้ เช่น บุคคลปลูกมะพร้าวสักต้นหนึ่งผลจะเกิดตามลำดับดังนี้
อันดับแรก ได้ต้นมะพร้าวเป็นสมบัติหนึ่งต้น
อันดับสอง เมื่อเวลาผ่านไปด้วยการเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน มะพร้าวก็ออกลูก
อันดับสาม ลูกของมะพร้าวที่ออกมานั้นย่อมให้ผลไปตามลำดับจากอ่อนถึงสุก
อันดับสี่ เมื่อเรานำผลไปขาย หรือปรุงอาหาร ก็ได้รับประโยชน์จากมะพร้าวนั้น
และผลของมะพร้าวนั้นจะตามให้ผลแก่คนซ้ำซ้อนหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ แม้ในเรื่องอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน ขอเพียงใช้ความสังเกตพิจารณาก็จะเห็นได้ไม่ยากนัก
อีกประการหนึ่ง ที่ท่านถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะทำให้กรรมสามารถแสดงผลเต็มที่ทั้งในด้านดีและไม่ดี คือ
- กาล หมายถึง ยุคสมัยที่ผู้ปกครองหัวหน้าเป็นต้น ลักษณะส่งเสริมให้ผลกรรมปรากฎได้ชัดเจน เช่น มีผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นคนดี ถือว่าเป็นกาลสมบัติ
- คติ หมายเอาภพ กำเนิด สถานที่ที่ตนอยู่อาศัยเกิดอำนวยให้กรรมให้ผลได้เติมที่
- อุปธิ คือเรื่องสุขภาพพลานามัย ความสมบูรณ์ บกพร่องแห่งอวัยวะร่างกาย
- ปโยคะ คือการกระทำในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนให้กรรมแสดงผลได้
เต็มที่หรือไม่
ทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านจัดเป็นสมบัติคือสมบูรณ์ วิบัติคือบกพร่องไปในด้านกุศลกรรม หากทั้ง ๔ ประการนี้สมบูรณ์ ผลกรรมก็ปรากฎได้อย่างเด่นชัด อย่างที่เรียกกันว่า
“บุญมาวาสนาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก”
หากองค์ประกอบ ๔ ประการนี้บกพร่องไป กรรมทั้งสองฝ่ายก็ให้ผลเต็มที่ไม่ได้ แต่ที่แน่นอนที่สุดคือคนเราทำกรรมอันใดไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะดีหรือชั่วจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ให้ใช้สติปัญญาระลึกพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นได้สำคัญอย่าหลงประเด็นก็แล้วกัน.