ถ้าทุกสิ่งเป็นอนัตตา จะมัวปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปทำไม
พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาหาสาระมิได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วจะหลงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปทำไม เพราะอะไรๆก็ไม่มีสาระเสียแล้ว?
ฟังดูเผินๆก็น่าจะเป็นอย่างนั้น หากจะตอบสั้นๆก็อาจตอบได้ว่าที่คนต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น เพื่อต้องการให้เข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย จนสามารถถ่ายถอนตัณหาคืออาการของจิตที่ทะเยอทะยานอยากในสิ่งทั้งหลายและอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายออกไป เปรียบเหมือนการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในด้านกายภาพและชีวภาพ ในการวิเคราะห์นั้น จะวิเคราะห์จนเข้าถึงกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง จนเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตก็ตามไม่มีแก่นสารตัวตนอะไรประกอบขึ้นและรวมตัวกันอยู่ด้วยปรมาณูแห่งธาตุทั้งหลาย ในที่สุดจะเข้าถึงการแยกตัวตนออกเป็นพลังงานอันไม่มีตัวตนกลายเป็นพลังในทางทำลายอันมหาศาล เช่นระเบิดปรมาณู อันเกิดขึ้นจากการแยกปรมาณูเพื่อให้เกิดพลังงาน
แต่การให้เห็นความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลายนั้นไม่เกิดผลในการทำลายล้างคนสัตว์ แต่กลายเป็นพลังในการทำลายกิเลส หรืออวิชชา ด้วยพลังแห่งวิชชาอันจะบังเกิดขึ้นได้ด้วยการละความชั่ว บำเพ็ญความดี หรือการลดปริมาณแห่งอวิชชา ความไม่รู้ เสริมสร้างวิชชา ความรู้ จนอวิชชาหมดไปเพราะความปรากฏอย่างเต็มที่ของวิชชา ได้ชื่อว่า เขาถึงเป้าหมายองค์พระพุทธศาสนา เมื่อถึงระดับนี้แล้วกิจด้วยการละชั่ว ประพฤติดีหมดไปเพราะท่านละได้ทั้งบุญและบาปหมดสิ้นแล้วหากจะตอบเพียงนี้ก็ได้
แต่เห็นควรทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาซึ่งควรทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ คือ
อนัตตา คืออะไร?
ส่วนมากเรามักจะพูดกันว่า อนัตตา ได้แก่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนฟังแล้วทำให้หลงทางได้ง่าย คำว่าอนัตตาท่านจึงแสดงว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” โดยแสดงลักษณะ ที่เรียกว่าอนัตตาไว้ว่า
สิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใคร
สิ่งทั้งหลายตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นตัวตน
ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่ง คน ทั้งหลายอย่างแท้จริง
เมื่อแยกย่อยออกไปแล้วกลายเป็นของสูญคือว่างเปล่าจากตัวตน
ด้วยความหมายที่ท่านนิยามออกมานั้นเป็นการประกาศให้ทราบความจริงของคนสัตว์ สิ่งของทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมว่ามีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งเมื่อคนปรับจิตของตนให้เข้าถึงและยอมรับได้ตามสมควรแก่กรณี แล้วย่อมทำให้ความยึดติดในลักษณะต่างๆอ่อนตัวลงไม่ต้องทุกข์โศกเป็นต้น ในเมื่อประสบกับเรื่องที่ชวนให้ทุกข์ให้โศกเป็นต้น ในขณะเดียวกันเพื่อบรรลุถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอนัตตานั้น ท่านให้ยึดเอาสาระแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านี้ คือ
“ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะและปรมัตถสาระ”
ธรรมเหล่านี้ทรงแสดงว่าเป็นสาระแห่งธรรมทั้งหลาย ซึ่งเน้นหนักไปในข้อปฎิบัติที่จะนำคนเข้าไปสู่พระนิพพานคือสภาพจิตที่ถึงความสมบูรณ์แห่งสุขอันเกิดจากความสงบจากสรรพกิเลส หลักกุศลธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเมื่อเราแบ่งออกเป็นระดับจะได้สองระดับ คือ
วัฎฎคามีกุศล คือกุศลความดีที่บุคคลจะต้องยอมรับว่ามีอยู่เป็นอยู่แห่งสิ่งทั้งหลายตามโลกบัญญติ เช่น นับถือพ่อแม่ ครูอาจารย์ ให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาเป็นต้น แต่ไม่ควรจะยึดติดในสิ่งต่างๆในลักษณะตายตัว เช่นตนมีหน้าที่ ตำแหน่งงานอะไรอยู่ ก็ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่หน้าที่ตำแหน่งงานนั้นๆให้ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ไม่ควรยึดติดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ จนมีการยกตนเสมอท่านหรือยกตนข่มคนอื่นเป็นต้นหรือยึดถือ ว่าตนเท่านั้นจะต้องเป็นเช่นนี้คนอื่นเป็นไม่ได้ ในระดับนี้พระพุทธศาสนายอมรับความ
จริงตามที่สมมติเรียกร้องกันแต่ไม่ยึดถือเป็นตัวเป็นตนจนเกิดความเดือดร้อน
วิวัฏฏคามีกุศล คือเรื่องที่เป็นความจริงอย่างแท้จริงไม่เกาะเกี่ยวด้วยสมมติบัญญติแต่เป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ แต่ควรเข้าใจว่าหลักธรรมแม้ในส่วนที่เป็นวิวัฏฏคามีกุศลคนธรรมดาก็อาจสัมผัสได้ในระดับหนึ่ง เช่นการฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นการระงับกิเลสไว้ได้ชั่วคราวอันท่านเรียกว่า ตทังควิมุตติ คือจิตหลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ หรือความเข้าถึงอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย หากคนปรับจิตให้เหมาะสมแล้วสามารถได้รับประโยชน์อย่างมากในขั้นที่เป็นวัฏฏคามีกุศล