สอนไม่ให้ยึดถือ แต่ถ้านับถือพระพุทธศาสนา จะขัดแย้งกับอนัตตาไหม
พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดถือสิ่งทั้งปวง ถ้าเรานับถือศาสนาเช่นศาสนาพุทธอย่างนี้จะมิเป็นการขัดแย้งกับคำสอนดังกล่าวหรือ?
ไม่เห็นขัดแย้งอะไรกันนี่อันที่จริงการนับถือพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอะไรก็ตาม เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของบุคคล เพราะคนเราไม่มีใครที่จะรู้อะไรไปทุกอย่าง โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนได้ การนับถือพระพุทธศาสนาก็เพื่อศึกษาให้รู้และปฎิบัติให้ถูกต้องตามเหตุผลที่ทางศาสนาได้จำแนกแสดงไว้
การยึดหลักของพระศาสนาจึงเป็นเหมือนนักเรียนผู้เริ่มฝึกเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ จำเป็นต้องอาศัยไม้บรรทัดการสะกดอักษรกันไปตามหลักเกณฑ์ที่ท่านแสดงไว้ แต่เมื่อเกิดความชำนิชำนาญดีแล้วความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นก็หมดไปคือ การเขียน การอ่าน การทำความเข้าใจก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ
การปฏิบัติธรรมอันเกิดขึ้นจากการศึกษาสดับฟังทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ในขั้นแรกจำเป็นจะต้องยึดหลักตามที่ท่านสอนไว้ เมื่อถึงจุดหนึ่งท่านจะถ่ายถอนความยึดติดในรูปแบบต่างๆได้ จิตของท่านจะมีปฏิกิริยาต่ออารมณ์หรือสิ่งเร้าทั้งหลายเองโดยอัตโนมัติ
การสอนสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นเรื่องของสัจธรรมอันบุคคลจะเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก เพราะคนจะมีความรู้สึกว่า
“นั้นเป็นของเราเช่นตัวเรา ญาติเรา น้องเรา ทรัพย์สมบัติของเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นเราเป็นนายทหาร เป็นข้าราชการเป็นต้น หรืออาจยึดถือว่านั่นเป็นตัวเป็นตน จนเกิดการแบ่งแยก เป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเป็นหมู่กัน”
เรื่องการยึดถือในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ถ่ายถอนได้ยากมาก เครื่องมือที่จะนำไปสู่การถ่ายถอนความยึดถือในลักษณะที่หลงผิดดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ก็ต้องอาศัยหลักศาสนาที่ตนได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติตามเท่านั้น
ดังนั้นการนับถือพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหตุให้คนเข้าถึงความจริงโดยการถ่ายถอนอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ความปล่อยวางจึงเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งสองจึงเป็นเหตุเป็นผลกัน เป็นปัจจัยของกันและกัน ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าถึงให้ได้ทั้งสองระดับจึงจะได้ประโยชน์จากพระศาสนาอย่างแท้จริง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าธรรมที่ทรงแสดงนั้นเปรียบเหมือน แพ ทุ่น หรือยานพาหนะที่คนต้องอาศัยข้ามฟาก แน่นอนว่าตราบใดที่คนเหล่านั้นยังเดินทาง จากฟากหนึ่งไปสู่ฟากหนึ่งนั้น เขาต้องมียานพาหนะสำหรับอาศัยและต้องยึดถือพาหนะเหล่านั้นเป็นที่พึ่ง แต่เมื่อเขาถึงฝังแล้วเขาต้องละพาหนะเหล่านั้นเพื่อขึ้นฝั่ง ซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้น เขาจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือจะขึ้นฝั่งหรือว่าจะอยู่ในพาหนะที่อาศัยมา แต่จะขึ้นฝั่งพร้อมด้วยแบกเรือไปด้วยไม่ได้
เพราะเหตุนี้พระอริยบุคคลทั้งหลายท่านจึงมีศีลมีธรรม แต่ท่านไม่ยึดถือในสิ่งเหล่านั้น เช่นศีลของท่าน ก็ไม่ต้องระมัดระวังสำรวมระวังอะไรอย่างที่คนทั่วไปเขาทำกัน เพราะศีลของท่านมีสมบูรณ์จนไม่ต้องสำรวมระวังอย่างคนที่ศีลยังไม่สมบูรณ์ต้องคอย สำรวมระวังสมาทานแสดงอาบัติกันอยู่ ศีลของพระอริยบุคคลจึงมีลักษณะที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
อันที่จริงเรื่องการเข้าถึงความจริงสองระดับนี้ ระดับการปล่อยวางความยึดถือเป็นปหาตัพพธรรมคือธรรมที่ต้องละ แต่การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นภาเวตัพพธรรม คือธรรมที่ต้องสร้างให้มีให้เป็นขึ้นในชีวิตจิตใจของตน หากคนเข้าถึงธรรมสองฝ่ายนี้ตามสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ปัญหาเรื่องยึดถืออะไรไม่ยึดถืออะไรก็จะหมดไป
การรู้ธรรมสองฝ่ายนี้จัดเป็นความรู้อริยสัจ ๔ อย่างไร?
การเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนในระดับต่างๆอันเกิดชึ้นจากความยึดถือในสิ่งทั้งหลายแล้วกำหนดรู้ไว้ว่า นี่ทุกข์ จัดเป็นทุกขสัจ
การกำหนดเห็นความเป็นโทษอันเกิดจากความยึดถือในขันธ์ ๕ ประการด้วยอำนาจตัณหาว่าของเรา ด้วยอำนาจมานะว่า เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ละเสีย จัดเป็นทุกข์สมุทัยอริยสัจ
การกำหนดให้รู้จักว่าผลเกิดขึ้นจากการนับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความสงบเย็น เป็นความหมดไปสิ้นไปแห่งความยึดมั่นถือด้วยประการนั้นๆ จนถึงเป็นบรมสุขว่าเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้งจัดเป็นทุกข์นิโรธอริยสัจ
การกำหนดรู้ว่าผลที่ตนจำนงหวังจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาจัดเป็นทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วจะพบว่าท่านสอนให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา แทนที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยโมหะความหลง เพราะชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด
ด้วยเหตุนี้ข้อความในปัญหานี้จึงไม่มีลักษณะขัดแย้งกันตามที่ถามมา