ห้ามฆ่าสัตว์ แต่ทำไมจึงไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์
พระพุทธศาสนาห้ามฆ่าสัตว์ แต่ทำไมจึงไม่ห้ามการกินเนื้อสัตว์?
นั่นน่ะซีน่าคิดเหมือนกันนะ ข้อที่น่าคิดนี้แหละจึงควรคิดไปตามลำดับ คืออย่างไร? คือ“การตัดสินว่าบาปหรือบุญในพุทธศาสนานั้นท่านกำหนดด้วยเจตนาเป็นสำคัญ” “เจตนากินกับเจตนาฆ่าคนละเจตนากัน”
เรื่องนี้เห็นจะต้องพูดกันมากหน่อย จึงขอยึดหลักไว้ก่อนเรื่องปรากฏในพาโลวาทชาดก ทุกนิบาต ความย่อว่าพระโพธิสัตว์บวชเป็นดาบส คฤหบดีคนหนึ่งต้องการจะแกล้งท่าน จึงนิมนต์มาฉันที่บ้านด้วยอาหารที่เป็นปลาและเนื้อเมื่อดาบสฉันเสร็จแล้วคฤหบดีกล่าวว่า
หนตวา ฆตวา วธิตวา จ เทติ ทาน อสญญโต
อีทิส ภตต ภุญชมาโน ส ปาปมุปลิมปติ
บุคคลผู้ไม่สำรวม ประหาร ทรมาน ฆ่าสัตว์ให้ตายแล้วย่อมให้ทาน ผู้บริโภคภัตรเช่นนี้ต้องติดบาป พระดาบสโพธิสัตว์ตอบว่า
ปุตตทารมปิ เจ หนตวา เทติ ทาน อสญญโต
ภุญชมาโนปิ สปุปญโณ น ปาปมุปลิมปติ
บุคคลผู้ไม่สำรวม แม้จักฆ่าบุตรและภรรยาให้ทาน ผู้มีปัญญา แม้บริโภคย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยบาป
ทำไมจึงพูดว่า เจตนากิน กับเจตนาฆ่าเป็นคนละเจตนากันเล่า? เพราะความจริงเป็นเช่นนั้น คนกินนั้นไม่มีเจตนาเกี่ยวข้องกับการฆ่าแต่ประการใด ถ้าคนกินเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวเป็นบาป ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ดีพระอรหันต์ก็ดี ทรงเสวยและฉันอาหารที่ทายกบริจาคถวายก็ต้องเป็นบาปด้วย เมื่อเป็นบาปด้วยก็เป็นการปฏิเสธว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ละบุญและบาปได้แล้วตามที่ท่านกล่าวว่า “ปุญญปาปปหีโน คือมีบุญและบาป อันละได้แล้ว”
พระพุทธเจ้าทรงเสวยเนื้อหรือไม่?
ตามพระวินัยปิฏกบอกไว้ชัดเจนว่าทรงเสวยเนื้อเช่นเดียวกัน เพราะทรงดำรงชีวิตด้วยอาหารที่ทายกเขาถวายตามที่เขามีอยู่ บริโภคกันอยู่และโภชนะอันประณีตก็ทรงแสดงว่าได้แก่ “เนยใส่ เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม” เพราะเจตนากินไม่เป็นบาป การบริโภคเนื้อสัตว์จึงไม่ถูกห้ามไว้สำหรับคนทั่วไป
ทำไมจึงพูดว่าสำหรับคนทั่วไป?
เพราะว่าในการบริโภคเนื้อสัตว์ของภิกษุสามเณรนั้น ทรงกำหนดไว้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับการฆ่าสัตว์นั้น ๆ มาบริโภค โดยกำหนดเป็นขั้นตอนไปดังนี้
-การบริโภคอาหารทุกชนิดต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน
-เนื้อบางชนิด เช่น เนื้อคน เนื้อม้า เนื้อช้าง เนื้องู เนื้อเสือ เป็นต้น ห้ามฉัน
-ห้ามมิให้ฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ตนเห็นได้ยินหรือสงสัยว่าเขาฆ่าเนื้อนั้นเจาะจงถวายให้ตนฉัน
-กรณีที่ต้องฉันอาหารที่เป็นเนื้อไม่ให้ฉันด้วยตัณหา คืออยากกินแต่ให้กำหนดว่าตนจำเป็นต้องฉันเนื้อเหล่านั้น เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้เหมือนพ่อที่จำเป็นต้องกินเนื้อบุตรที่ตายในทะเลทราย เพื่อให้ชีวิตของตนรอดไปจากทะเลทราย
สำหรับผู้ฆ่าสัตว์นั้นเจตนาประกอบด้วยกิเลสไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งคือ
ถ้าเป็นการฆ่าเพื่อกินหรือเพื่อขายเจตนานั้นประกอบด้วยความโลภ
หากฆ่าเพื่อต้องการให้ตายเห็นได้ชัดว่าฆ่าด้วยความโกรธ
หากเป็นการเบียดเบียนสัตว์ บี้มด เรือด ตบยุงเล่น เป็นต้นเจตนาประกอบด้วยโมหะ
ส่วนเจตนากินล้วน ๆ นั้นไม่ประกอบด้วยกิเลสเหล่านั้น แต่หากเป็นความอยากกิน ก็ต้องเป็นโลภเจตนาหรือเป็นการบริโภคด้วยตัณหา
ข้อนี้สำหรับชาวบ้าน สามเณร ไม่ถือว่าเป็นความผิด (ตามพระวินัย) สำหรับพระภิกษุแล้วไม่ผิดปาติโมกข์ศีล คือศีลที่มาในพระปาติโมกข์โดยตรงแต่เป็นการผิดในระดับของปาริสุทธิศีล ๔ อยู่ ๒ ข้อ คือ
-อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์๖คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องเย็นร้อน อ่อนแข็งและรูปธรรมารมณ์ด้วยใจ
-ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา
พระศาสดาทรงห้ามการฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนชีวิตสัตว์ แต่ไม่ห้ามการกินเนื้อสัตว์ และก็ไม่ได้บังคับให้กินหรือต้องกินเนื้อสัตว์ เหมือนกฎหมายห้ามตกปลา แต่ไม่ได้ห้ามกินปลา หรือกฎหมายห้ามขโมยเงินคนอื่น แต่ไมได้ห้ามใช้เงินที่เราได้มาโดยชอบธรรม
การกินเนื้อสัตว์ก็เหมือนกัน เราสามารถกินโดยไม่ต้องฆ่าเองและไม่สั่งให้คนอื่นฆ่า เช่น เนื้อสัตว์ที่ตายโดยธรรมชาติ หรือสัตว์ที่คนอื่นฆ่าโดยปกติในท้องตลาด แต่ถ้าเรามีความรังเกียจว่าสัตว์ในตลาดนั้นเขาฆ่าเพื่อเรา เพราะเราซื้อกินเขาจึงได้ฆ่า ถ้าคิดเช่นนั้น ก็ไม่ต้องซื้อ เมื่อหาไม่ได้ ก็ไม่ต้องกิน เพราะพระศาสดาไม่ได้บังคับว่าต้องกิน