เมื่อเราได้ศึกษาถึงขบวนการแห่งกรรมในเบื้องต้นแล้วก็คงพอจะเข้าใจว่า อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราก็เป็นมาจาก วิบากแห่งกรรมนั่นเอง ดังนั้นชะตาชีวิตของคนเราจึงขึ้นอยู่กับ “กรรมลิขิต” แต่ชะตาชีวิตของคนเรานั้นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หาใช่สิ่งตายตัวแต่อย่างใดไม่ มันย่อมเป็นไปตามดุลยภาพแห่งการกระทำและแรงปฏิกิริยาของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง นั่นคือมันสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงกว่าเดิมก็ได้ ชะตาชีวิตของคนเราจึงขึ้นอยู่กับ กรรมเก่าและกรรมใหม่
การที่เราจะแก้ไขปัญหาชะตาชีวิตของตนเองจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงค้นคว้าหาวิถีทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงหาทาง สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ตัดกรรม โดยไม่พึ่งพาตนเอง เพราะถึงเราจะมีเงินทองก็คงจะซื้อบุญหรือกรรมไม่ได้แน่นอน แต่ถ้ารู้จักพิจารณาถึงสาเหตุหรือองค์ประกอบดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ตนเองมีเวรกรรมใดผูกพันอยู่ ก็จะสามารถลดแรงกรรมเหล่านั้นได้โดยไม่ยาก
ความเชื่อในเรื่องกรรม
หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความศรัทธาของชาวพุทธไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง 4 ประการด้วยกัน
- ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
- กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง
- ปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ
- กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
ความเชื่อหรือความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทั้ง 4 ประการนั้น เป็นความเชื่อในเรื่องของกรรมเสีย 3 อย่าง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฏแห่งกรรม จึงเป็นหลักคำสอนที่สำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะผู้ที่เชื่อกฏแห่งกรรมย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อในเรื่องกฏแห่งกรรม ย่อมสามารถทำใจได้ในทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าชีวิตจะทุกข์ยากลำบาก ผิดหวังขมขื่น โรคภัยไข้เจ็บจะมาเบียดเบียน ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรในอดีตมาเบียดเบียน ไม่ตีโพยตีพายโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรม
กรรม 12
กรรมให้ผลตามกาล
- ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
- อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า
- อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
- อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล หรือยุติการให้ผลต่อไป
กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่
- ชนกกรรม กรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว
- อุปถัมภกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือ ชนกกรรมแต่งดี ก็ส่งให้ดียิ่งขั้นไป ถ้าชั่วก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
- อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียดเบียนชนกกรรม เช่นเดิมแต่งมาดี เบี่ยงเบนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่ว ก็เบี่ยงเบนให้ดี
- อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับที่เดียวเป็นขอทานหรือตายทันที หรือของเดิมแต่งไว้เลว ก็กลับทีเดียวเป็นมหาเศรษฐีไปเลย
กรรมที่ให้ผลตามลำดับความแรงของกรรม
- ครุกรรม กรรมหนักในฝ่ายดี ได้แก่สมาบัติ 8 ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม 5 (บางคัมภีร์รวมนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นในทางปฏิเสธกรรมและผลแห่งกรรมด้วย) ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป
- อาจิณณกรรม กรรมเคยชิน กรรมที่ทำมาก สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก มีกำลังกว่า ก็จะให้ผลก่อน กรรมต่อไปนี้ให้ผลต่อจากครุกรรม
- อาสันนกรรม กรรมใกล้ตาย กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ให้ผลหลังจากกรรม 2 ข้อก่อน (แต่บางคัมภีร์ ก็ว่าให้ผลก่อนอาจิณณกรรม บ้างก็ว่าอาสันนกรรมโดยมากก็สืบมาแต่อาจิณกรรมนั่นเอง)
(อรรถกถาจารย์ขยายความว่า ขณะใกล้ตาย ถ้ามีอวิชชาเป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ทุคติภพ, ถ้ามีภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) เป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ จะนำไปสู่ สุคติภพ)
(ตามนัยพุทธพจน์ จะไปเกิดสุคติ หรือ ทุคติ ดูจากอาการสุข ทุกข์ ของจิตใจในขณะตายของผู้นั้นก็ได้เพราะจุติจิตนั้นเป็นเหตุของปฏิสนธิจิต ไม่มีระหว่างขั้น เปรียบเหมือนบุรุษโหนเถาวัลย์จากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ตายด้วยจิตเป็นสุข สงบเย็นด้วยกุศลธรรม ย่อมหวังสุคติภพได้) - กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ต่อเมื่อไม่มีกรรม 3 ข้อก่อน กรรมนี้จึงให้ผล
กรรมทั้ง 12 นี้ เป็นแต่เพียงการแยกตามประเภทต่าง ๆ เท่านั้น เหมือนคน ๆ หนึ่ง เป็นได้ทั้งลูก เป็นได้ทั้งพ่อ เป็นได้ทั้งเจ้านายและลูกจ้าง สำคัญที่ว่าเราจะกล่าวถึงหน้าไหนของเขาที่เขาทำอยู่
นอกจากนี้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ยังแสดงกรรมไว้อีกหมวดหนึ่ง คือ
จำแนกตามภพเป็นที่ให้ผล
- อกุศลกรรม : (ยกเว้นอุทธัจจะ) เช่น ที่จำแนกเป็นอกุศลกรรมบถ 10 ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ
- กามาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ 7 (มนุษย์ และสวรรค์ 6)
- รูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน 4 ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ
- อรูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน 4 ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ
กลไกแห่งกรรม
เมื่อเราได้ศึกษาในกลไกแห่งกรรมจนพอจะเข้าใจแล้วว่า อำนาจแห่งกรรมสามารถจะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การก่อเกิดภพชาติของคนเราได้ ถ้ากรรมดีให้ผลก็แล้วไป แต่ถ้าวิบากกรรมให้ผลที่ไม่ดีต่อเราแล้ว เราจะมีหนทางใดในการเบี่ยงเบนวิบากกรรมที่ไม่ดีออกไปให้พ้นตนได้
นั่นก็คือเราต้องรู้เหตุเบื้องต้นเสียก่อนว่า เรากำลังตกอยู่ในเหตุการณ์ที่ผิดปกติ โดยอาศัยสิ่งที่เราเรียกว่า ลางบอกเหตุ หรือสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้า เพื่อจะได้หาหนทางหรือกุศโลบายที่แยบยลในการที่จะเข้าไปแก้ไขสิ่งที่เลวร้ายให้กลับกลายเป็นดีได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นลางบอกเหตุดังกล่าวจึงพออนุมานให้เป็นหนทางในการสังเกตุและพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
เจ็บป่วยผิดปกติ แม้จะหาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแผนโบราณแล้วก็ตาม อาการดังกล่าวก็ยังไม่ดีขึ้น หรือแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุความผิดปกติได้ นอกจากจ่ายยาให้กินเท่านั้น เช่น เจ็บหลัง เจ็บเอว เจ็บไหล่ ปวดในช่องท้อง หรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เนื้องอก เป็นต้น ถึงแม้กรรมจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ธาตุขันธ์ความเป็นมนุษย์ จนเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติ แต่บางส่วนก็เป็นไปตามวิบากกรรม
จิตใจผิดปกติ แม้จะหาจิตแพทย์หรือบำบัดในโรงพยาบาลก็ยังไม่ดีขึ้น เช่น ปวดศรีษะรุนแรง เบลอ พูดจาเพ้อเจ้อ
ชีวิตวุ่นวายผิดปกติ มีปัญหาในเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน-การค้า เครียดผิดปกติ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ
1. วิสัยของพระพุทธเจ้า
2. ความคิดเรื่องการสร้างโลก
3. วิสัยของผู้มีฤทธิ์
4. กฏแห่งกรรม
คำว่า อจินไตย แปลว่า ไม่ควรคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้คิด ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้ใช้ปัญญา ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้คิดด้วยหลักของตรรกศาสตร์ เนื่องจากการคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบอนุมาน คือ คาดคะเน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย เพราะอาศัยพื้นฐานความรู้ที่เกิดจากอายตนะภายนอกที่เป็นประสาทสัมผัส คือ ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้น
แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวในโลกนี้เป็นความจริง ทั้งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัส และที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส เช่น เรื่องราวในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ และ กฎแห่งกรรม ที่เป็นความจริงที่ไม่อาจสามารถพิสูจน์ได้เพียงประสาทสัมผัสเท่านั้น แต่จะต้องมีความรู้ที่นอกเหนือพิเศษจากประสาทสัมผัสธรรมดา คือ อภิญญาด้วย จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ คำว่า อภิญญา แปลว่า ความรู้ยิ่งยวด มี 6 อย่างด้วยกันคือ อิทธิวิธี ทิพยโสต เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพพจักขุ และอาสวักขยญาณ
ดังนั้นแม้ว่า กรรม จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหรือธาตุขันธ์ในความเป็นมนุษย์ จนเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า เราก็ต้องอดทนและต้องเข้าใจว่า?สัตย์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม? แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะงอมืองอเท้ารอรับ ?ชะตากรรม? แต่เพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นคนสิ้นคิดไม่หาหนทางแก้ไขชีวิตของตนให้ดีขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านก็คงเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์อันประเสริฐเสียแล้ว ดังนั้นถึงแม้จะมองไม่เห็นทางก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมจำนนต่อกรรมนั้นเอาง่าย ๆ เราจะต้องพยายามหาหนทางแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นให้ได้ วิธีการเบื้องต้นง่าย ๆ ก็คือ การสร้างกรรมใหม่เพื่อเบี่ยงเบนกรรมเก่าที่กำลังให้ผลให้อ่อนตัวลงไป
ถ้าวันหนึ่งวันใดชีวิตของเราต้องผกผันตกต่ำ ด้อยโอกาสในวาสนาบารมี จะได้ไม่เกิดท้อใจ จนย่อหย่อนในการดำเนินชีวิต ปล่อยชีวิตให้ระหกระเหินตกต่ำโดยไม่คิดสู้ ยิ่งมีวิบากกรรมมากทุกข์ทรมานมาก ก็ยิ่งต้องดิ้นรนให้มาก หาทางสร้างคุณงามความดีชดเชยให้แก่เจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้น เพราะถ้าเป็นกรรมที่เบาบางก็อาจหายไปได้ ถ้าเป็นกรรมหนักก็จะบรรเทาเบาบางลงไป
ที่มาบางส่วน :
https://buddhadhamma-memo.blog/กรรม-12/
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=338