พระอานันทะ หรือ พระอานนท์
พระอานนท์ หรือ เรียกตามพระบาลีว่า อานันทะ เป็นพระอรหันตสาวก พุทธอุปัฏฐากแห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
ท่านเป็นเจ้าชายแห่งสักกะ เป็นพระโอรสของเจ้าสุกโกทนะ อันเป็นพระอนุชาในพระเจ้าสุทโธทนะแห่งแคว้นสักกะ ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีระบุว่าท่านเป็นสหชาติ คือประสูติวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ
เจ้าชายอานนท์ได้ตามเสด็จพระเจ้าภัททิยะ เจ้าอนุรุทธะ เจ้าภคุ เจ้ากิมพิละ และเจ้าเทวทัต กับอุบาลีซึ่งเป็นช่างกัลบก ออกบวชพร้อมกัน หลังบวชแล้ว พระอานนท์ก็ได้บรรลุโสดาบันในพรรษาแรกนั้น
เป็นพุทธอุปัฎฐาก
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ตรัสรู้แล้วถึง 20 พรรษา แต่ยังไม่มีผู้ใดเป็นพุทธอุปัฎฐากประจำ ซึ่งได้สร้างความลำบากแก่พระองค์เป็นอย่างมาก ที่ประชุมสงฆ์จึงเลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ
ในครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายนำโดยพระสารีบุตรมหาเถระ ได้กราบทูลขอเป็นพุทธอุปัฎฐาก แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระเถระรูปอื่นๆ จะกราบทูลเสนอตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก แต่พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเสียทุกรูป คงเว้นแต่พระอานนท์ที่มิได้กราบทูลด้วยถ้อยคำใด พระภิกษุรูปอื่นได้เตือนให้พระอานนท์ขอโอกาส แต่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นข้าพเจ้าเลยกระนั้นหรือ? ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวข้าพเจ้าแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์
พระอานนท์ทูลขอพร 8 ประการ
ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการ หากพระองค์ทรงประทานพร 8 ประการนี้ ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก ท่านกราบทูลขอพรว่า
- ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
- ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
- ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
- ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
- ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
- ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว
- ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
- ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร 8 ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษและอานิสงส์ที่ทูลขอพร 8 ประการนี้ ท่านได้กราบทูลว่า
- ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 1-4 ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น ท่านจึงได้ทูลขอพร 4 ข้อนี้
- ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 5-7 ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว และ
- หากท่านไม่ทูลขอพรข้อ 8 เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?
ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพรตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา 25 พรรษา
หน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก
ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่ง ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้า คือ
- ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
- ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
- นวดพระหัตถ์และพระบาท (มือและเท้า)
- นวดพระปฤษฏางค์ (หลัง)
- ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี
ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง 8 ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน
พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่น
พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ
มีสติ รอบคอบ
มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
มีความเพียรดี
เป็นพหูสูต
เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
ข้อมูลจาก wikipedia.org
หมายเหตุ พระอานนท์ หรือ พระอานันทะ ไม่ใช่รูปเดียวกันกับพระนันทะ
สำหรับพระผงพิมพ์ยืน รูปคล้ายพระสีวลีที่เราคุ้นเคย ด้านหลังมีข้อความว่า อานันทะ ซึ่งหมายถึงพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ไม่ทราบที่และปีสร้าง ท่านผู้สร้างได้สร้างเจาะจงเพื่อระลึกถึงพระคุณแห่งพระอานนท์ เชื่อว่าการได้บูชาพระอานนท์นั้นย่อมได้อานิสงส์ตามคุณสมบัติของพระอานนท์ ได้แก่
- ส่งเสริมความเป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ประมาท
- ส่งเสริมความจำดี
- ส่งเสริมความเพียรอันเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสำเร็จในด้านต่าง ๆ
- เป็นผู้มีความรู้มาก เท่าทันคน
- เป็นผู้มีความอดทน
- เป็นผู้มีความอ่อนน้อม
- เป็นผู้ใช้สอยสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติ
คาถาบูชาพระอานนท์
คาถาบูชา คือคำกล่าวหรือคำสวดเพื่อระลึกถึงพระคุณของท่าน ซึ่งอาจจะมีผู้พรรณนาที่แตกต่างกันไปตามสติปัญญาของผู้ประพันธ์ ฉะนั้น โปรดเข้าใจไว้ว่า อัปปมาโณ พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ คุณของพระพุทธเจ้า ไม่มีประมาณ คุณของพระธรรม ไม่มีประมาณ คุณของพระสงฆ์ ไม่มีประมาณ
อานันโท พุทธุปัฏฐาโก สังคีติสาธุสัมมะโต
พะหุสสุโต ธัมมะธะโร สะทา โสตถิง กะโรตุ โน
พระอานันทะเถระ (ผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า)
ผู้ยังการทำสังคายนาให้สำเร็จ ผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม
ขอจงประทานความสวัสดี แก่พวกข้าพเจ้า ในกาลทุกเมื่อเถิด
คาถาบูชา พระอานนท์เถระเจ้า (หลวงพ่อสมบูรณ์ รตนญาโณ)
อิมินา สักกาเรนะ สาวะกะสังฆัง อานันทะเถรัง
อะภิปูชะยามิ นะมามิหัง สิทธิกิจจัง สิทธิลาภัง
สิทธิยะสัง สิทธิธะนัง นิรันตะรัง สะทา
อะหัง วันทามิ สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร นะมามิ
ที่มา : เล่า เรื่อง “พระ
หรือจะใช้ตามคาถาชินบัญชร บทว่า
ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะ ราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.
(ขออาราธนา) พระอานนท์กับพระราหุลสถิตย์หูข้างขวา
พระกัสสปะกับพระมหานามะสถิตย์ที่หูข้างซ้าย