ประวัติเหรียญกษาปณ์ สตางค์รู สยามรัฐ
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เกิดปัญหาค่าเงินที่ผันผวน เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ตรา “พระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.๑๒๗” ขึ้น โดยประกาศออกใช้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ พร้อมให้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเหรียญกษาปณ์ไปในเวลาเดียวกัน เนื้อหาในประกาศมีข้อความระบุถึงการผลิตเหรียญสตางค์ปลีก โดยยึดตามระบบทศนิยมอย่างมาตรฐานสากล กำหนดให้เงิน ๑ บาท เท่ากับ ๑๐๐ สตางค์ พร้อมเตรียมจัดทำเหรียญกษาปณ์ในระบบทศนิยมแบบใหม่ อันได้แก่ เหรียญทองขาว (นิเกิล) ๑๐ สตางค์ และ ๕ สตางค์ ตลอดจนเหรียญทองแดง ๑ สตางค์ ขึ้นด้วย
จำนวนการผลิตและการประเมินราคา
๑.เหรียญสตางค์นิเกิล ชนิดราคา ๑๐ สตางค์ ผลิตจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญ
๒.เหรียญสตางค์นิเกิล ชนิดราคา ๕ สตางค์ ผลิตจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญ
๓.เหรียญสตางค์ทองแดง ชนิดราคา ๑ สตางค์ ผลิตจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญ
ลักษณะเหรียญกษาปณ์สตางค์ (เหรียญสตางค์รู)
มี ๓ ชนิดราคา ได้แก่
๑. เหรียญนิกเกิล ชนิดราคา ๑๐ สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ มิลลิเมตร
๒. เหรียญนิกเกิล ชนิดราคา ๕ สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗.๕ มิลลิเมตร
๓. เหรียญทองแดง ชนิดราคา ๑ สตางค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๒.๕ มิลลิเมตร
เหรียญทั้ง ๓ ชนิดราคา มีลักษณะเหรียญเหมือนกัน แต่จะต่างกันเฉพาะขนาด และโลหะที่ใช้ทำเท่านั้น กล่าวคือ ตัวเหรียญจะกลมแบน ขอบเรียบ เจาะรูตรงกลาง เพื่อร้อยผูกเป็นพวงสะดวกในการพกพา
ด้านหน้าเหรียญ
รอบรูกลางเป็นรูปมหาอุณาโลม* หมายถึงพระโลมา ระหว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า สื่อความว่า ประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ด้านซ้ายมีอักษร คำว่า“สยามรัฐ” ด้านขวามีคำว่า “สตางค์” เบื้องล่างเป็นเลขไทยบอกชนิดราคา
ด้านหลังเหรียญ
เป็นรูปจักรทักษิณาวัตร ๘ กลีบ “ตราจักร”สื่อความหมายตราแผ่นดินประจำรัชกาลที่ ๑ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี ส่วน”ทักษิณาวัตร”สื่อความหมายการเวียนขวาเป็นมงคล ตามความเชื่อแต่โบราณเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย และ “จักร ๘ กลีบ”สื่อความหมาย สัญลักษณ์สิ่งมงคล ๘ ประการ แห่งพุทธศานิกชน ส่วนริมขอบในรูกลางของเหรียญมีเลขบอกรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ ซึ่งเป็นปีแรกสร้าง ร.ศ.๑๒๗(พ.ศ.๒๔๕๑) เหรียญชุดนี้ รัชกาลที่๕ โปรดเกล้าฯ ให้โรงกษาปณ์เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เป็นผู้ผลิตทั้ง ๓ ชนิดราคา
ตราสัญลักษณ์และความหมายบนเหรียญสตางค์
อุณาโลม
เครื่องหมายแห่งมงคล ตามรูปศัพท์แปลว่า ขนระหว่างคิ้ว หรือเครื่องหมายระหว่างคิ้วพระพุทธรูป มีลักษณะเหมือนเลข ๙ หมายถึงพระเนตรดวงที่สามของพระอิศวร และเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
จักร
เป็นอาวุธที่มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย รูปร่างเป็นโลหะแบน เป็นรูปวงกลม จักรในภาษาไทยมาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงล้อหรือวงกลม ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ และเป็นอาวุธของพระนารายณ์ชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นรูปคตเคี้ยว ๘ กลีบ และมีลวดลายอยู่ในเส้นวงกลม
ตราจักรทักษิณาวัตร ๘ กลีบ
เป็นตราแผ่นดินประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ปรากฎตราจักร ๘ กลีบ ประทับบนเงินพดด้วง สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๓๒๕-๒๓๕๒
ทักษิณาวัตร
หมายถึงการเวียนขวา เป็นความเชื่อแต่โบราณว่า การเวียนขวาเป็นมงคล การแสดงออกด้วยความเคารพสูงสุด เพื่อรำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ ได้แก่การเดินเวียนขวา (ประทักษิณาวัตร) รอบองค์พระพุทธรูป พระอุโบสถ วิหารและสถูปเจดีย์ เป็นต้น
มงคล ๘ ประการ
สื่อความหมายมงคลแห่งพุทธศาสนิกชน สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล ๘ ประการ มีปรากฏในหม้อหรือขันเทพมนต์ของพราหมณ์ หรือในบาตรพระพุทธมนต์ที่เกี่ยวกับพิธีทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการ ซึ่งมีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์ นำมาเผยแพร่ ได้แก่
๑) กรอบหน้า (เครื่องประดับหัว/หญ้าแพรก/สายสิญจน์)
๒) ตะบอง(คฑา)
๓) สังข์
๔) จักร
๕) ธงชัย(ชายธง)
๖) ขอช้าง
๗) โคอุสภะ
๘) หม้อน้ำ
ที่มา : เหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึก
เหรียญสตางค์รู พุทธคุณ (ความเชื่อ)
- ส่งเสริมโชคลาภ
- แคล้วคลาดปลอดภัย
- ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ
- เป็นมหาอำนาจ
- ส่งเสริมการค้าขาย
- เลื่อนยศตำแหน่ง
- ป้องกันสิ่งไม่ดี สิ่งเป็นอัปมงคล
- ป้องกันภูตผี
- ป้องกันคุณไสย
- ทำน้ำมนต์รดบริเวณบ้าน ที่ดิน เพื่อความเป็นมงคล ขจัดสิ่งไม่ดี
- แก้ฮวงจุ้ย
- ปรับดวง แก้ดวงตก