หลวงปู่พุฒิ ยโส
วัดคามวาสี บ้านหนองดินดำ
ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
กำเนิด
ท่านพระครูพุฒิวราคม นามเดิมชื่อ พุฒ สิงห์อร ท่านถือกำเนิดขึ้นที่บ้านเหล่าค้อ ตำบลไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗บิดาชื่อ โต้ สิงห์อร มารดาชื่อ ทอน สิงห์อร ท่านมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน ๖ คน เป็นหญิง ๓ ชาย ๓ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒
ท่านมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน ๖ คน เป็นหญิง ๓ ชาย ๓ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ นับตามลำดับดังนี้ คือ
๑. นางโส เกษมราช
๒. นายพุฒ สิงห์อร (พระครูพุฒิวราคม)
๓. นายบุตร สิงห์อร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. นางแจ่มจันทร์ ลาภยิ่ง
๕. นายบุญธรรม สิงห์อร
๖. นางทองบาง สิงห์อร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
ตระกูลของท่านเป็นชาวนา ครั้นต่อมาได้พิจารณาเห็นว่าภูมิลำเนาที่อาศัยอยู่เกิดฝืดเคืองในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ประกอบกับได้ยินกิตติศัพท์ว่า ทางอำเภอบ้านหัน (อำเภอสว่างแดนดินปัจจุบัน) จังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล บิดามารดาจึงได้ พาครอบครัวอพยพขึ้นมาอยู่ที่หมู่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน ระหว่างที่บิดามารดาอพยพขึ้นมาอยู่ที่นั้นท่านมีอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ เมื่อท่านเติบโตพอที่จะศึกษาอักษรไทยได้แล้ว บิดาจึงส่งเข้ามาเรียน ณ โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ไชยเจริญ บ้านตาลโกน เรียนจนจบชั้นประถมศึกษาที่ ๔ เมื่อท่านเรียนจบชั้นของโรงเรียนประชาบาลในสมัยนั้นแล้ว ท่านก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนกินนอนอำเภอบ้านหัน เมื่อออกจากโรงเรียนกินนอนแล้ว ท่านได้กลับบ้านเพื่อช่วยเหลือกิจการงานของพ่อแม่ตามวิสัยของลูกที่ดี เมื่อท่านเจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว ท่านก็คิดหาทางที่จะให้เกิดโภคทรัพย์เพื่อต่อสู้กับชีวิตดังที่ชาวโลกเขาเป็นอยู่ ทานได้ออกจากบ้านกับเพื่อนรวมเป็นสามคน ไปแสวงหางานทำทางจังหวัดอุดรธานี เมื่อไปถึงเมืองอุดรธานี แล้วท่านก็ได้ทำงาน พยายามเก็บเล็กผสมน้อยเสมอมา เมื่อถึงฤดูฝนท่านก็กลับบ้านเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ทำนาตามเคย
บรรพชาอุปสมบท
ก่อนที่ท่านจะอุปสมบทประมาณหนึ่งสองปี บิดาของท่านได้ถึงแก่กรรม ครั้นถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้เกิดศรัทธาใคร่จะบวชในพระบวรพุทธศาสนา โดยการชักชวนของนายพรหม ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของท่านคนหนึ่ง นายพรหมมีพี่ชายบวชเป็นพระอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดสุทธาวาส สกลนคร และมีพ่อบวชเป็นพระหลวงตาอยู่ในสำนักพระอาจารย์วัง วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร นายพรหมได้รับการอบรมจากพ่อผู้บวชเป็นพระหลวงตาแนะนำให้บวช จึงได้ไปชักชวนให้ท่านไปบวชเป็นคู่นาคกัน ท่านก็เกิดศรัทธาอยากจะบวชด้วย จึงได้ขออนุญาตจากมารดา ฝ่ายมารดาก็ยินดีให้บวชได้ตามประสงค์
เมื่อได้รับอนุญาตจากมารดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมกันออกเดินทางมุ่งหน้าไปสู่วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ โดยอาศัยพระหลวงตาผู้เป็นพ่อของนายพรหมขานนาคได้คล่องถูกต้องตามมคธภาษาแล้วจึงเตรียมบริขารเพื่อออกบวชต่อไป แต่การบวชนาคทั้งสองนั้นไม่ได้พร้อมกัน เพราะเกี่ยวกับบริขาร นาคพรหมมีบริขารอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส ซึ่งหลวงตาผู้เป็นพ่อจัดหาให้ส่วนบริขารของท่านนั้นอยู่ทางวัดสุทธาวาส พระอาจารย์อุ่ย สุขกาโม เป็นผู้จัดการหาให้
ส่วนจตุปัจจัยที่ซื้อบริขารนั้นเป็นของส่วนตัวท่านเอง ซึ่งท่านได้เก็บหอมรอมริบไว้แต่ครั้งไปทำงานที่จังหวัดอุดรธานี นั้นซึ่งบริขารบวชตนเอง ฉะนั้นการบวชนาคทั้งสองนี้จึงได้แยกย้ายกันบวชคนละครั้งคนละทาง นาคพรหมไปบวชที่พัทธสีมาวัดสีบุญเรือง บ้านงิ้วตำบลพันนา อำเภอบ้านหัน (สว่างแดนดิน) โดยมีพระเทพกวี (พระธรรมเจดีย์ จูมพนฺธุโส) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌายะ
ส่วนท่านพระครู ฯ ไปบวชทางจังหวัดนครพนม มีพระอาจารย์อุ่ยเป็นผู้นำบวช โดยมีพระครูสารภาณมุนี (พระเทพสิทธาจารย์ จินทร์) วัดศรีเทพประดิษฐาราม เป็นพระอุปัชฌายะ พระมหาพรหมา(พระวินัยโศภณ) วัดศรีเทพประดิษฐาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอุปัชฌายะ ได้ขนานนามมคธให้ ท่านว่า ยโส เสร็จญัตติจตุตกรรมวาจาอุปสัมปทา เวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ณ พัทธสีมาวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
การศึกษาอบรม
เมื่อทำการอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์อุ่ย พาท่านกลับวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เพื่อศึกษาอบรมพระธรรมวินัย และฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติในสำนักของพระอาจารย์เสาร์ต่อไป ในวัดสุทธาวาสนี้มีพระมหาปาน เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านจึงตั้งใจเรียนพระปริยัติธรรมต่อ ปรากฏว่าท่านสอบความรู้นักธรรมในสนามหลวงวัดพระธาตุเชิงชุมได้ทุกปี คือ
พ.ศ. ๒๔๘๑ สอบนักธรรมชั้นตรีได้
พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบนักธรรมชั้นโทได้
พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ เมื่อเรียนจบนักธรรมชั้นเถรภูมิแล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านตั้งใจจะเรียนบสลีไวยกรณ์ต่ออีก โดยมีพระอาจารย์มหาเส็ง ปุสโส (อดีตพระอริยคุณาธาร) เป็นครูสอน ระหว่างกลางพรรษาในปีนั้น ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้หนัก ทำให้การเรียนไม่สะดวก ผลแห่งการเรียนบาลีไวยกรณ์ของท่านเลยไปไม่ตลอด ออกพรรษาแล้วอาการอาพาธก็ยังไม่หายเป็นปกติดี ท่านจึงกลับมารักษาตัวอยู่ที่วัดคามวาสี บ้านตาลโกน อันเป็นมาตุภูมิของท่าน เมื่อรักษาตัวให้หายเป็นปกติแล้ว ท่านก็กลับไปอยู่วัดสุทธาวาสตามเดิม
พ.ศ. ๒๔๘๘ ทางบ้านคำตานาซึ่งเป็นบ้านญาติของท่าน วัดได้ว่างจากพระภิกษุประธานสามเณรที่อยู่จำพรรษาลง พวกทายกทายิกาในหมู่บ้านคำตานาซึ่งมีผู้ใหญ่สุวรรณเป็นประธาน ปรารภอยากจะให้มีวัดธรรมยุตประจำหมู่บ้านขึ้น จึงได้ประชุมตกลงปรึกษาตกลงกันไปนิมนต์ท่านจากวัดสุทธาวาส ขอให้ท่านไปอยู่จำพรรษาโปรด และเป็นประธานสร้างวัดต่อไป ท่านตอบเห็นดีและรับนิมนต์ด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้นท่านได้พักอยู่จำพรรษาที่วัดบ้าน ซึ่งเดิมเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วในหน้าแล้งของปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้น ท่านเองพร้อมทั้งเฒ่าแก่และผู้ใหญ่ บ้านทั้งสามหมู่บ้าน คือ บ้านคำตานา, บ้านหนองหอยคัน และบ้านหนองไผ่ยาว ได้พากันออกแสวงทำเลที่เหมาะสม เพื่อจะสร้างวัดในเครือธรรมยุตให้เป็นวัดป่าขึ้นต่อไป เมื่อเห็นทำเลที่เหมาะสมแล้ว ท่านจึงออกไปอยู่รุกขมูลก่อน ต่อมาพวกทายกทายิกาทั้งสามหมู่บ้านนั้นจึงได้ทำเสนาสนะให้อยู่จำพรรษาเรื่อยมา จึงได้เกิดวัดที่ถาวรขึ้นถึงในปัจจุบันนี้ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ทางวัดคามวาสีซึ่งเป็นวัดดั้งเดิม และเป็นวัดสำคัญในถิ่นนั้นขาดพระเถระผู้เป็นหัวหน้าบริหารหมู่คณะลง พาวกทายกทายิกาชาวบ้านตาลโกนหนองดินดำและหนองแสง จึงได้ไปนิมนต์ท่าน จากวัดพุฒาราม ให้กลับมาอยู่วัดคามวาสี ทานก็ตกลงรับนิมนต์ ส่วนทางวัดพุฒาราม บ้านคำตานานั้น ท่านก็ได้ให้สัทธิวิหาริกของท่านอยู่รักษาต่อไป นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดคามวาสีและวัดสีสว่างฯ จนถึงกาลอวสานแห่งชีวิตของท่าน
ลำดับสถานที่จำพรรษา
พ.ศ. ๒๔๗๙ – ๒๔๘๕ วัดสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๖ วัดคามวาสี บ้านหนองดินดำ ตำบลตาลเนิ้ง
อำเภอสว่างแดนดิน สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๗ วัดสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๖ วัดพุฒาราม บ้านคำตานา ตำบลวัฒนา อำเภอสว่างแดนดิน
สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๗ – ๒๕๑๐ วัดคามวาสี บ้านหนองดินดำ
พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดศรีสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๕ วัดคามวาสี บ้านหนองดินดำ
ตำแหน่งและหน้าที่
พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๖ เป็นเจ้าอาวาสวัดพุฒาราม บ้านคำตานา ตำบลวัฒนา
อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ (ธ) ตามตราตั้งที่ ๕/๒๔๙๒
พ.ศ. ๒๔๙๗ – ๒๕๑๐ เป็นเจ้าอาวาสวัดคำวาสี บ้านหนองดินดำ
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเจ้าคณะอำเภอผู้ช่วย (ธ) อำเภอสว่างแดนดิน
ตราตั้งที่๖/๒๔๙๘
พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน (ธ) ตราตั้งที่ ๑/๒๕๐๑
พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเจ้าพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูพุฒิวราคม
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๑๑ ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน
พ.ศ. ๒๕๑๒ ลาออกจากเจ้าอาวาสวัดศรีสว่างแดนดินกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดคามวาสีตามเดิม จนถึงวันมรณภาพ
ในระหว่างที่ท่านพระครูพุฒิวราคมยังมีชีวิตอยู่ ท่ารับหน้าที่เป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบทแก่กลบุตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมา จนถึงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๑๖ มีสัทธิวิหาริกปรากฏตามบัญชีดังนี้
พระภิกษุ ๓,๐๖๑ รูป
สามเณร ๒,๘๔๐ รูป
รวมเป็น ๕,๙๐๑ รูป
ปัจฉิมสมัย
ในกาลอาวสานแห่งชีวิตของท่าน ท่านได้ไปทำหน้าที่พระอุปัชฌายะบรรพชาอุปสมบทนาคที่วิสุงคามสีมาวัดท่าวารีวราราม บ้านนาทม ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน โดยพักแรมคืนที่วัดประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย ท่านได้มรณภาพลงด้วยโรคหัวใจวาย ณ ตำหนักรับเสด็จพระสังฆราช ของวัดประสิทธิ์สามัคคี ในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ เวลา ๐๕.๐๐ น.
การสูญเสียพระครูพุฒิวาราคมไปในคราวนี้ ได้นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่บรรดาศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง คณะศิษยานุศิษย์และทายกทายิกา ได้ประกอบพิธีสรงน้ำศพของท่าน ณ ศาลาการเปรียญวัดประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย ในตอนบ่ายวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๖
รุ่งขึ้นวันที่ ๑ พฤษภาคม ได้นำศพของท่านมาบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญวัดคามวาสี ซึ่งศาลาการเปรียญหลังดังกล่าว ท่านเป็นผู้ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างจนเกือบจะเสร็จลงแล้ว เวลากลางคืนมีการสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวาย โดยมีท่านเจ้าคุณพระราชคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุติ) เป็นประธาน
ในระหว่างที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่นั้น ได้มีบรรดาญาติมิตรศิยานุศิษย์ ผู้เคารพนับถือ จากทิศานุทิศ มาถวายสักการะและบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายมิได้ขาด อนึ่ง ในการบำเพ็ญกุศล สัตตมวาร ปัญญาสมวาร และสตมวาร ได้มีพระเถรานุเถระจากที่ต่างๆ มาร่วมบำเพ็ญกุศลและแสดงพระธรรมเทศนาโปรด
นับเป็นเมตตาอย่างสูงสุดที่คณะศิษยานุศิษย์จะลืมได้ มาบัดนี้ คณะศิษยานุศิษย์ ญาติมิตรผู้เคารพนับถือ โดยมีพระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นประธาน ได้ประชุมตกลงกันขอพระราชทานเพลิงศพของท่าน ในวันที่ ๒๒ ถึงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ นี้