หน้าพรานบุญ ท่านพ่อแก่เจ้าแสง วัดบ้านตรัง จังหวัดปัตตานี
หน้าพรานบุญ พ่อแก่เจ้าแสง จันทวัณโณ วัดบ้านตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี
“พรานบุณ” (ที่ถูก ต้องสะกดด้วย ณ หรือเรียกเต็มว่า พรานบุณฑริก อ่านว่า บุน-ดะ-ริก ซึ่งแปลว่า บัวขาว) เป็นตัวละครประกอบที่สําคัญ ตัวหนึ่งในละครชาตรี เรื่องมโนห์รา ซึ่งเป็นตัวดําเนินเรื่องราวในช่วงแรกของการแสดงถือว่าเป็นปฐมบทของการแสดงละครเรื่องนี้ โดยเค้าโครงของเรื่อง มโนห์รา นํามาจากเรื่องเล่าอดีตชาติของพระสมณโคดม ตัวละครพรานบุญ ในเรื่องมโนห์รา เป็นพรานผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองนครปัญจาล
ครั้งหนึ่งพรานบุณได้เข้าป่าเพื่อล่าสัตว์แล้วได้ไปช่วยชีวิตพญานาคชื่อชมพูจิต โดยพรานบุณได้ฆ่าผู้ประทุษร้ายต่อพญานาคตาย ท้าวชมพูจิตซึ่งเป็นพญานาคจึงพาพรานบุณลงไปเมืองบาดาลและทําความเคารพสักการะพรานป่าเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงพากลับมาส่งที่เมืองมนุษย์พร้อมกับมอบเพชรนิลจินดาให้กับพรานบุณไว้อย่างมากมายแล้วสั่งไว้ว่าต่อไป ภายหน้าถ้าต้องการให้ช่วยเหลือขอให้บอกจะยินดีช่วยทุกอย่าง
ครั้นวันหนึ่งพรานบุณได้ออกไปล่าสัตว์ในป่า จนถึงอาศรมพระฤาษี ซึ่งอยู่ใกล้กับสระโบกขรณีจึงเข้าไปนมัสการ บังเอิญวันนั้นตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ฝูงกินรีจะพากันมาเล่นน้ำส่งเสียงมาจนถึงอาศรมของพระฤาษี พรานบุณได้ยินจึงไปแอบดูแล้วคิดอยากจะจับนางกินรีไปถวายพระสุธนจึงกลับไปปรึกษาพระฤาษีเพื่อหาวิธีจับนางกินรี จึงทราบว่าต้องใช้บ่วงบาศที่ได้จากท้าวชมพูจิตในการจับเท่านั้น พรานบุณจึงเดินทางไปขอบ่วงบาศจากท้าวชมพูจิตแล้วนํามาจับนางกินรีในวันเพ็ญต่อมาเพื่อจะได้นําไปถวายพระสุธน (กรมศิลปากร, 2498, น. 8-9) ที่มา : www.utcc.ac.th
ข้อดีของพรานบุญ (พรานบุณ)
พรานบุณนั้นมีดีหลายประการ เป็นต้นว่า
- เรื่องการทำมาหากิน พรานอยู่ง่ายกินง่าย หากินได้ไม่มีอดอยาก
- เรื่องอาคมไม่เป็นสองรองใคร เก่งกาจจนสามารถไปมาได้แม้กระทั่งในป่าหิมพานต์
- มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ได้ รู้วิธีการเจรจาอย่างที่เข้าหาฤาษี
- บ่วงบาศก์ ที่ยืมจากพญานาคราชมาจับนางมโนราห์มาถวายพระสุธนจนได้รับปูนบำเหน็จมากมายอยู่สบายทั้งชาติ
ด้วยเหตุนี้ เกจิอาจารย์ทั้งหลายจึงได้สร้างเครื่องรางขึ้นมาเป็นพรานบุณบ้าง หน้าพรานบุณบ้าง ห่วงบาศก์บ้าง เพื่อหวังพุทธคุณ หรืออิทธิคุณในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ทำมาหากินคล่อง ไม่ติดขัด
- เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันสัตว์ร้าย สัตว์ อสรพิษ
- เป็นเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์
- เลื่อนยศตำแหน่ง เจ้านายรัก
- บันดาลโชค-โภคทรัพย์.
คาถาอาราธนาก่อนใช้หน้าพรานบุญ (พรานบุณ)
- อออา ออแอ ออหา ออมา ออรัก ออฤ ออฦา ทรัพย์มา คะมา
- คาถาพรานบุญ (เทวดาให้เงิน) “โอม นะมา มีมา นะ เน นุ นิ นะ สวาหะ สวาโหม”
- คาถาเมตตา “ออ อา สะเน่หามนุสสะจิตติ ออ อา สะเน่หามนุสสะจิตตัง ออ อา มูลละพะลัง ออ อาพุทธานะมามิหัง”
คาถาบูชาพรานบุญ (พรานบุณ) ทั้ง ๓ คาถานี้ เลือกใช้บทใดบทหนึ่ง หรือจะใช้ทั้ง ๓ บทก็ได้
หมายเหตุ
ผมเองก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องสุธน-มโนราห์มาอย่างละเอียด แต่พอรู้คร่าว ๆ ตามที่เขียนมาข้างบน ดังนี้
- สุธน เป็นตัวเอกหรือพระเอกของเรื่อง เขียนว่า สุธน ไม่ใช่ สุธนต์
- มโนราห์ เป็นชื่อเฉพาะของนางเอก ไม่ใช่ชื่อสิ่งที่นางเอกเป็น อธิบายว่า นางเอกเป็นกินรี ชื่อว่า มโนราห์
- พรานบุญ ที่ถูก ต้องสะกดด้วย ณ เป็นพรานบุณ หรือเรียกเต็มว่า พรานบุณฑริก อ่านว่า บุน-ดะ-ริก ซึ่งแปลว่า บัวขาว