ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันอาทิตย์ ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
๑. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกว่านิสสัย ได้แก่
๑. เที่ยวบิณฑบาต
๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
๓. อยู่โคนไม้
๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ฯ
๒. พระวินัย คืออะไร ? ผู้รักษาพระวินัยนั้นดีแล้ว ย่อมได้อานิสงส์อะไร ?
ตอบ พระพุทธบัญญัติและอภิสมาจาร ฯ พระภิกษุรักษาพระวินัยดีแล้วย่อมได้รับอานิสงส์คือ ความไม่ต้องเดือดร้อนใจ ได้รับ ความแช่มชื่นว่า ได้ประพฤติดีงาม เข้าหมู่สงฆ์ก็อาจหาญ ฯ
๓. ผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาดีแล้ว จะได้รับประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ ผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาดีแล้ว จะได้รับประโยชน์ ดังนี้
๑. มีศีลดีแล้วไม่ต้องเดือดร้อนใจได้รับความแช่มชื่นว่า ได้ประพฤติดีงาม จะเข้าหมู่ภิกษุผู้มีศีลก็องอาจ ไม่สะทกสะท้าน
๒. มีสมาธิดีแล้ว ทำให้มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม
๓. มีปัญญาดีแล้วทำให้สามารถนำพาตนให้พ้นจากทุกข์ได้ ฯ
๔. พูดอย่างไรเรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม ?
ตอบ พูดอวดคุณพิเศษอันยิ่งของมนุษย์ คือพูดว่าข้าพเจ้าได้ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม ฯ
๕. คำว่า “ภิกษุประทุษร้ายตระกูล” ในสิกขาบทที่ ๑๓ แห่งสังฆาทิเสสหมายถึงการทำอย่างไร ?
ตอบ หมายถึงการที่ภิกษุประจบคฤหัสถ์ ยอมตนให้เขาใช้สอยเช่นเดินส่งข่าวให้เขาเป็นต้น หรือด้วยการเอาเปรียบโดยเชิงให้สิ่งเล็กน้อยด้วยหวังได้มาก ฯ
๖. ผ้าไตรจีวร ที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐานไว้ใช้มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
ตอบ มี ๓ อย่าง ฯ คือ
๑. สังฆาฏิ (ผ้าคลุม)
๒. อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)
๓. อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ฯ
๗. พูดอย่างไร ชื่อว่าส่อเสียดภิกษุ ? ภิกษุพูดอย่างนั้นต้องอาบัติอะไร ?
ตอบ เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้
ด้วยประสงค์จะให้เขารักตน หรือให้เขาแตกกัน ชื่อว่าส่อเสียดภิกษุ ฯ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ
๘. ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบัน เป็นอาบัติอะไรหรือไม่ ?
ตอบ บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ได้รับสมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ตามสิกขาบทที่ ๙ แห่งมุสาวาทวรรค ฯ
๙. เสขิยวัตร คืออะไร ? ภิกษุไม่ปฏิบัติตาม ต้องอาบัติอะไร ?
ตอบ คือธรรมเนียมที่ภิกษุต้องศึกษา ฯ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
๑๐. การนุ่งเป็นปริมณฑล คือการนุ่งอย่างไร ?
ตอบ คือ นุ่งเบื้องบนปิดสะดือ แต่ไม่ถึงกระโจมอก เบื้องล่างปิดหัวเข่าทั้ง ๒ ลงมาเพียงครึ่งแข้ง ไม่คลุมข้อเท้า ฯ
แนะนำเว็บไซต์ รวมข้อสอบและเฉลยข้อสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก สื่อการสอน.com