ถังดับเพลิง (fire extinguisher) เป็นอุปกรณ์ดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ได้ง่าย ประกอบด้วยถังแรงดันที่บรรจุน้ำหรือสารเคมีดับไฟอื่น ๆ, พร้อมมือจับ, ไกเปิด/ปิด , สลักนิรภัย, และสายฉีด ออกแบบไว้สำหรับการดับเพลิงที่ยังไม่ลุกลาม
วิธีการใช้ถังดับเพลิง
การใช้ถังดับเพลิงตามมาตรฐาน NFPA 10 จะใช้ P.A.S.S.
P ย่อมาจาก Pull คือดึงสลัก
A ย่อมาจาก Aim คือให้เล็งไปที่ฐานของไฟ
S ย่อมาจาก Squeeze คือให้ค่อย ๆ บีบคันบีบ
S ย่อมาจาก Sweep ให้ส่ายหัวฉีดซ้ายและขวา
รวมกันเป็น ดึง,เล็ง,บีบ,ส่าย จะคล้าย ๆ กับบ้านเราที่ใช้กันคือ ดึง,ปลด,กด,ส่าย ไม่ว่าจะอย่างใดผู้ใช้ต้องตั้งสติแล้วทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
เราควรถวายถังดับเพลิงในโอกาสใด
อันที่จริง ถังดับเพลิงนั้นควรมีไว้ประจำวัด ประจำศาลา ประจำกุฏิ ประจำสถานที่ในวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดสร้างใหม่ หรือวัดเก่า โดยเฉพาะวัดในแหล่งชุมชน สำนักปฏิบัติธรรม โรงเรียนพระปริยัติธรรม ควรอย่างยิ่งที่จะมีถังดับเพลิงไว้ประจำจุด
เราสามารถถวายถังดับเพลิงได้ในทุกโอกาส เป็นต้นว่า
- ถวายถังดับเพลิงเป็นบริวารกฐิน ผ้าป่า
- ถวายถังดับเพลิงเนื่องในวันเกิด
- ถวายถังดับเพลิงเพื่ออุทิศส่วนกุศล
- ถวายถังดับเพลิงแก่วัดที่สร้างใหม่
- ถวายถังดับเพลิงไว้ประจำกุฏิ วิหาร ศาลา โรงอุฌบสถ
- ถวายถังดับเพลิงแก่วัดที่เป็นสำนักเรียน
- ถวายถังดับเพลิงแก่สถานปฏิบัติธรรม
อานิสงส์ของการถวายถังดับเพลิง
ในเรื่องของอานิสงส์ของการถวายถังดับเพลิง ผมไม่ได้เอามาจากตำราหรือจากครูอาจารย์ท่านใดกล่าว เป็นการกล่าวตามความเชื่อความศรัทธาในผลของการทำความดี ผมจึงเชื่อว่าการถวายถังดับเพลิงนั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญ เป็นต้นว่า
- เป็นผู้มีฐานะที่มั่นคง
- เป็นผู้หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่หวาดระแวงว่าทรัพย์สินจะเสียหายด้วยภัยต่าง ๆ
- เป็นผู้มีทรัพย์มาก และทรัพย์นั้นไม่ฉิบหายไปด้วยอันตรายต่าง ๆ
- เป็นผู้มีผิวพรรณดี มีสุขภาพดี
- เป็นที่รักนับถือของคนทั้งหลาย
- เป็นผู้มีบริวารมาก