บุญยังสามารถอุทิศให้ผู้อื่นได้ บาปอุทิศให้ผู้อื่นได้ไหม
ประเด็นนี้มีการนำมาพูดคุยกัน เช่น บางคนบอกว่า “วันนี้ฉันไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตปูปลา ถือว่าเป็นการทำบาปตามหลักพระพุทธศาสนา ฉันขออุทิศบาปนี้ให้แก่…………” คือเขาคิดว่า บุญยังสามารถอุทิศได้ แล้วทำไมบาปถึงอุทิศไม่ได้ ซึ่งความสงสัยนี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานับพันปีแล้ว ดังบทสนทนาของของพระเจ้ามิลินทร์และพระนาคเสนเถระ ในคัมภีร์มิลินทปัญหา
พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามว่า ดูก่อน พระนาคเสนการทำบุญ แล้วอุทิศกุศลให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วญาติมิตร จะได้รับผลแห่งบุญกุศลนั้น หรือไม่
พระนาคเสน ทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ไม่ทุกคน ได้รับเฉพาะญาติมิตรที่ไปเกิดเป็นเปรต (หรือ เทวดา) บางจำพวก เท่านั้น
ม. ถ้าญาติมิตร มิได้รับ ผลแห่งบุญนั้นจะมิสูญหรือ
น. ไม่สูญ
ม. ถ้าไม่สูญ ใครจะได้รับ
น. ก็ผู้ที่อุทิศบุญกุศลนั้นเอง ย่อมได้รับ อุปมาดังเจ้าของบ้าน เตรียมอาหารไว้ให้แขก ถ้าแขกไม่บริโภคอาหารนั้น จะพึงเป็นของใคร
ม. ก็เป็นของเจ้าของบ้านสิ พระคุณเจ้า
น. ฉันใด ก็ฉันนั้นแม้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะได้รับ (รับรู้ และ อนุโมทนา) ผู้ที่กระทำบุญกุศลนั้น ก็ย่อมได้รับผลของบุญนั้นการอุทิศกุศลที่กระทำแล้ว จึงเป็นการการเพิ่มพูนบุญกุศลของผู้ที่อุทิศอีกส่วนหนึ่งด้วยเพราะบุญกุศลที่อุทิศนั้น ไม่มีวันสูญหาย
ม. บุญกุศล อุทิศให้กันได้.ถ้าอย่างนั้น บาป จะอุทิศให้กันได้หรือไม่
น. ไม่ได้ เพราะบาป มีผลบีบคั้นหัวใจ ทำให้จิตใจหดหู่เมื่อเป็นเช่นนี้ บาปก็มีวงอันแคบ มีผลอันจำกัดแบ่งให้ผู้อื่นทั่วไปไม่ได้ ผู้ใดกระทำ ก็ได้รับผลเฉพาะผู้นั้น
ม. พระคุณเจ้าจงยกตัวอย่างมาให้ฟัง
น. หยดน้ำอันน้อย หยดลงที่พื้นดิน ขอถวายพระพรหยดน้ำนั้น จะทำให้พื้นดินซึมซาบได้ทั่ว หรือไม่
ม. ย่อมไม่ได้หยดที่ไหน ก็ซึมซาบเฉพาะที่นั่นเพราะ หยดน้ำนั้น มีน้ำอยู่น้อย.
น. ฉันใด ก็ฉันนั้นบาป มีลักษณะไม่ซึมซาบ เหมือนหยดน้ำอันน้อยจึงอุทิศให้ผู้อื่นไม่ได้
บุญ มีลักษณะเหมือนน้ำฝน คือ มีผลเอิบอาบซาบซึมหล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มชื่นอยู่ทุกเวลาจึงสามารถอุทิศบุญให้กันได้
ม. เพราะเหตุใด บาปและบุญ จึงต่างกันเช่นนี้
น. เพราะบาป มีผลเป็นความทุกข์ระทมใจ ไม่ชวนให้กระทำต่อไปอีกทำให้มีผลอันจำกัด ขยายตัวออกไปได้น้อย แต่ บุญ มีผลเป็นความสุข ร่มเย็นผู้กระทำแล้ว ได้รับผลเป็นความเอิบอิ่มใจกล่าวคือ ขณะก่อนกระทำ จิตก็เป็นกุศล ขณะที่กระทำอยู่ จิตก็เป็นกุศลขณะที่ได้กระทำแล้ว จิตก็เป็นกุศลและทุกขณะ ที่ระลึกถึงบุญที่ได้กระทำแล้ว จิตก็เป็นกุศลบุญ จึงมีผลที่ขยายออกได้เสมอ เช่นนี้ ขอถวายพระพรเนื่องด้วยมีเหตุ มีผล เช่นนี้บุญ และ บาป จึงอุทิศได้ หรือไม่ได้ ต่างกันเช่นนี้
ม. พระคุณเจ้าว่านี้…ชอบแล้ว
(เปตอุททิสสผลปัญหา – กุสลากุสลมหันตภาวปัญหา)
ที่มา : บุญและบาป – กับการอุทิศ
ผมขออธิบายเพิ่มเติม ผิดถูกประการใด ขอให้ผู้มีสติปัญญาพิจารณาตาม
การอุทิศบุญนั้น ยังต้องอาศัยองค์ประกอบ อันได้แก่
- มีเนื้อนาบุญคือพระสงฆ์ (ปฏิคาหก)
- มีผู้ถวายแก่สงฆ์และผู้ถวายนั้นทำการอุทิศบุญไปให้ (ทายก)
- ผู้ที่เราอุทิศนั้นมียินดีอนุโมทนา (ปรทัตตูปชีวีเปรต)
นั่นหมายความว่า บุญจะเกิดขึ้นแก่บุคคลหรือสัตว์ที่เราอุทิศให้เมื่อเขาอนุโมทนาบุญด้วย หากเขาไม่ได้มีจิตยินดีอนุโมทนาหรืออยู่ในฐานะที่ไม่สามารถอนุโมทนาได้ บุญก็ไม่เกิดขึ้นกับเขา ซึ่งข้อนี้พระนาคเสนยกอุปมาเหมือนเจ้าบ้านเตรียมอาหารออกมาให้แขกกิน แต่หากเขาไม่กินเขาก็ไม่อิ่มใด ๆ และอาหารนั้นก็ตกเป็นของเจ้าบ้านเช่นเดิม
ส่วนบาปนั้น ไม่สามารถอุทิศข้ามภพชาติได้ เพราะเหตุแห่งมีกำลังน้อย แต่สัตว์หรือบุคคลใดได้เห็นหรือได้รับรู้ในการทำบาปของคนอื่นแล้ว มีจิตยินดีในบาปนั้น จิตย่อมเป็นอกุศล เป็นมโนกรรม แต่ก็ไม่ใช่เพราะคนทำบาปนั้นอุทิศบาปให้ เป็นเพราะจิตผู้ของนั้นยินดีในบาปเอง บุญก็มีลักษณะตรงกันข้ามกัน เมื่อเห็นคนอื่นทำบุญ เรามีจิตยินดีอนุโมทนาบุญนั้น ก็เป็นบุญเช่นกัน เกิดบุญเพราะจิตยินดีของตนเอง ไม่ใช่เพราะเขาอุทิศบุญให้ (แต่ในกรณี ปรทัตตูปชีวีเปรต ต้องมีผู้อุทิศบุญให้ เพราะต่างภพและเขาสามารถรับรู้การทำบุญของเราได้)