คาถาบทเดียวกัน ทำไมขลังไม่เท่ากัน
มีคนเคยกราบเรียนถามหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่ง วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ว่า
“หลวงพ่อครับ ทำไมคาถาบทเดียวกัน แต่พระแต่ละองค์สวดเสก จึงขลังจึงศักดิ์สิทธิ์ไม่เท่ากัน..?”
“เหมือนอย่างคาถาชินบัญชร พระองค์ไหนนำมาสวดเสก ก็ไม่ขลังเท่ากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สวดเอง…?”
หลวงพ่อท่านได้เมตตาตอบให้ฟังอย่างสนใจว่า
“อยู่ที่บารมี..”
“คาถาที่สวดโดยพระโดยคนที่มีบารมีมากกว่า จะขลังจะศักดิ์สิทธิ์กว่าคนสวดที่มีบารมีน้อยกว่าน่ะ..”
พระราชสังวรญาณ
(หลวงปู่พุธ ฐานิโย)
ที่มา : คาถาครูพักลักจำ
จากบทสนทนาที่ยกมา แหล่งที่มาไม่ได้ระบุว่าผู้ถามเป็นใคร จากที่ผู้ถามยกตัวอย่างขึ้นมาว่า “เหมือนอย่างคาถาชินบัญชร พระองค์ไหนนำมาสวดเสก ก็ไม่ขลังเท่ากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สวดเอง…?” ผมว่าน่าจะเป็นความเข้าใจของผู้ถามเองที่คิดว่า คาถาชินบัญชร ต้องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สวดเท่านั้นจึงจะขลัง บุคคลอื่นจะเป็นพระหรือฆราวาสสวดก็ไม่ขลังเท่า ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากคาถาชินบัญชรต้องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สวดเท่านั้นจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จ ฯ ท่านคงไม่นำมาบอกต่อแนะนำให้พุทธศาสนิกชนได้สวด ท่านคงเก็บไว้สวดผู้เดียว อีกอย่างมีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าต้องสมเด็จโตสวดเท่านั้นจึงจะขลัง ท่านผู้ถามรู้จักพระสงฆ์หรือบุคคลในโลกนี้ทั้งหมดที่สวดคาถาชินบัญชรหรือยัง พระเครื่องพระสมเด็จที่สมเด็จโตท่านสร้างที่เราเชื่อกันว่าท่านใช้คาถาชินบัญชรเสกก็ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ความขลังของคาถาชินบัญชรที่ท่านสวดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีเจ้าสัว เศรษฐีหรือบุคคลที่ห้อยพระสมเด็จแล้วเสียชีวิตก็มีให้เป็นข่าวอยู่ (แน่นอนว่า ทางออกของคำตอบคือเป็นเรื่องของกรรม)
หลวงพ่อพุธ ท่านเมตตาตอบแบบกลาง ๆ แล้วว่าขึ้นอยู่กับบารมี หมายความว่าใครสวดก็ขลังได้ ถ้ามีบารมีมาก บารมีเต็ม โดยเฉพาะวิริยะบารมี ศีลบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี เป็นต้น