
ศีลข้อที่ ๒ คือเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย หมายถึง การห้ามลักทรัพย์ทุกชนิดที่เจ้าของไม่ได้ยกให้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในที่ใดหรือในรูปแบบใดก็ตาม เป็นต้นว่า การลัก ฉก ชิง วิ่งราว ปล้นชิงทรัพย์ การแฮกบัญชีธนาคาร การขโมยใช้บัตรเครดิตของคนอื่น
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
๑. ปะระปะริคคะหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน ๒. ปะระปะริคคะหิตะสัญญิตา รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน ๓. เถยยะจิตตัง มีจิตคิดจะขโมย ๔. อุปักกะโม ทำความพยายามขโมย ๕. เตนะ หะระณัง นำของมาได้ด้วยความพยายามนั้น
องค์ของอทินนาทาน ๕ อย่าง หรือองค์ของศีลข้อที่ ๒ นี้ ต้องทำครบทั้ง ๕ จึงทำให้ศีลข้อที่ ๒ ขาดหรือที่เรียกว่าผิดศีลข้อที่ ๒ เช่น ไม่มีเจตนาขโมย หรือ ขโมยไม่สำเร็จ ไม่ผิดศีลข้อที่ ๒ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า นี่เป็นองค์ประกอบของการวินิจฉัยศีลข้อที่ ๒ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ผิดกฎหมายหรือไม่บาป เพราะหากคุณมีจิตมุ่งต่อทรัพย์คนอื่น แม้ไม่ผิดศีลข้อที่ ๒ แต่เป็นอกุศลเจตนาแล้ว
สัมมาอาชีพ คือ การประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม รู้จักความพอดี มีความสันโดษในทรัพย์ มีหิริโอตตัปปะ คือ มีความละอายต่อใจ และเกรงกลัวต่อผลบาป
๑. มีทรัพย์มาก
๒. มีข้าวของและอาหารเพียงพอ
๓. ได้โภคทรัพย์ไม่สิ้นสุด
๔. โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ย่อมได้
๕. โภคทรัพย์ที่ได้ไว้แล้วก็ยั่งยืน
๖. หาสิ่งที่ปรารถนาได้อย่างรวดเร็ว
๗. สมบัติไม่กระจัดกระจายด้วย ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรือญาติฉ้อโกง
๘. หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่ง
๙. ได้โลกุตตรทรัพย์
๑๐.ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี
๑๑.อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข