ศีลข้อที่ ๒ คือเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย หมายถึง การห้ามลักทรัพย์ทุกชนิดที่เจ้าของไม่ได้ยกให้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในที่ใดหรือในรูปแบบใดก็ตาม เป็นต้นว่า การลัก ฉก ชิง วิ่งราว ปล้นชิงทรัพย์ การแฮกบัญชีธนาคาร การขโมยใช้บัตรเครดิตของคนอื่น
คำสมาทานศีลข้อที่ ๒
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
องค์ประกอบของศีลข้อที่ ๒ หรือองค์ของอทินนาทาน ๕
๑. ปะระปะริคคะหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน ๒. ปะระปะริคคะหิตะสัญญิตา รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน ๓. เถยยะจิตตัง มีจิตคิดจะขโมย ๔. อุปักกะโม ทำความพยายามขโมย ๕. เตนะ หะระณัง นำของมาได้ด้วยความพยายามนั้น
องค์ของอทินนาทาน ๕ อย่าง หรือองค์ของศีลข้อที่ ๒ นี้ ต้องทำครบทั้ง ๕ จึงทำให้ศีลข้อที่ ๒ ขาดหรือที่เรียกว่าผิดศีลข้อที่ ๒ เช่น ไม่มีเจตนาขโมย หรือ ขโมยไม่สำเร็จ ไม่ผิดศีลข้อที่ ๒ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า นี่เป็นองค์ประกอบของการวินิจฉัยศีลข้อที่ ๒ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ผิดกฎหมายหรือไม่บาป เพราะหากคุณมีจิตมุ่งต่อทรัพย์คนอื่น แม้ไม่ผิดศีลข้อที่ ๒ แต่เป็นอกุศลเจตนาแล้ว
ธรรมที่ส่งเสริมศีลข้อที่ ๒
สัมมาอาชีพ คือ การประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม รู้จักความพอดี มีความสันโดษในทรัพย์ มีหิริโอตตัปปะ คือ มีความละอายต่อใจ และเกรงกลัวต่อผลบาป
อานิสงส์ของการรักษาศีลข้อที่ ๒
๑. มีทรัพย์มาก
๒. มีข้าวของและอาหารเพียงพอ
๓. ได้โภคทรัพย์ไม่สิ้นสุด
๔. โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ย่อมได้
๕. โภคทรัพย์ที่ได้ไว้แล้วก็ยั่งยืน
๖. หาสิ่งที่ปรารถนาได้อย่างรวดเร็ว
๗. สมบัติไม่กระจัดกระจายด้วย ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรือญาติฉ้อโกง
๘. หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่ง
๙. ได้โลกุตตรทรัพย์
๑๐.ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี
๑๑.อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข
ที่มา อานิสงส์ของการรักษาศีลข้อที่ 2