สาธุ มาจากรากศัพท์ว่า สาธฺ (หรือ สธฺ) ในความหมายว่า สำเร็จ
และประกอบด้วย รู ปัจจัย (สาธฺ + รู = สาธุ)
ส่วนในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ได้จำแนกการใช้คำว่า สาธุ ไว้ ๖ นัย กล่าวคือ
(๑) สุนทระ หมายถึง ดีงาม
(๒) ทัฬหิกัมมะ เป็นการย้ำอีกครั้ง เพื่อให้การกระทำนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น
(๓) อายาจนะ เป็นคำอ้อนวอนหรือเรียกร้อง เมื่อเริ่มต้นจะพูดอย่างอื่นต่อไป
(๔) สัมปฏิจฉนะ เป็นการรับคำหรือยอมรับคำพูดของผู้อื่น
(๕) สัชชนะ หมายถึง คนดี
(๖) สัมปหังสา เป็นคำแสดงความยินดีหรือพอใจ
ก่อนจะอธิบายธรรม ขออธิบายคำว่า “สาธุ” ให้ฟังสักหน่อย พวกเราได้ยินแต่ว่า สาธุ ๆ แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร สาธุในภาษาไทยมีความหมายอย่างน้อย ๕ อย่าง
(๑) สาธุ หมายถึง อนุโมทนา คือแสดงความยินดี ตกลง เห็นด้วย เช่น เวลาเราเห็นด้วยกับใคร ตกลงโอเค เราก็บอกว่า สาธุ เห็นด้วย ๆ สมมุติว่าเราลงสมัครรับเลือกตั้ง เห็นคะแนนเสียง เราก็บอก สาธุ ไม่ต้องปรบมือกราว ๆ เพราะการปรบมือเป็นของฝรั่งเขา ของไทยคือ สาธุ เห็นด้วยเหมาะสมแล้ว หรืออาจารย์รู้ว่าลูกศิษย์กราบสวย อาจารย์ก็บอก สาธุ ดีแล้วอนุโมทนายินดีด้วย
(๒) สาธุ หมายถึง ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือให้สำเร็จประโยชน์ เช่น ในคำว่า มัตตัญยุตตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณให้สำเร็จประโยชน์เสมอ
(๓) สาธุ หมายถึง ขอให้สมพรปากกับคำอวยพรที่ท่านให้ อย่างเช่น อันนะภาระ ในครั้งสมัยพุทธกาลเป็นคนยากจนเข็ญใจ เมื่อมีโอกาสทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้อธิฐานว่า คำว่าจนอย่าได้มีและจงได้รู้ธรรมอย่างท่าน พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พรว่า
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ
สังกัปปาจันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา
แปลว่า ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้วจงสำเร็จโดยฉับพลัน
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี ฯ
จึงรับว่า สาธุ ขอให้สมพรปากท่าน
(๔) สาธุ หมายถึง ขอโอกาส อันนี้เป็นสำนวนของพระ อย่างสมมุติว่าจะอาราธนาศีลก็จะขึ้นว่า สาธุ สาธุ มะยัง ภันเต เคยได้ยินบ้างไหม เหมือนกับว่าคนเป็นครูบาอาจารย์จะทำอะไรก็ขอโอกาสพระเถระเสียก่อน เช่น จะเปิดหน้าต่างก็ขอโอกาสท่านอาจารย์ครับผมจะเปิดหน้าต่าง ทำอะไรต้องบอกผู้ใหญ่เสียหน่อย ไม่ใช้ทำพรวด ๆ ไปขาดความเคารพ การทำขอโอกาสอย่างนี้ท่านเรียกว่าสาธุภาษาบาลี ภาษาไทยว่าขอโอกาส
(๕) สาธุ หมายถึง แสดงความต้อนรับ แสดงความยินดีไชโยโห่ร้องกราบไหว้ ยกตัวอย่าง เวลาสมเด็จพระสังฆราชหรือท่านก็ตามเสด็จไปต่างประเทศ เช่น ประเทศเนปาล เขานิยมเวลามาต้อนรับ เขาจะร้องสาธุตลอดทางที่มาต้อนรับ สาธุตัวนี้ก็คือขอยินดีต้อนรับ
ข้อมูลส่วนใหญ่เรียบเรียงมาจาก…พระธรรมเทศนา
พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
#http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=42698
เจ้าอาวาสวัดโสมนัส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ที่มา http://dhamma.serichon.us/2018/02/01/ความหมายของคำว่า-สาธุ
เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “สาธุ” ผมนำมาจากลิงค์ที่อ้างอิงไว้ข้างบน ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อความใด ๆ เพราะเห็นว่าเขียนดีมาก ให้ความหมายพร้อมยกตัวอย่างไว้ดีมาก ผมและท่านผู้อ่านขออนุโมทนา “สาธุ”
ผมไม่เห็นด้วยกับการพูด “สาธุ” สั้น ๆ ว่า ธุ เพราะไปพ้องเสียงกับคำว่า ทุ ซึ่งแปลว่าไม่ดี ชั่ว เลว เช่น ทุจริต ความประพฤติไม่ดี ทุศีล ศีลไม่ดี หรือการผิดศีล ใช้ได้ทั้งฆราวาสและนักบวช (ฆราวาสก็ต้องรักษาศีลเช่นกัน คือศีลห้า ถ้ารักษาศีลห้าไม่ได้ ล่วงละเมิดศีลห้าก็คือทุศีลเช่นกัน)