ผมเคยเห็นภาพพุทธประวัติที่อยู่ตามฝาผนังศาลาการเปรียญในวัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงรับหญ้า และข้อความอธิบายประมาณว่า “ทรงรับหญ้าคาซึ่งพราหมณ์โสตถิยะถวายในระหว่างทาง” ในหนังสือปฐมสมโพธิกถาได้อธิบายเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
ในกาลนั้น มีมหาพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนามโสตถิยพราหมณ์ถือซึ่งหญ้าคา ๘ กําดําเนินสวนทางมา พอพบพระมหาบุรุษราชเจ้าก็นําเอาหญ้าคาทั้ง ๘ กํานั้นน้อมเข้ามาถวายในระหว่างมรรคา สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ทรงรับหญ้าคาทั้ง ๘ กํานั้นแล้ว ก็เสด็จไปถึงที่ใกล้โพธิพฤกษมณฑลสถาน ก็เสด็จคมนาการกระทําประทักษิณทุมินทรอสัตถพฤกษ์สิ้นตติยวารกําหนดแล้ว
เสด็จบทจรไปในทักษิณทิศาภาคแห่งโพธิพฤกษ์ ผันพระพักตร์ไปฝุายอุดรทิศสถิตหยุดยืนประดิษฐานทรงพระจินตนาการปรารภเพื่อจะทอดซึ่งหญ้าคา ๘ กํา กระทําเป็นรัตนบัลลังก์ ลําดับนี้พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวเป็นสารพระคาถา อรรถาธิบายความก็เหมือนนัยดังพรรณนามาแล้วแต่พิสดารออกไปกว่าก่อน
ในหนังสือพุทธประวัติ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวว่า “ครั้นเวลาเย็น เสด็จมาสู่ต้นพระมหาโพธิ ทรงรับหญ้าของคนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ ถวายในระหว่างทาง” มิได้ทรงใช้คำว่า หญ้าคา
ในคัมภีร์อัฏฐกถาปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสและอัฏฐกถาชาดกเล่มหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพุทธประวัติตอนตรัสรู้ไว้ข้อความคล้ายกันว่า “สายณฺหสมเย โสตฺถิเยน ทินฺนา อฏฺฐติณมุฏฺฐิโย คเหตฺวา โพธิมณฺฑํ อารุยฺห แปลว่า ในเวลาเย็น พระมหาสัตว์ทรงรับหญ้า ๘ กำที่นายโสตถิยะถวาย แล้วขึ้นสู่โพธิมณฑล” ทั้งสองแห่งนี้ ใช้คำว่า ติณะ ซึ่งแปลว่า หญ้า เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นหญ้ากุสะ หรือหญ้าชนิดใด
แต่ผมเข้าใจว่าผู้รจนาหนังสือปฐมสมโพธิกถาน่าจะได้รับทราบข้อมูลว่า ติณะนี้ คือหญ้ากุสะจากคัมภีร์เล่มใดเล่มหนึ่งหรือจากคำบอกเล่าของผู้รู้ว่าคือหญ้ากุสะ แต่ประเด็นคือว่าหญ้ากุสะไม่มีในเมืองไทยแต่มีความคล้ายกับหญ้าคาจึงแปลหญ้ากุสะว่าหญ้าคาหรือเปรียบด้วยหญ้าคา ลักษณะนี้จะคล้ายกับต้นสาละไม่มีในเมืองไทยแต่มีลักษณะคล้ายต้นรังจึงแปลว่าต้นรังหรือนำต้นรังมาเปรียบเทียบ
หญ้ากุสะ หรือเขียนแบบสันสกฤตว่า กุศะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Desmostachya bipinnata เป็นหญ้าในวงศ์ Gramineae (Poaceae) มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและเนปาล ชอบขึ้นในที่แห้งแล้งริมฝั่งแม่น้ำ (โสตถิยะถวายหญ้าริมแม่น้ำเนรัญชรา พระโพธิสัตว์ใช้ปูลาดประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา) โดยจะขึ้นเป็นกอเหง้าใหญ่ ใบอวบรูปยาวเหมือนหอก ขอบใบคม ดอกเป็นช่อคล้ายรูปพีระมิด หรือเป็นแท่งตั้งตรง แข็ง สีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และแยกกอ
หญ้ากุสะใบนุ่มไม่แข็งมากและมีรากส่งกลิ่นหอม หญ้าชนิดนี้พราหมณ์เขาใช้ในพิธีกรรมของเขา โดยเฉพาะใช้สลัดน้ำมนต์ และหญ้ากุสะยังสามารถใช้ถักเป็นเชือกขึงเป็นเตียงนอนได้อีกด้วย ซึ่งชาวอินเดียเขาใช้อยู่ทั่วไป ส่วนหญ้ากุสะที่มีกอสูงใหญ่ยังใช้มุงเป็นหลังคาได้อีกด้วย
หญ้าที่เรียกว่ากุสะนั้นทราบว่ามีหลายชนิด ชนิดที่คล้ายหญ้าคาบ้านเราก็มี ชนิดที่มีใบนุ่มมีรากหอมก็มี สำหรับชนิดที่โสตถิยพราหมณ์ถวายนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชนิดที่มีใบนุ่มและรากหอม เพราะมีความอ่อนนุ่ม เหมาะแก่การปูลาดสำหรับนั่งหรือนอน อีกทั้งรากมีกลิ่นหอมเข้าใจว่าน่าจะทำให้ร่างกายมีความสดชื่นหรือขับไล่แมลงต่าง ๆ ได้อีกด้วย และโสตถิยพราหมณ์น่าจะนำหญ้ากุสะนี้ไปทำพิธีมงคล

เนื่องจากกุสะนี้ปรากฏในพุทธประวัติว่าวันก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงได้รับถวายหญ้าชนิดนี้จำนวน 8 กำมือจากพราหมณ์โสตถิยะ แล้วจึงทรงนำไปปูรองที่ประทับนั่งในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ชาวพุทธจึงนิยมนำหญ้าชนิดนี้มาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น นำมาทำเป็นที่ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เป็นต้น แต่หากไม่มีก็ใช้หญ้าที่มีลักษณะคล้ายกันแทน เช่น หญ้าคา
สำหรับชาวฮินดูก็ถือว่าหญ้ากุสะนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมากเช่นกัน ซึ่งพวกเขาจะนำหญ้านี้มาประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 9 หรือที่เรียกว่า กุโศตปาฎนีอมาวสยา เพื่อเป็นการบูชาพระกฤษณะ ฉะนั้น หากต้องการนำหญ้ากุสะ (ในเมืองไทยไม่มีก็ใช้หญ้าคาแทน) ทำเป็นเครื่องมงคลจึงนิยมเก็บในวันดังกล่าว
นอจากนั้นหญ้ากุสะยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรอีกด้วย คือ ใช้ทั้งต้นเป็นยาฝาดสมานขับปัสสาวะ ขับเสมหะ รากมีรสหวาน เป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก