มูลเหตุแห่งการถวายผ้าอาบน้ำฝน
ครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก จึงได้ทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่พระภิกษุสงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น
เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง 4 พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีผ้าอาบน้ำฝนจึงออกมาสรงน้ำฝนโดยร่างเปลือยกายอยู่
เมื่อได้เวลาภัตตาหาร นางวิสาขามหาอุบสิกาจึงได้ส่งสาวใช้ไปกราบทูลอาราธนาพระศาสดาและนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุทั้งเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่า ในอารามมีแต่พวกชีเปลือย (อาชีวกนอกพระพุทธศาสนา) ไม่มีภิกษุอยู่จึงกลับบ้าน ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง จึงได้ส่งสาวใช้ไปอีกครั้ง
เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันนั้นแล้ว นางจึงได้โอกาสอันควรทูลขอพร 8 ประการต่อพระศาสดา
พระศาสดาทรงอนุญาตพร 8 ประการคือ
- ขอถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่พระสงฆ์เพื่อปกปิดความเปลือยกาย (ผ้าวัสสิกสาฎก)
- ขอถวายภัตแต่พระอาคันตุกะ เนื่องจากพระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง (อาคันตุกภัต)
- ขอถวายคมิกภัตแก่พระผู้เตรียมตัวเดินทาง เพื่อจะได้ไม่พลัดจากหมู่เกวียน (คมิกภัต)
- ขอถวายคิลานภัตแก่พระอาพาธ เพื่อไม่ให้อาการอาพาธกำเริบ (คิลานภัต)
- ขอถวายภัตแก่พระผู้พยาบาลพระอาพาธ เพื่อให้ท่านนำคิลานภัตไปถวายพระอาพาธได้ตามเวลา และพระผู้พยาบาลจะได้ไม่อดอาหาร (คิลานุปัฏฐากภัต)
- ขอถวายคิลานเภสัชแก่พระอาพาธ เพื่อให้อาการอาพาธทุเลาลง (คิลานเภสัช)
- ขอถวายยาคูเป็นประจำแก่สงฆ์ (ยาคู คือข้าวต้มชนิดละเอียด)
- ขอถวายผ้าอุทกสาฎก ( ผ้าอุทกสาฎก ผ้าอาบน้ำใช้อาบน้ำได้ตลอดชีวิตสำหรับภิกษุณี) แก่ภิกษุณีสงฆ์เพื่อปกปิดความไม่งามและไม่ให้ถูกเย้ยยัน
โดยนางวิสาขาได้ให้เหตุผลการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า เพื่อให้ใช้ปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ที่ดูไม่งามดังกล่าว (ส่วนข้ออื่น ๆ นางก็ให้เหตุผลเช่นกัน) ดังนั้น นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์
วิธีเลือกผ้าอาบน้ำฝน
- ขนาดของผ้าอาบน้ำฝน เมื่อเทียบกับมาตราวัดในปัจจุบัน ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าขนาดเท่าไหร่ แต่มีขนาดใกล้เคียงกับผ้าอันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง) แต่ไม่ควรยาวเกิน 200 เซนติเมตร ไม่ควรกว้างเกิน 100 เซนติเมตร ที่เห็นใช้กันความยาวอยู่ระหว่าง 170-250 เซนติเมตร ส่วนความกว้างราว 80-90 เซนติเมตร ขนาดกว้าง ยาว หนา ต้องสามารถนุ่งได้จริง ห้ามให้บางจนเกินไป
- ชนิดผ้า นิยมผ้าฝ้าย หรือผ้าชนิดอื่นก็ได้ เป็นผ้าที่ใช้นุ่งอาบน้ำทุกวัน จนควรเป็นผ้าเนื้อหนา ทนต่อการบิด ไม่เปื่อยง่าย
- สี นิยมสีดินใช้ย้อมผ้าอาบน้ำฝน สีออกลักษณะคล้ายโอ่งแดง หรือหากไม่รู้ว่าควรจะย้อมสีใดเป็นผ้าอาบน้ำฝนถวายพระ ควรถวายผ้าฝ้ายสีขาวเพื่อให้ท่านทำการย้อมเอง
- เนื่องจากผ้าอาบน้ำฝนพระสงฆ์ท่านนิยมนุ่งซ้อนข้างในผ้าสบง หรือนิยมนุ่งเวลาทำงานที่ต้องออกแรง ทำความสะอาดบริเวณวัด จึงควรเลือก ขนาด สี ความหนา เนื้อผ้าที่สามารถใช้งานได้จริง นุ่งได้จริง ไม่ใช่ถวายสักแต่ว่าถวายหรือถวายแค่พอเป็นพิธี ต้องถวายเพื่อให้ท่านได้ใช้งานจริง ๆ
ถวายผ้าอาบน้ําฝนช่วงไหน
พระพุทธองค์ทรงวางกรอบเวลาหรือเขตกาลสำหรับผ้าอาบน้ำฝนดังนี้
- เขตกาลที่จะแสวงหา หมายถึงช่วงเวลาสำหรับการแสวงหาผ้า รวบรวมผ้าจากที่ต่าง ๆ ผ้าบังสุกุล ผ้าที่เขาทิ้งตามที่ต่าง ๆ เพื่อทำผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ถึงวันขึ้น 15 ดือน 8 รวมเวลา 1 เดือน
- เขตกาลที่จะทำนุ่งห่ม หมายถึงช่วงเวลาสำหรับการตัด เย็บ ย้อมเพื่อทำผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 เดือน 8 รวมเวลาประมาณ 15 วัน (15 วันนี้ รวมอยู่ในระยะเวลา 1 เดือนของข้อแรก หมายความว่าใช้เวลาแสวงหาผ้า 15 วัน ทำการตัด เย็บ ย้อม 15 วัน รวมเป็น 1 เดือน)
- เขตกาลที่จะอธิษฐานใช้สอย หมายถึงช่วงเวลาที่จะอธิษฐานใช้ คือช่วงเวลาที่นำมานุ่งเพื่ออาบน้ำฝนจริง ๆ ช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 เดือน 12 รวมเวลา 4 เดือน
สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาสามารถที่จะถวายผ้าอาบน้ำฝนได้ตั้งแต่วันพระสงฆ์เริ่มแสวงหาผ้า คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
ทำไมต้องถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์
- เป็นการตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่าด้วยการให้ทาน จึงเป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระองค์
- เป็นการปฏิบัติต่อพรที่พระพุทธองค์ทรงประทานแก่นางวิสาขา
- เป็นการปฏิบัติตามนางวิสาขาอริยมหาอุบาสิกาผู้ยิ่งหใหญ่
- เพื่อให้พระสงฆ์ได้นุ่งอาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่ง หรือใช้นุ่งทำกิจกรรมในวัด
- เพื่อเป็นการปฏิบัติต่อประเพณีที่ดีงาม ทั้งประเพณีในพระพุทธศาสนาและประเพณีไทย
- เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ลำบากในการแสวงหาผ้าในที่ต่าง ๆ
- เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของพระสงฆ์ ครูอาจารย์
- การถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีภายในครอบครัว
- ถวายผ้าอาบน้ำฝนเพื่อหวังบุญหรืออานิสงส์แห่งบุญช่วยหนุนชีวิต ชำระสิ่งที่ไม่ดีออกไป นำความชุ่มชื่นมาให้
- ถวายผ้าอาบน้ำฝนเพื่ออุทิศส่วนบุญให้กับผู้ล่วงลับไป
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
อานิสงส์ของการถวายผ้าอาบน้ำฝน
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถีในวันนั้นเป็นวัน ๘ ค่ำ นางวิสาขาได้ถือเครื่องสักการะ พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากไปสู่สำนักพระพุทธเจ้าถวายเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยแล้วบังเอิญฝนตก พระภิกษุทั้งหลายได้เปลือยกายอาบน้ำฝนกันมากมาย นางวิสาขาเห็นเช่นนั้นแล้วก็เกิดความละอาย และคิดในใจว่าพระภิกษุไม่มีผ้าสำหรับอาบน้ำฝน ก็บังเกิดมีจิตศรัทธา คิดจะสร้างผ้าอาบน้ำฝนถวายเป็นทานแล้วก็กลับไปสู่กรุงสาวัตถี จัดแจงหาผ้าได้พอสมควรแล้วพอตอนเย็นก็พาบริวารและผ้านั้นมาสู่สำนักพระพุทธองค์แล้วถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้น แก่องค์พระศาสดาพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลายแล้วกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้มีผลานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า
พระองค์ได้ตรัสเทศนาว่า ดูกรนางวิสาขา ถ้าบุคคลใดมีจิตศรัทธานำผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระภิกษุในพุทธศาสดาจะมีผลานิสงส์เป็นอเนกประการแล้วพระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปว่าในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง มีนามว่า อมัยทาสีอยู่มาวันหนึ่งนางได้เห็นคนทั้งหลาย นำผ้ากาสาวพัตรไปสู่สำนักภิกษุสงฆ์ให้เป็นทาน โดยกระทำให้เป็นผู้อาบน้ำฝน นางอมัยทาสีก็มีศรัทธาอยากจะทำบุญกับเขาบ้าง นางก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีหนอ ที่เราจะได้ทำบุญในคราวนี้บ้าง พิจารณาผ้าที่จะให้ทานก็ไม่มี รีบไปหามารดา แล้วบอกความจำนงของตนให้มารดา มารดาก็ตอบว่า เราจะเอามาแต่ที่ไหน เราก็เป็นทาสเขาอยู่ นางอมัยทาสี เมื่อได้ยินดังนี้น้ำตาก็ไหลด้วยความเสียใจ มารดาของนางก็มีจิตสงสาร จึงแนะนำให้นางอมัยทาสีไปขึ้นค่าตัวกับนายนางได้รับคำแนะนำเช่นนั้นแล้วก็มีความยินดีจึงรีบไปหานายของนาง ฝ่ายเศรษฐีผู้เป็นนายก็ปฏิเสธไม่ยอมให้นางอมัยทาสีขึ้นค่าตัว นางไม่มีความสบายใจนางมาคิดว่าเมื่อชาติก่อนนี้เราไม่ทำบุญให้ทาน มาชาตินี้เราจึงได้ตกระกำลำบาก ถึงเวลาจะทำบุญกับเขาบ้างก็จะไม่ทำกับเขาคราวนี้จะเป็นตายอย่างไรจะต้องขอทำบุญให้ได้ในครั้งนี้ ด้วยจิตศรัทธาแรงกล้านางอมัยทาสีทนความอับอาบขายหน้า ได้สละผ้าห่มแล้วนำใบไม้มาเย็บกลัดพอปกปิด บรรเทาความอายแล้วเอาผ้าซักฟอกให้หมดความสกปรกแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนพร้อมด้วยผ้าไปสู่ธรรมศาลาถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ก่อนเข้าพรรษาพร้อมกับมหาชนทั้งหลาย แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ที่ตนได้กระทำบุญในคราวครั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อย่าได้มีในชาติต่อ ๆ ไป จนถึงพระนิพพาน และขอให้พบพระศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ เมื่อคำปรารถนาของนางจบลงแล้ว เทวดาทั้งหลายก็ซ้องสาธุการสนั่นหวั่นไหว
ด้วยอานิสงส์ของนางอมัยทาสีทำบุญในคราวครั้งนั้น อยู่มาได้ ๗ วัน พระเจ้าพันธุมหาราช ได้เสด็จไปพบนางกำลังหาบฟืนมาในระหว่างทางก็เกิดความปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวนางมาก จึงตรัสปราศรัยไต่ถามความตลอดแล้วจึงยกนางขึ้นราชรถนำเข้าไปสู่พระนคร อภิเษกนางให้อยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี ครั้นทำลายขันธ์แล้วนางได้ไปเกิดบนสวรรค์มีวิมานทองสูง ๑๕ โยชน์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร ๓ พัน ครั้นเสวยทิพย์สมบัติแล้วจนในชาติสุดท้ายนางจะได้เกิดในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ได้บรรลุธรรมพิเศษดังนี้แล พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ชนทั้งหลายก็ได้ดวงตาเห็นธรรมส่วนนางวิสาขาก็ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย
ที่มา อานิสงส์ถวายผ้าอาบน้ำฝน
สำหรับผม ผู้เขียนบทความนี้ ขออวยพรให้ผู้ที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนโปรดได้อานิสงส์อันดีงาม เป็นต้นว่า
- เป็นผู้มีผิวพรรณดี
- เป็นผู้มีโรคน้อย
- เคราะห์กรรม กรรมเก่าที่ไม่ดีให้ถูกชะระล้างหรือเบาบางลง
- มีความชุ่มชื่นเบิกบานใจ
- เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
- หากยังไม่บรรลุธรรม ให้ได้เกิดในภพภูมิที่ดี มีสุคติเป็นที่ตั้ง คำว่าไม่มีอย่าได้มี