หลายเดือนก่อนหรืออาจจะนานเป็นปีแล้วก็เป็นได้ ผมเห็นไลฟ์โค้ชคนหนึ่งแปลศัพท์ที่คนไทยส่วนมากก็รู้กันอยู่แล้วว่าแปลว่าอะไร คือคำว่า เดรัจฉาน ซึ่งแปลว่า (สัตว์) ผู้ไปขวาง แต่ไลฟ์โค้ชคนนี้ต้องการแสดงความเป็นผู้รู้ประมาณว่าหากแปลธรรมดาโลกไม่จำ แกจึงแปลใหม่เป็น สามทางเดิน หรือ ทางเดินสามทาง (ผมขี้เกียจหาดูคลิปต้นฉบับ ไม่รู้แกลบหรือยัง แต่จะแปลว่าสามทางเดิน หรือ ทางเดินสามทางก็ผิดทั้งนั้น)
เดรัจฉาน แปลว่าอะไร ศัพท์นี้มาจากไหน
เดรัจฉาน แปลว่าอะไร ศัพท์นี้มาจากไหน ลำพังความรู้ของผมก็ไม่เพียงพอที่จะวิเคราะห์ศัพท์นี้โดยละเอียดได้ จึงต้องอาศัยผู้รู้คือท่านอาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย ซึ่งท่านได้วิเคราะห์ศัพท์ไว้
คำว่า “เดรัจฉาน” ไม่ได้มาจาก เตรัจฉาน แต่มาจากภาษาบาลีว่า “ติรจฺฉาน ”(อ่านว่า ติ-รัจ-ฉา-นะ) แปลตามรากศัพท์หมายถึง “แนวขวาง, แนวนอน”
“ติรจฺฉ” รากศัพท์มาจาก ติริย (ขวาง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ติริย เป็น ติร, อญฺช เป็น จฺฉ
ติริย > ติร + อญฺช + อ = ติรญฺช > ติรจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปขวาง”
ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ อ-(น) เป็น อา
ติรจฺฉ + ยุ > อน = ติรจฺฉน > ติรจฺฉาน แปลเท่าศัพท์เดิม คือ “ผู้ไปขวาง” หมายความว่า เจริญเติบโตโดยทางขวางซึ่งตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่โตไปทางสูง
เดรัจฉาน จึงแปลว่า สัตว์ที่เคลื่อนที่ไปในแนวขวาง คือ ขณะที่เคลื่อนที่ไปนั้น ลำตัวไม่ได้ตั้งตรงอย่างมนุษย์
กลับมาที่ไลฟ์โค้ชคนดัง เขาคงเข้าใจว่า เดรัจฉาน มาจากคำว่า เตรัจฉาน แล้วจึงแปล เต ว่า สาม ซึ่งแปลว่า สามจริง ส่วนที่แปลว่า ทางเดิน ไม่ใช่ รัจฉาน แต่เป็นคำว่า “รัจฉา” มาจากภาษาบาลีว่า “รจฺฉา” และภาษาสันสกฤตว่า “รถฺยา” หมายถึง ทางเดิน ถ้าใครสังเกตจะมีชื่อทางพิเศษว่า “ทางพิเศษอุดรรัถยา” ก็มาจากคำนี้เหมือนกัน มาจาก อุดร (เหนือ) + รัถยา (ทางเดิน)
ซึ่งถ้าพิจารณาตามนี้แล้ว “เดรัจฉาน” ไม่เกี่ยวอะไรกับ “เตรัจฉาน” เลย และคำว่า “เดรัจฉาน” อาจใช้ว่า ดิรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ก็ได้
การแปลแบบนี้เป็นการแปลของผู้ไม่ได้เรียนภาษาบาลีมาอย่างละเอียด เหมือนคนไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษอย่างละเอียด ต้องการทราบคำแปลของคำว่า season ซึ่งแปลว่าฤดูกาล จึงเปิดพจนานุกรมดูแล้วแปลแยกศัพท์ sea แปลว่า ทะเล son แปลว่า ลูกชาย แปลใหม่ว่า ลูกชายทะเล