ย่าม ภาษาใช้ในวัดหมายถึงถุงผ้าสำหรับใส่ของใช้ที่จำเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพระสงฆ์ มีหูอยู่ในตัว ถุงย่าม ก็เรียก
ย่าม เป็นบริขารอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์ต้องใช้สำหรับแทนกระเป๋าหรือถุงสำหรับใส่ของ ธรรมเนียมในการใช้ย่ามของพระคือจะไม่นิยมสะพายย่ามขณะที่เดินในบริเวณวัดหรือในละแวกหมู่บ้าน แต่นิยมให้คล้องที่แขนซ้ายเดินไปอย่างสำรวม เมื่อเข้าไปในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งในวัดและในบ้านนิยมรวบถือที่หูด้วยมือซ้าย ขณะที่นั่งในพิธีหรือนั่งบนธรรมาสน์ นิยมวางย่ามไว้ด้านซ้ายมือของตน
เราควรถวายย่ามพระในโอกาสใด
- ถวายย่ามพระได้ในทุกโอกาส ทุกเวลา
- ถวายย่ามเป็นบริขารในเวลามีพระบวชใหม่
- ทำย่ามเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ขององค์กร หน่วยงาน เช่น ครบรอบ ๑๐ ปี บริษัท
- ถวายย่ามเป็นบริวารกฐิน ผ้าป่า
- ถวายย่ามร่วมกับกองอัฐบริขารถวายพระ
- ถวายย่ามพระเพื่อเป็นการทำบุญเอาเคล็ดโชคลาภไม่ขาดสาย ไม่อดไม่อยาก มีกินตลอดไป
- สีย่ามที่จะถวายพระนั้น ถึงแม้ในพระวินัยไม่ได้บังคับไว้ แต่ควรเป็นสีที่อนุโลมตามสีจีวรพระ เช่นสีทอง สีน้ำตาล สีเหลือแก่ สีแก่นขนุน เป็นต้น
คำถวายย่าม (หลายใบ ถวายเป็นสังฆทาน)
อิมานิ มะยัง ภันเต ปะริกขาระโจลานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ปะริกขาระโจลานิ สะปะริวารนิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งย่ามอันเป็นบริขาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่ง ย่ามอันเป็นบริขาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
อานิสงส์ของการถวายย่ามพระ
- อานิสงส์ถวายย่ามพระซึ่งเปรียบประดุจการให้คลังเก็บทรัพย์สมบัติ
- จะมีอานิสงส์ทำให้ทรัพย์ของเราคงอยู่อย่างปลอดภัย
- ไม่เสื่อมสลายหายไปด้วยเหตุเภทภัยต่าง ๆ
- เราให้กระเป๋าในการเก็บรักษาสมบัติไม่ให้สูญหาย
- เราจะเป็นผู้ที่รักษาสมบัติไว้ได้ สมบัติไม่รั่วไหล ไม่สูญ