มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีอยู่คาถาหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นคาถาหาคู่ คาถาหารักแท้ (หรือไม่แท้ก็เกิดขึ้นได้) ข้อความแห่งคาถานั้นมีอยู่ว่า
ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา
เอวนฺตํ ชายเต เปมํ อุปฺปลํว ยโถทเกติ ฯ
ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการ คือ
ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑
เหมือนดอกอุบลเมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุสองประการ คือน้ำและเปือกตม ฉะนั้น.
ที่มาแห่งคาถานี้ ปรากฎอยู่ในอรรถกถา สาเกตชาดก เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่เมืองที่สาเกต ทรงปรารภสาเกตพราหมณ์ ก็ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปสู่พระวิหาร ภิกษุทั้งหลายได้ทูลถามว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุไรหนอ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าก็เฉย ๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้าก็เลื่อมใส.
ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งความรักแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสขึ้น ว่า :- ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา เอวนฺตํ ชายเต เปมํ อุปฺปลํว ยโถทเกติ ฯ ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ เหมือนดอกอุบลเมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุสองประการ คือน้ำและเปือกตม ฉะนั้น.
ที่มา https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=323
หมายเหตุ
- คำว่า คาถา หมายถึง คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี, อัตราของฉันท์กำหนดให้ ๔ บาท เป็นคาถาหนึ่ง. ไม่ได้หมายถึงมนต์คาถาหรือเวทมนต์แต่อย่างใด
- ความรักนั้น จะรักแท้หรือไม่แท้ก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นจาก ปุพเพสันนิวาสเสมอไป อาจจะเกิดขึ้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กล่าวมา หรือทั้ง ๒ เหตุก็เป็นได้
- ปุพเพสันนิวาส ไม่ได้หมายถึงรักแท้ คู้แท้ หรือคู่ครองที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันตลอดชีวิตเสมอไป
- ปุพเพสันนิวาส ไม่ได้หมายถึงต้องเกิดมาเป็นเนื้อคู่กันเสมอไป อาจจะเกิดมาเป็นบิดามารดา บุตรธิดา เพื่อนรักกัน ที่เจอกันแล้วรู้สึกถูกชะตารักใคร่กัน
- เราไม่ได้อาจรู้ได้ว่า ใครคือบุคคลที่มีปุพเพสันนิวาส (เคยอยู่ร่วมกันมาในกาลก่อน) ต่อกัน ฉะนั้น ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน (ความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน) จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญต่อกัน
แต่หากใครประสงค์จะนำคาถานี้ ไปใช้ในลักษณะของการหาคู่แท้ เพื่อนแท้ ก็ย่อมได้ (พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้) ด้วยการสวด
ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา เอวนฺตํ ชายเต เปมํ อุปฺปลํว ยโถทเกติ ฯ
ตามท้ายด้วยบทว่า
อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญูมาคะตา
อิติโพธิมะนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม