การที่เราจุดธูปไหว้พระเพื่อแสดงถึงความเคารพศรัทธาสิ่งศักดิ์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ควันและกลิ่นธูปสมัยนี้มีสารพิษหลายชนิดที่หลายคนยังไม่รู้ ซึ่งเทียบอันตรายได้ไม่ต่างจากควันบุหรี่อีกด้วย โดยควันจากธูปจะสะสมภายในร่างกายและเป็นตัวการนำมาสู่การเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ในที่สุด
วันนี้ใครที่ยังคงข้องใจว่าควันธูปจะมีอันตรายหรือไม่หรือมีมากน้อยเพียงใด ได้เวลาแล้วนะคะที่เราจะมาไขความกระจ่างไปกับเราเป็นอย่างไรนั้น ตามเรามาดูกันเลยค่ะ
การที่เราจุดธูปจะก่อให้มีการเผาไหม้ขี้เลื่อย กาวและน้ำหอมจากตัวธูป เมื่อสารหลากชนิดถูกปล่อยออกมามันก็ไม่ต่างจากสารพิษที่พบในควันบุหรี่และควันพิษของท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน สารก่อมะเร็งอีกหลากหลายและฝุ่นละอองเล็กๆ ที่ลอยปะปนมากับอากาศ นอกจากนี้ ธูปบางชนิดยังสามารถส่งกลิ่นและควันออกมาได้ยาวนานมากถึง 3 วัน 3 คืนกันเลยทีเดียว
สารพิษจากควันธูปเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่างๆ ในเวลาต่อมา โดยสารที่กระตุ้นให้ก่อมะเร็งได้นั้น มีดังนี้ 1.สารเบนซีน เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว 2.สารบิวทาไดอีน เป็นสารที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมะเร็งระบบเลือด 3.สารเบนโซเอไพรีน สารที่กระตุ้นเกิดมะเร็งได้สูงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะเร็งผิวหนัง
นอกจากควันธูปจะก่อให้เกิดมะเร็งได้แล้ว สารพิษจากควันต่างๆ ยังมีผลกระทบต่ออวัยวะร่างกายคนเราในส่วนอื่นๆ อีกด้วย อย่างควันธูปที่มีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มักเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา ทำให้แสบตาและจมูกได้ ในคนที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดหรือมีภาวะหลอดลมอักเสบ เมื่อสูดดมควันเข้าไปก็จะทำให้ร่างกายมีอาการเหนื่อยล้า สำหรับผลกระทบที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การที่เราเผาธูป 1 ตันหรือ 1,000 กิโลกรัมก็เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325 กิโลกรัมเลยทีเดียว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เท่ากับ 1 ใน 3 ของน้ำหนักธูปนั่นเอง
พร้อมกันนี้ นักวิจัยของไทยได้วิจัยพบว่า สถานที่ที่มีการจุดธูปต่อเนื่องมักมีสารเบนโซเอไพรีนมากกว่าสถานที่ไม่ได้จุด 63 เท่า และพบว่าคนทำงานภายในวัดนั้นมักมีสารก่อมะเร็งอยู่ภายในเลือดและปัสสาวะสูง มากกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานในวัดถึง 4 เท่า อย่างไรก็ตาม หากก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดระบุว่าผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่เกิดโรคได้จากควันธูปโดยตรง
และที่น่าตกใจไปมากกว่านั้น เนื่องจากกรมควบคุมโรคได้เปิดเผยสถิติการรักษาสุขภาพของผู้หญิงไทยที่ป่วยจากการเป็นโรคมะเร็งปอดพบว่า หญิงที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวร้อยละ 50 ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่อีกทั้งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย และไม่ได้รับสารก่อมะเร็งจากสถานที่ทำงาน ดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้แพทย์สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดมะเร็งได้จากควันธูปส่วนหนึ่ง ทว่าระยะเวลาในการเกิดนั้นจะต้องมีการสะสมเป็นสิบๆ ปี เหมือนกับผู้ป่วยมะเร็งอันเกิดจากการสูบบุหรี่นั่นเอง
ดังนั้นแล้ว หากจำเป็นจะต้องจุดธูปสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ควรเลือกที่จุดในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท หากจุดในบ้านควรเปิดหน้าต่างประตูเพื่อรับลมให้เข้ามาระบายอย่างเพียงพอ หลังเสร็จสิ้นพิธีควรรีบดับธูปและเปิดพัดลมไล่ควันร่วมด้วยก็ได้ อีกทั้งควรเลือกใช้ธูปสั้นที่ไร้กลิ่นจะดีกว่าและควรอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีควันธูปมากๆ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้แล้ว
ทราบกันไปแล้ว หวังว่าจากนี้ต่อไปเพื่อนๆ ชาวแก้วใสไอเดียดอทคอมจะหันมาใส่ใจการจุดธูปในวิธีใหม่อย่างถูกต้อง หรือพยายามระมัดระวังไม่อยู่ใกล้จุดที่มีธูปมากๆ หากทำพิธีไหว้เสร็จแล้วก็รีบดับธูปแล้วจัดเก็บทำความสะอาด เชื่อว่าอันตรายจากควันธูปก็จะลดการสะสมจนนำมาสู่การเป็นมะเร็งได้มากขึ้นแล้วค่ะ