การสักอนิจจา หรือ ชักบังสุกุล เป็นหนึ่งในการทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไป ซึ่งพุทธศาสนิกชนนิยมทำในช่วงเทศกาลวันปวารณาออกพรรษา และในโอกาสที่ญาติมาอยู่พร้อมหน้ากัน เช่น วันสงกรานต์ เป็นต้น
การเตรียมการทำบุญนั้น พุทธศาสนิกชนที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะห่อสิ่งของที่จะนำมาถวายพระด้วยผ้าขาว ข้างในจะมีข้าวสาร อาหารแห้ง ขนม และของใช้ต่าง ๆ โดยมากเป็นของที่เราจะอุทิศให้แก่ผู้ที่เราจะทำบุญอุทิศไปให้ ห่อผ้าขาวนี้เรียกว่าห่อสักอนิจจา
เมื่อทำห่อสักอนิจจาแล้ว ผู้ที่จะทำบุญสักอนิจจาก็จะชวนกันไปใสถานที่ที่เก็บอัฐิของผู้ตาย นิมนต์พระมาชักบังสุกุลห่อนั้น มีการถวายจตุปัจจัยไทยธรรม กรวดน้ำอุทิศให้แก่บรรพบุรษ เป็นอันเสร็จพิธี
สาเหตุที่นิยมสักอนิจจาในวันออกพรรษาอาจจะเนื่องจากเหตุการณ์ในพุทธประวัติที่ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งพระศาสดาเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นวันปวารณาออกพรรษา ในครั้งนั้นประตูแห่งโลกทั้ง 3 อันได้แก่ นรก มนุษย์ และสวรรค์ได้ถูกเปิด หมายความว่าต่างก็มองเห็นซึ่งกันและกัน มนุษย์ก็มองเห็นญาติของตนที่ทนทุกข์ทรมารอยู่ในอบายภูมิ จึงได้ทำบุญอุทิศให้ด้วยตระเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต้องใช้ห่อด้วยผ้าขาวนิมนต์พระมาชักบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลไปให้ ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงได้มีประเพณีทำบุญสักอนิจจาในช่วงวันออกพรรษา